โดยการประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐที่รับผิดชอบในการกำหนดนโยบายและกำกับดูแล รวมถึงผู้ประกอบการ ผู้แทนจากภาคอุตสาหกรรม องค์กรภาคประชาชนและองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับผู้พิการ ผู้เชี่ยวชาญด้าน ICT ตลอดจนกลุ่มผู้พิการ ได้ร่วมกันอภิปรายแลกเปลี่ยนมุมมอง ความรู้ และประสบการณ์เกี่ยวกับการส่งเสริมให้ผู้พิการได้เข้าถึง ICT อย่างเท่าเทียมกับคนทั่วไป โดยจะมีการนำเสนอ Toolkit for Policy Makers ที่ ITU และ G3 ict ร่วมกันพัฒนาขึ้น เพื่อเป็นแนวทางสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำหนดนโยบายระดับประเทศว่าด้วยสิทธิของคนพิการในการเข้าถึง ICT ทั้งนี้ เพื่อเป็นการดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิของคนพิการ (Convention on the Rights of Persons with Disabilities : CRPD) ซึ่งร่วมลงนามโดยประเทศสมาชิกสหประชาชาติจำนวน 142 ประเทศ และอีก 64 ประเทศได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาดังกล่าว รวมทั้งประเทศไทยด้วย (สถานะเมื่อ 12 สิงหาคม 2552)
สำหรับหัวข้อการประชุมในครั้งนี้จะเป็นการให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสิทธิของผู้พิการในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จาก ICT รวมทั้งมุมมองทางด้านกฎหมายในเรื่องดังกล่าว นอกจากนั้นยังมีการหารือเกี่ยวกับการส่งเสริมให้ผู้พิการได้เข้าถึง ICT ประเภทต่างๆ ได้แก่ โทรศัพท์พื้นฐาน โทรศัพท์เคลื่อนที่ เว็บไซต์ อินเทอร์เน็ต การแพร่ภาพออกอากาศ และการกระจายเสียงวิทยุและโทรทัศน์ ตลอดจนการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้พิการในการใช้ ICT การถ่ายทอดประสบการณ์ของประเทศต่างๆ ในการช่วยให้ผู้พิการได้เข้าถึง ICT อย่างเท่าเทียมกับคนทั่วไป พร้อมกันนี้ยังมีการหารือเพื่อกำหนดนโยบายและการกำกับดูแลของภาครัฐที่จะช่วยส่งเสริมสิทธิของผู้พิการในการเข้าถึง ICT ด้วย
“ในส่วนของกระทรวงไอซีทีได้มีการดำเนินโครงการที่ช่วยส่งเสริมสิทธิของคนพิการในการเข้าถึง ICT หลายโครงการ ได้แก่ 1.โครงการพัฒนาสังคมแห่งความเท่าเทียมด้วย ICT ซึ่งดำเนินการ 2 ส่วน คือ กิจกรรมฝึกอบรมเพื่อพัฒนาสังคมแห่งความเท่าเทียมด้วย ICT ให้แก่ผู้พัฒนาเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และกลุ่มคนพิการ ผู้ด้อยโอกาสในสังคม รวมทั้งกิจกรรมการจัดทำเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐให้เป็นเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ 2.โครงการจัดซื้อครุภัณฑ์สำหรับผู้พิการทางสายตา โดยได้ติดตั้งอุปกรณ์เพื่อช่วยเหลือผู้พิการในการใช้ประโยชน์จากศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนจำนวน 40 ศูนย์ คือ โปรแกรมอ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์และขยายหน้าจอ เครื่องพิมพ์และเครื่องแสดงผลอักษรเบรลล์ และในปีงบประมาณ 2553กระทรวงฯ ได้วางแผนที่จะดำเนินโครงการเพิ่มเติม คือ โครงการศึกษาการประยุกต์ใช้ Closed Caption ในการให้บริการสื่อโทรทัศน์สำหรับประเทศไทย โครงการพัฒนาเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ และโครงการจัดทำแผนพัฒนาบุคลากร ICT ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2553-2557)” นายนิมิตร กล่าว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-1416747 ทวิติยา สมัตถะ