ก.ล.ต.ภาคทัณฑ์กรรมการผู้จัดการและผู้จัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด และเปรียบเทียบปรับบุคคลที่เกี่ยวข้อง

พุธ ๒๖ สิงหาคม ๒๐๐๙ ๐๗:๔๖
ก.ล.ต. ลงโทษภาคทัณฑ์นายมาริษ ท่าราบ ในฐานะกรรมการผู้จัดการและผู้จัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด เป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2552 และเปรียบเทียบปรับ 231,750 บาท พร้อมทั้งเปรียบเทียบปรับ บลจ. ไอเอ็นจี 1,925,875 บาท และธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวม 421,650 บาท หลังตรวจพบการปฏิบัติไม่เป็นไปตามโครงการจัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ที ยู โดม เรสซิเดนท์เชียล คอมเพล็กซ์ หรือ กองทุนรวม TU-PF โดยพบการกระทำที่แสดงถึงการไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรู้ ความสามารถ และความระมัดระวังตามสมควรเยี่ยงผู้ประกอบธุรกิจพึงกระทำ ที่ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนเป็นสำคัญ

จากการตรวจสอบของ ก.ล.ต. พบว่า นายมาริษ ซึ่งดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการและทำหน้าที่ผู้จัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ของกองทุนรวม TU-PF บลจ.ไอเอ็นจี ซึ่งเป็นบริษัทจัดการกองทุนรวมดังกล่าว และธนาคารนครหลวงไทย ผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวมดังกล่าว มีการปฏิบัติงานที่บกพร่อง ดังนี้

1. โครงการจัดการกองทุนรวม TU-PF ระบุว่า กองทุนรวมนี้จะลงทุนในสิ่งปลูกสร้างซึ่งกำลังจะก่อสร้างขึ้นบนที่ดินซึ่งผู้ให้เช่าทรัพย์สินเป็นเจ้าของ และเมื่อโครงการสร้างเสร็จกองทุนรวมจะเช่าจาก ผู้ให้เช่าทรัพย์สินเป็นระยะเวลา 30 ปี ก.ล.ต. พบข้อเท็จจริงว่า ที่ดินที่กองทุนรวมจะลงทุนนั้นมีบุคคลอื่นถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับผู้ให้เช่าทรัพย์สิน ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่แตกต่างจากข้อมูลที่ระบุไว้ในโครงการและมี สาระสำคัญต่อการจัดการกองทุนรวม นายมาริษจึงมีความบกพร่องในการตรวจสอบกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อนายมาริษรับรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ร่วมแล้วยังดำเนินการให้กองทุนรวม TU-PF จ่ายเงินประกันการปฏิบัติตามสัญญาให้แก่ผู้ให้เช่าทรัพย์สินและผู้รับเหมาก่อสร้าง จำนวน 173.5 ล้านบาท เพื่อผูกพันในข้อตกลงการเช่าทรัพย์สินโดยไม่ได้ขอมติจากผู้ถือหน่วยลงทุนก่อน

การเข้าผูกพันในลักษณะดังกล่าวทำให้มีความเสี่ยงหากผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินนั้นโต้แย้งการกระทำนิติกรรมที่ก่อให้เกิดภาระผูกพันในทรัพย์สินที่ถือกรรมสิทธิ์ร่วม ซึ่งอาจทำให้กองทุนรวมไม่สามารถลงทุนได้ตามที่โครงการจัดการกองทุนรวมกำหนด และผู้ถือหน่วยลงทุนอาจเสียโอกาสและผลตอบแทนจากเงินลงทุน

2. โครงการจัดการกองทุนรวม TU-PF ได้กำหนดเงื่อนไขการลงทุนของโครงการไว้ว่า กองทุนรวม TU-PF จะทำสัญญาเช่าทรัพย์สิน โดยผู้รับเหมาก่อสร้างเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง และเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จกองทุนรวม TU-PF จึงจะทำสัญญาเช่าระยะยาวและจะชำระค่าเช่าและค่าตอบแทนสำหรับการเช่าทรัพย์สินเป็นเงินประมาณ 841.5 ล้านบาทในวันจดทะเบียนการเช่าสัญญาเช่าระยะยาว แต่ ก.ล.ต. พบข้อเท็จจริงว่า นายมาริษได้ตกลงยินยอมให้มีการแก้ไขสัญญาและให้กองทุนรวม TU-PF จ่ายเงินค่าสิทธิการเช่าให้ผู้รับเหมาก่อสร้างล่วงหน้าเป็นงวด ๆ รวม 5 งวด เป็น จำนวนเงิน 808.4 ล้านบาท ทั้งที่ยังไม่ได้จดทะเบียนการเช่าสัญญาเช่าระยะยาวและการก่อสร้างทรัพย์สินที่เช่านั้นก็ยังไม่เสร็จ

การดำเนินการดังกล่าวเป็นการดำเนินการที่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจากโครงการจัดการกองทุนรวมที่แจ้งต่อผู้ลงทุน อีกทั้งยังทำให้กองทุนรวม TU-PF มีความเสี่ยงทั้งในด้านความสามารถในการส่งมอบงานของผู้รับเหมาก่อสร้างและมีความเสี่ยงว่าหากผู้รับเหมาก่อสร้างไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จ คู่สัญญาจะคืนเงินที่ได้รับล่วงหน้าให้แก่กองทุนรวม TU-PF หรือไม่

การกระทำข้างต้นเป็นการปฏิบัติไม่เป็นไปตามโครงการจัดการกองทุนรวมและมิได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรู้ ความสามารถ และความระมัดระวังตามสมควรเยี่ยงผู้ประกอบธุรกิจพึงกระทำ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นการปฏิบัติฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ที่ออกโดยอาศัยอำนาจแห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 อย่างไรก็ดี บลจ.ไอเอ็นจีและนายมาริษได้พยายามแก้ไขปัญหาเพื่อลดหรือบรรเทาผลเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับกองทุนรวมและผู้ลงทุน โดยเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2551 บลจ.ไอเอ็นจีได้แก้ไขเรื่องกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินที่เช่าโดยได้ทำนิติกรรมให้ผู้ให้เช่าทรัพย์สินเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินแต่เพียงผู้เดียว และต่อมาเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ บลจ.ไอเอ็นจีได้ดำเนินการให้กองทุนรวม TU-PF จดทะเบียนสิทธิการเช่าสิ่งปลูกสร้างตามสัญญาเช่าระยะยาว 30 ปี เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2551 รวมทั้ง บลจ.ไอเอ็นจีไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจัดการเป็นระยะเวลา 5 เดือน และลดค่าธรรมเนียมการจัดการที่เรียกเก็บจริงจากเดิมร้อยละ 0.5 ต่อปี ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ เป็นร้อยละ 0.25 ต่อปี ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ เป็นระยะเวลา 2 ปี 7 เดือน

ก.ล.ต. ได้ลงโทษภาคทัณฑ์นายมาริษในฐานะผู้จัดการกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์ ผู้จัดการกองทุนรวม ผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคล และผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. เป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2552

นอกจากนี้ คณะกรรมการเปรียบเทียบได้มีคำสั่งเปรียบเทียบปรับ บลจ.ไอเอ็นจี 1,925,875 บาท ปรับนายมาริษในฐานะกรรมการผู้จัดการและบุคคลที่ได้รับมอบหมายจาก บลจ.ไอเอ็นจี ให้เป็นผู้จัดการกองทุนรวม TU-PF ซึ่งได้บริหารจัดการกองทุนรวมดังกล่าวจนเป็นเหตุให้ บลจ.ไอเอ็นจี ปฏิบัติฝ่าฝืนกฎหมาย เป็นจำนวนเงิน 231,750 บาท และปรับธนาคารนครหลวงไทยในฐานะผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวม TU-PF ที่ไม่ดูแลให้ บลจ.ไอเอ็นจี ปฏิบัติหน้าที่ตามโครงการจัดการกองทุนรวมโดยเคร่งครัด และมิได้รายงานการกระทำของ บลจ.ไอเอ็นจี ต่อ ก.ล.ต. ภายในระยะเวลาที่กำหนด เป็นจำนวนเงิน 421,650 บาท

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

โทรศัพท์ 0-2695-9502-5

โทรสาร 0-2256-7755

E-mail: [email protected]

"ก.ล.ต. เกื้อหนุนธุรกิจ ปกป้องสิทธิ์ผู้ลงทุน นำตลาดทุนสู่สากล"

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ