โดยการดำเนินงานของเครือข่าย GIN นั้นเป็นลักษณะ Government Intranet ที่เชื่อมโยงระหว่างสำนักนายกรัฐมนตรี หน่วยงานระดับกระทรวง ระดับกรม และรองรับการเชื่อมโยงไปถึงระดับที่ต่ำกว่ากรมด้วย โดยได้ทำการออกแบบและพัฒนาการติดตั้งระบบให้สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government) ทั้งนี้ เพื่อช่วยในการผลักดันให้หน่วยงานของภาครัฐนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพ และเสริมศักยภาพการทำงาน รวมทั้งช่วยยกระดับความสามารถในการให้บริการแก่ประชาชนได้ตลอด 24 ชั่วโมง ในรูปแบบ e-Citizen Services หรือ One Stop Services ที่รวดเร็ว มีคุณภาพมาตรฐาน อันเป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่ประชาชนในการรับบริการจากหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งการทำงานในลักษณะนี้จะช่วยลดความซ้ำซ้อนจากการลงทุนด้านระบบเครือข่ายหลักของหน่วยงานต่างๆ สามารถประหยัดงบประมาณแผ่นดินในส่วนของค่าเช่า Internet Gateway นอกจากนี้การสร้างความพร้อมของระบบเครือข่ายการสื่อสารด้านข้อมูลในการเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐยังทำให้สามารถบัญชาการประสานงานหน่วยงานภาครัฐแนวใหม่แบบใช้ ICT ได้ด้วย
“การออกแบบเครือข่ายทางด้านไอพี (IP) ของโครงการฯ จะคำนึงถึงการใช้งานจริง โดยต้องทำงานได้ตลอดเวลาและมีความเสถียรมากที่สุด รวมทั้งมีระบบการรักษาความปลอดภัยของเครือข่ายด้วย ส่วนด้านความเร็วในการเชื่อมต่อกับเครือข่าย ระบบงานการให้บริการจะเริ่มใช้ตั้งแต่ 1 เมก (Mbps) จนถึง 50 เมก (Mbps) ขึ้นอยู่กับว่าในแต่ละองค์กรมีการใช้งานและให้บริการมากน้อยเพียงใด โดยโครงการฯ ได้ทำการปรับเพิ่มความเร็วให้เพียงพอต่อการใช้งานของเครือข่าย ซึ่งในปัจจุบันระบบเครือข่ายได้พร้อมรองรับการใช้งานครอบคลุมทุกพื้นที่ในประเทศไทยสำหรับหน่วยงานต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว” นายอังสุมาล กล่าว
เครือข่าย GIN ยังมีระบบการรักษาความมั่นคงปลอดภัย ที่สามารถควบคุมการเข้าสู่ระบบการจัดการอุปกรณ์เครือข่ายโดยผ่านศูนย์การปฏิบัติการเครือข่าย (Network Operation Center : NOC) ที่สามารถป้องกันมิให้บุคคลใดหรือหน่วยงานใดเข้ามาทำการเปลี่ยนแปลงแก้ไข Config ของอุปกรณ์โดยพลการ มีระบบการตรวจสอบสิทธิ์ของผู้บริหารจัดการระบบเครือข่ายจากศูนย์ปฏิบัติการฯ ส่วนกลางที่กระทรวงไอซีที โดยผู้ดูแลระบบเครือข่ายสามารถทำการ Remote Management ผ่านระบบโดยเข้าสองชั้นเป็นการป้องกันการเจาะเข้าสู่ระบบเครือข่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อกำหนดสิทธิและหน้าที่ในการควบคุมหรือจัดการเครือข่ายตามอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย และมีระบบบริหารจัดการเครือข่าย (Network Management System) ที่ตรวจสอบการใช้งานเครือข่ายตลอดเวลา หากพบว่ามีการใช้งานหรือมีเหตุการณ์ที่ไม่ปรกติเกิดขึ้นกับเครือข่าย GIN ก็จะสามารถแก้ไขและรายงานให้กระทรวงฯ ทราบได้ทันที
“สำหรับการสัมมนาในครั้งนี้ ถือเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับโครงการฯ โดยการให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับเครือข่าย GIN อย่างทั่วถึงครอบคลุมทั่วทั้ง 432 หน่วยงาน ผ่านการจัดสัมมนาที่จะจัดขึ้นทั้งสิ้น 4 ครั้ง เริ่มจากกรุงเทพ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ซึ่งกระทรวงฯ หวังว่าการสัมมนาในครั้งนี้จะสร้างประโยชน์แก่หน่วยงานต่างๆ ในการพัฒนาระบบการสื่อสารขององค์กรภาครัฐให้สะดวกรวดเร็ว ประหยัดค่าใช้จ่าย ที่นำไปสู่การเพิ่มศักยภาพในการทำงาน และส่งผลดีต่อประเทศชาติ รวมทั้งประชาชนในอนาคต” นายอังสุมาล กล่าว