ส.ว.-ส.ส. และเลขาคณะกรรมการธิการฯ ร่วมแจงปัญหา แนวคิด ทางแก้ และความคืบหน้าร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ คาดปลายปี 53 มี กสทช.

พุธ ๒๖ สิงหาคม ๒๐๐๙ ๑๓:๔๗
สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ได้จัดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2552 เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2552 ที่ผ่านมาที่ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล อาคารสมาคมนักข่าวฯ

โดยมีเสวนาเรื่อง “พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ-ผลกระทบต่อสื่อและผู้ประกอบกิจการ” ซึ่งวิทยากรได้แก่ นายอนันต์ วรธิติพงศ์ สมาชิกวุฒิสภา และ ประธานอนุกรรมาธิการวุฒิสภาพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธาน สำนักงานกองทุนวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และเลขานุการ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นฯ ,นายอภิชาติ ศักดิเศรษฐ์ ผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ และ นายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ทั้งนี้ นายพัชระ สารพิมพา จากรายการข่าวเด่นประเด็นร้อน FM 96.5 และรายการลับลวงพราง FM 100.5 เป็นผู้ดำเนินรายการ

ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ถูกเรียกว่าเป็นกฎหมายหลายชั่วโคตร เนื่องจากได้เริ่มมีมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ปี 2540 ซึ่งบทบัญญัติระบุให้คลื่นความถี่เป็นของประชาชน โดยขณะนั้นสื่อมวลชนวิชาชีพต่างๆ ได้รณรงค์ให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ จนกระทั่งปัจจุบันนี้ กฎหมายและหน่วยงานด้านวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์โทรคมนาคมก็ยังไม่ลุล่วง

“สิ่งที่กรรมาธิการรู้สึกเป็นห่วงเป็นพิเศษก็คือกระบวนการปฏิรูปสื่อมีความคืบหน้าน้อยมาก เพราะฉะนั้นสิ่งที่อยากเห็นมากที่สุดคือได้หน่วยงานดูแลมาทำงานได้ ในเวลาที่เหมาะสม ด้วยคุณภาพที่น่าจะยอมรับกันได้”

“ส่วนในความคืบหน้าในการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้มี 88 มาตรา ขณะนี้การพิจารณาของกรรมาธิการได้พิจารณาลุล่วงไปแล้วประมาณ 69 มาตรา เหลือเพียง 2 หมวดหลัง เรื่องบทกำหนดโทษ และบทเฉพาะกาล ใน 88 มาตรานี้ก็มีบางมาตราที่กรรมาธิการพิจารณาขั้นต้นเสร็จแล้วแต่ยังไม่ได้ข้อสรุป คาดว่าอีกไม่นานภายในเดือนกันยายนน่าจะสามารถได้ข้อสรุปทั้ง 88 มาตรา หรืออาจจะมีมาตรามากกว่านี้ถ้าเพิ่มเติมเข้ามา”

“สิ่งที่เราทำได้คือทำกฎหมายให้เร็วที่สุด ในคุณภาพที่เรียกได้ว่าน่าพอใจ จะทันยุบสภาหรือไม่มีหลายปัจจัย เช่น ปัจจัยตำรวจ ปัจจัย ส.ส.ถูกสอยกี่คน เหล่านี้เป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ ซึ่งทางสภาผู้แทนราษฎรก็จะทำให้เร็วที่สุด ไม่ให้ช้าเกินเดือนกันยายน หลังจากนั้นก็จะไปทางวุฒิสภา กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายการเงิน ทางรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าวุฒิสภาเมื่อได้รับร่างกฎหมายจากสภาผู้แทนราษฎรแล้วต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 30 วัน และต่อเวลาได้ไม่เกินอีก 30 วัน”

“เพราะฉะนั้นถ้าสภาผู้แทนฯ เสร็จภายในเดือนกันยายนจริง ไปถึง ส.ว. ก็เป็นเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน โดยกระบวนการแล้วไม่ช้าเกินกว่าต้นปีหน้า”

ดร.สมเกียรติ บอกว่า ร่างที่ถูกนำเสนอขึ้นมาในช่วงรัฐบาลของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นร่างที่มีปัญหาหลายประการ โดยมีร่างกฎหมายจากพรรคประชาธิปัตย์เข้ามาประกบ แต่เนื่องจากการพิจารณาของสภาในวาระที่ 1 มีมติให้เอาร่างของรัฐบาลสมชาย เป็นร่างหลัก เพราะฉะนั้นเมื่อนำมาแก้ไขกับร่างกฎหมายที่ นายอภิชาต ศักดิเศรษฐ์ ส.ส.ประชาธิปัตย์ และการพิจารณาของกรรมาธิการฯ จึงทำให้มีการแก้ไขจำนวนมาก เรียกได้ว่าแก้ไขเกือบทุกมาตรา เมื่อแก้ไขเกือบทุกมาตรา ก็ต้องมีการอภิปรายในสภาค่อนข้างยาวนานในวาระที่ 2 และวาระที่ 3

“บางส่วนที่คณะกรรมาธิการแก้ไขไม่ได้สำคัญอะไรนักเช่น การแก้ไขชื่อ จาก กสช. เป็น กสทช. เป็นต้น ตัวนี้เป็นตัวที่ต้องทำเกือบทุกมาตรา สาระสำคัญของกฎหมายที่ได้มีการพิจารณาอย่างน้อย 6 ประเด็น หนึ่งคือการจัดความสำคัญระหว่างองค์อิสระตามกฎหมายนี้กับตัวรัฐบาลและรัฐสภา ตามกฎหมายปี 2543 ที่ออกตามรัฐธรรมนูญ 2540 ผมคิดว่ามีประเด็นสำคัญคือคำว่าองค์กรอิสระ ซึ่งรัฐธรรมนูญระบุว่าต้องมีองค์กรอิสระขึ้นมากำกับดูแลคลื่นความถี่ โดยตีความจาก พ.ร.บ.ปี 2543 ว่าองค์กรอิสระคือองค์กรที่หลุดออกไปจากการเมือง หลุดออกไปจากความเชื่อมโยงต่างๆกับประชาชน ซึ่งคำนี้มีปัญหาอยู่”

“ปัญหาที่เกิดจากกฎหมายปี 2543 ทำให้ไม่มีหน่วยงานที่กำกับทั้ง กทช. และ กสช.ไปมีความเชื่อมโยงกับประชาชนและรัฐสภาได้เลย ที่เป็นรูปธรรมคือเมื่อหน่วยงานที่กำกับในบางด้านคือด้านโทรคมนาคม ดำเนินกำกับดูแลไปแล้วมีปัญหา เช่น พบว่าไม่สามารรถทำให้ประชาชนได้รับความสะดวก ได้รับความคุ้มครองจากการใช้บริการโทรคมนาคม เช่น โทรศัพท์มือถือ ตามกฎหมายโทรคมนาคมบอกว่าผู้ใช้บริการโทรคมนาคมสามารถมีสิทธิเมื่อมีการเปลี่ยนผู้ให้บริการโดยไม่ต้องเปลี่ยนเลขหมายโทรศัพท์ กฎหมายกำหนดว่าต้องเป็นเช่นนี้ แต่ว่าการดำเนินงานค่อนข้างล่าช้า หรือการเชื่อมต่อโครงข่ายกับผู้ให้บริการมือถือมีอัตราค่าบริการค่อนข้างสูง ก็พบว่าไม่สามารถดำเนินงานกับองค์กรที่กำกับดูแลต่างๆได้ ดังนั้นเมื่อกลายเป็นองค์กรอิสระแล้วก็อาจจะกลายเป็นองค์กรที่พ้นจากความรับผิดรับชอบต่อประชาชน นี่เป้นปัญหาใหญ่ปัญหาสำคัญ”

รองประธาน TDRI กล่าวอีกว่า ร่างที่รัฐบาลสมชายเขียนขึ้นมาพยายามที่จะร่างให้เกิดความสัมพันธ์กับรัฐบาล โดยร่างรัฐบาลสมชายได้กำหนดให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอชื่อ คณะกรรมการ แล้วให้รัฐสภาเป็นผู้รับรอง ซึ่งหากมีการเชื่อมโยงกับรัฐบาลใกล้เกินไปการเมืองก็สามารถเข้ามาแทรกแซงได้

“จึงได้ข้อสรุปของคณะกรรมาธิการว่าจะไม่ให้องค์กรนี้เป็นองค์กรที่ไปรับผิดรับชอบกับรัฐสภา จากร่างรัฐบาลสมชาย ทางคณะกรรมาธิการได้แก้ไขประเด็นนี้จากเดิมไม่ต้องรับผิดชอบสภาฯ แล้วขึ้นกับรัฐบาล เป็นให้ไปรับผิดรับชอบกับรัฐสภา โดยเฉพาะวุฒิสภา ความหมายคือ วุฒิสภาสามารถรับรองการเสนอชื่อกรรมการมาแล้ว วุฒิสภาจะเป็นผู้ที่สามารถถอดถอนกรรมการ กสทช.นี้ได้ โดยมี 3 กลไก อย่างแรกคือ ส.ส.เข้าชื่อ 1 ใน 4 เพื่อถอดถอน 2.วุฒิสมาชิกเข้าชื่อ 1 ใน 4 หรือประชาชน 2 หมื่นคนเข้าชื่อ สามารถยื่นถอดถอน กสทช. ได้ ทั้งในกรณีที่ปฏิบัติหน้าที่โดยบกพร่อง ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายระบุไว้ หรือในกรณีที่กรรมการบางท่านมีความประพฤติเสื่อมเสียร้ายแรง แต่กระบวนการถอดถอนนั้นก็ต้องพยายามสร้างความสมดุลระหว่างกระบวนการรับผิดรับชอบให้ปฏิบัติหน้าที่กับการเมืองเข้าไปแทรกแซง จึงมีการกำหนดให้การถอดถอนนั้นต้องมีเสียงเกินกึ่งหนึ่ง 2 ใน 3 หรือ 3 ใน 5 แล้วแต่กรณี โดยการทำงานของกรรมการนี้ให้คำนึงถึงแนวนโยบายที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภาด้วย ไม่ได้บอกว่าต้องปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล ก็จะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ใหม่ขององค์กรนี้จากตัวแทนของประชาชนคือรัฐสภาหรือวุฒิสภา”

ดร.สมเกียรติ บอกว่า สาเหตุที่ทำให้กรรมาธิการสนใจประเด็นนี้มาก เป็นเพราะหากไปดูการถกเถียงในสังคมก็จะพบว่ามีการถกเถียงในประเด็นเดียว คือ จะได้มาซึ่งกรรมการนี้อย่างไร

“ที่ผ่านมาเป็นระบบสรรหา แล้วมีคณะกรรมการสรรหา ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือมีการบล็อกโหวต วิ่งเต้น อย่างน้อยเป็นข่าวเช่นนั้น ทำให้การได้กรรมการมาไม่เป็นที่ยุติ แล้วในส่วนของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เกิดการฟ้องร้องต่างๆ ในกรณีของ กทช. ก็มีการไปฟ้องร้องศาลปกครอง กรณี กสช. มีการฟ้องร้องศาลปกครองถึง 2 ครั้ง จนยังไม่ได้คณะกรรมการ กสช.มา สังคมให้ความสนใจว่ากรรมการมีที่มาอย่างไร คณะกรรมาธิการพิจารณาก็ให้ความสำคัญกับกรณีนี้เช่นกัน แต่ถ้าไปให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ประเด็นเดียวจะมีความเสี่ยงสูงมากต่อการได้มาซึ่ง กสทช. และการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ถ้าไม่ดูภาพในการเชื่อมโยงของกรรมการที่ได้มาว่าต้องไปสัมพันธ์กับสังคมอย่างไร มีกลไกในการตรวจสอบกรรมการอย่างไร กลไกถอดถอนอย่างไร ก็ต้องฝากความหวังไว้อย่างเดียวว่ากระบวนการที่ได้มานั้นสมบูรณ์แบบ คือได้คนที่ดีที่สุดจริงๆ แต่บทเรียนขององค์กรอิสระต่างๆในประเทศไทย พบว่าไม่เคยได้กรรมการชุดไหนเลยที่มีความสมบูรณ์แล้วทุกคนยอมรับทั้งหมด แล้วตั้งข้อสังเกตว่าคนนี้คนนั้นเป็นตัวแทนของใครต่างๆนานา ทางคณะกรรมาธิการเชื่อว่ายังมีความเสี่ยงเหลืออยู่ไม่ว่าจะออกแบบวิธีการได้มาเป็นอย่างไร ร่างที่พิจารณาอยู่จึงไม่ได้กำหนดให้มีการสรรหาอย่างเดียว แต่ให้กรรมการในหน่วยงานต่างๆเป็นผู้คัดเลือกในแต่ละกลุ่มเสนอชื่อบุคคลขึ้นมาแล้วให้บุคคลนั้นคัดเลือกกันเอง แล้วไปเสนอวุฒิสภา”

“คำถามว่ากระบวนการเหล่านี้รับประกันได้หรือไม่ว่าจะได้บุคคลที่ดีที่สุดออกมา ก็คงเรียนตามตรงว่าไม่มีหลักประกันอะไรได้เลย ยังมีความเสี่ยงเสมอไม่ว่าจะใช้ระบบใด กระบวนการสรรหาที่พูดกันล่าสุดในคณะกรรมาธิการก็คือ กระบวนการสรรหาคณะกรรมการที่ปรึกษาสังคมและเศรษฐกิจแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งมีข้อวิพากษ์วิจารณ์กันเยอะมากว่า บุคคลที่ประชาชนให้ความเชื่อถือจำนวนมากหลุดจากการได้เป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษา เราก็เชื่อว่าการบล็อกโหวตนั้นอาจจะมีได้ตลอดเวลา แต่รับประกันได้ว่าไม่ว่าจะได้บุคคลได้เข้ามา ความเสียหายจากบุคคลเหล่านั้นจะมีการควบคุมและสามารถเปลี่ยนตัวเอาออกได้”

เลขาฯ กมธ.วิสามัญ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.คลื่นความถี่ฯ กล่าวอีกว่า แนวคิดความสัมพันธ์องค์กรกับรัฐสภา ซึ่งมีการอภิปรายกันมากว่าควรจะมีตัวแทนจากองค์กรต่างๆเข้ามาเป็นกรรมการ ซึ่งถ้าพิจารณาไปเรื่อยๆก็จะทำให้ได้ตัวแทนที่มีจำนวนมากมาย ซึ่งหลักคิดเช่นนั้นไม่น่าจะถูกต้อง

“ถ้าหน่วยงานแห่งนี้เป็นเพียงหน่วยงานกำกับเฉพาะทาง ช่วยในการจัดการกิจการจัดสรรคลื่นความถี่ให้เป็นของประชาชน อำนาจสูงสุดอยู่ที่รัฐสภา หน่วยงานเหล่านี้เป็นเพียงได้รับอำนาจจากรัฐสภาไปให้ทำงานแทน หน่วยงานเหล่านี้จึงไม่จำเป็นต้องมีตัวแทนจากประชาชนเข้าไปเยอะเหมือนกับร่างกฎหมายของปี 2543 ซึ่งมีทั้งตัวแทนศาสนา วัฒนธรรม โดยยิ่งนานก็ยิ่งมีความพยายามที่จะเพิ่มตัวแทนส่วนร่วมหลากหลายมากขึ้น ถ้าทำไปเรื่อยๆตามความต้องการของทุกๆฝ่ายคงจะได้กรรมการชุดที่ใหญ่มาก คณะกรรมาธิการพิจารณาจึงกำหนดให้กรรมการมีไม่เกิน 11 คน และในจำนวนนั้นให้ส่วนใหญ่เป็นผู้เชี่ยวชาญ เพราะตัวแทนประชาชนนั้นอยู่ที่สภาอยู่แล้ว”

ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า ส่วนที่กำหนดให้มีความรับผิดรับชอบ ได้กำหนดให้มีกลไกต่างๆเช่น กลไกในการประเมินผล โดยในร่างปี 2543 มีการกำหนดให้ประเมิน กสช. และ กทช. แต่ไม่มีการประเมินกรรมการ เพราะฉะนั้นในร่างของกรรมาธิการซึ่งมีการพิจารณาล่าสุดนั้น ได้กำหนดให้มีกลไกในการประเมินคณะกรรมการ กสทช. นี้ขึ้นมา และผลของการประเมินจะแสดงให้สาธารณชนเห็น เข้าใจว่า การทำงานของหน่วยงานนี้บรรลุหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ ถ้าไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้จริงๆ ก็จะนำไปสู่กลไกถอดถอน

“ประเด็นต่อมาเรื่องความโปร่งใสและการรับผิดของกรรมการ วิธีการที่สร้างให้เกิดความรับผิดรับชอบคือ เรื่องอะไรที่กรรมการมีการประชุมกันแล้วมีผลกระทบต่อประชาชนจะต้องลงคะแนนทุกคนทุกครั้ง แล้วให้มีการเปิดเผยผลการลงคะแนนว่ากรรมการคนใดลงคะแนนอย่างไรต่อประชาชน อย่างน้อยที่สุดคือเปิดเผยในเวบไซต์ และสาระสำคัญประเด็นต่างๆที่มีการอภิปรายก็จะต้องถูกเปิดเผยด้วย อันนี้ก็จะเป็นกลไกที่ทำให้กรรมการปฏิบัติหน้าที่อย่างมีเหตุมีผล ใช้ความรู้ ใช้ข้อมูลในการจัดสรรคลื่นความถี่”

“ประเด็นที่ 5 คือการลดดุลยพินิจของกรรมการ ซึ่งปี 2543 ทำให้กรรมการมีดุลยพินิจเยอะมาก ก่อให้เกิดปัญหาหลายอย่าง เช่น อำนาจในการกำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ซึ่งเปรียบเสมือนการให้เช็คเปล่า คือสภาให้เช็คเปล่ากับ กสทช. ไปเขียนเอาเองว่าอยากจะได้ค่าธรรมเนียมเท่าไร เป็นข้อบกพร่องที่ผมเห็นว่าน่าจะร้ายแรงพอสมควร แล้วก็ปรากฏเช่นนั้นจริง คือ กทช.เคยอนุญาตกำหนดค่าธรรมเนียมสูงถึง 3 เปอร์เซ็นต์ แล้วได้เงินมาซึ่งเข้าใจว่าเกิน 3 พันล้านบาทต่อปี เงินเหล่านี้ก็เป็นที่มาของความยุ่งยากวุ่นวายปัญหาต่างๆที่ตามมา ที่ใดมีเงินมากเกินไปโดยขาดการตรวจสอบ ความรับผิดชอบที่เหมาะสม ปัญหาก็จะเกิดขึ้น เราจึงเห็นข่าวอยู่เป็นประจำว่าคณะกรรมการชุดนั้นไปดูงานที่ประเทศนั้นประเทศนี้เต็มไปหมด หรือไปใช้เงินที่ไม่น่าจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน เช่นลงโฆษณาประชาสัมพันธ์ในหนังสือพิมพ์หลายเรื่องซึ่งไม่น่าจะมีประโยชน์กับประชาชน เป็นการ PR องค์กาชร เป็นการ PR บุคคล มากกว่าการทำงานสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน ร่างกฎหมายฉบับนี้จึงกำหนดว่าค่าธรรมเนียมสูงสุดตามกฎหมายจะไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปีเพื่อตัดปัญหาตั้งแต่ต้นลม โดยร้อยละ 2 นี้ก็ได้มีการดูที่มาที่ไปในการปฏิบัติงานที่ผ่านมาของ กทช. และตัวอย่างจากต่างประเทศก็คิดว่าน่าจะเป็นจำนวนที่เหมาะสม”

รองประธาน TDRI กล่าวเพิ่มเติมในประเด็นวิธีการจัดสรรคลื่นความถี่ว่า คณะกรรมาธิการมีมติให้วิธีการจัดสรรคลื่นความถี่ในกรณีที่เป็นบริการเชิงพาณิชย์ของกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์นั้น ต้องจัดสรรด้วยวิธีการประมูลคลื่นความถี่เพียงวิธีเดียว

“ในฐานะเลขาฯ กมธ.พิจารณาฯ ขอชี้แจงว่าสาเหตุที่เลือกการจัดสรรคลื่นความถี่ด้วยการประมูล คือ บริการโทรคมนาคมทั้งหมดจะเป็นการบริการเชิงพาณิชย์ แต่กรณีของวิทยุและโทรทัศน์นั้นจะมีบริการที่เป็นสาธารณะ บริการชุมชน และบริการที่เรียกว่าธุรกิจ”

“บริการสาธารณะก็คือการให้องค์กรที่ไม่แสวงหากำไรนำคลื่นความถี่ไปใช้ในกิจการที่ไม่แสวงหาผลกำไร ส่วนนี้กรรมาธิการไม่ได้กำหนดว่าต้องเอาคลื่นความถี่ไปประมูลกัน เช่นเดียวกับวิทยุชุมชนที่ไม่ได้กำหนดว่าต้องเอาคลื่นความถี่ไปประมูลกัน มีเฉพาะส่วนที่เป็นบริการทางพาณิชย์ ซึ่งมีผู้ได้รับผลประโยชน์อยู่ไม่กี่ราย แล้วผลตอบแทนที่ผู้ประกอบการเหล่านั้นเสนอให้รัฐ ไม่ได้สูงอย่างที่ควรจะเป็น เพราะไม่ได้เป็นวิธีการที่เปิดให้แข่งขันกันเต็มที่ ส่วนที่ตามมาคือใต้โต๊ะ คือบนโต๊ะน้อย แต่ใต้โต๊ะเยอะ กระบวนการประมูลคลื่นความถี่จะเป็นกระบวนการที่นำเอาส่วนที่อยู่ใต้โต๊ะมาไว้อยู่บนโต๊ะ แล้วลดดุลยพินิจของหน่วยงานกำกับดูแล ถ้าเกิดปล่อยให้หน่วยงานกำกับดูแลใช้ดุลยพินิจมากๆในการจัดสรรคลื่นความถี่ออกมา ก็จะทำให้นำปัญหามาสู่หน่วยงานที่กำกับดูแล และทำให้การจัดสรรคลื่นความถี่ซึ่งเป็นสมบัติที่มีค่ามากเกิดขึ้นอย่างไม่เป็นธรรม”

โดย ดร.สมเกียรติ อธิบายข้อสงสัยที่ว่าการประมูลจะทำให้ธุรกิจที่มีขนาดใหญ่เข้าไปครอบงำกลุ่มทุนที่เล็กกว่า ในบทบัญญัติที่ไม่มีการประมูลคลื่นความถี่จึงกำหนดไว้ว่า การประมูลคลื่นความถี่นั้นจะแยกตามระดับชั้นคือ ระดับชาติไปประมูลร่วมกับระดับชาติ ภูมิภาคประมูลกับภูมิภาค และระดับท้องถิ่นก็ประมูลในระดับท้องถิ่นเช่นเดียวกัน โดยเงื่อนไขของผู้ประมูลจะถูกกำหนดขึ้นมาพิจารณาไม่ให้เกิดการครอบงำการใช้คลื่นความถี่โดยบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่สูงเกินไป

“ยังมีการกำหนดเงื่อนเวลาที่ กสทช.จะต้องดำเนินการไว้เช่น เรื่องใดที่ กสทช.ไม่กำหนดกรอบเวลาไว้ต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 15 วัน เป็นต้น เพื่อสร้างธรรมาภิบาลที่ดีในการกำกับดูแล”

“เรื่องที่ 6 คือเรื่องกองทุนกิจการ ซึ่งวัตถุประสงค์และที่มาของกองทุนได้มีการขยายให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคมมากยิ่งขึ้น โดยตามกฎหมายเดิมปี 2543 จะมีที่มาหลักๆเพียงแห่งเดียวคือค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ซึ่งจัดเก็บมาแล้วเหลือจากการดำเนินกิจการเท่าไรจึงจะเข้าสู่กองทุนเพื่อการกระจายเสียงโทรทัศน์และโทรคมนาคม โดยในร่างของคณะกรรมาธิการได้กำหนดให้มีที่มาของเงินมากขึ้น เพราะเห็นว่าสังคมมีความต้องการใช้ทรัพยากรมากขึ้น นอกจากเงินที่เหลือจากค่าธรรมเนียมแล้ว เงินที่ได้จากการประมูลคลื่นความถี่ก็จะเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญในการพัฒนากิจการกระจายเสียงโทรทัศน์และโทรคมนาคม วัตถุประสงค์ที่จะใช้เงินเหล่านี้ได้ก็จะมีหลายเรื่อง เช่น จุดประสงค์จะสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนเพื่อส่งเสริมให้ใช้คลื่นความถี่ในภาคประชาชนได้ โดยเฉพาะกิจการในชุมชน เป็นต้น โดยร่างนี้ก็ยังยืนยันเจตนารมณ์ให้คลื่นความถี่ร้อยละ 20 เป็นของประชาชน พร้อมทั้งสนับสนุนให้มีกองทุนกิจการฯ ให้ภาคประชาชนไปรวมตัวกันและดำเนินกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์ของประชาชนด้วย โดยในส่วนของวิทยุจะมีผลทันทีเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ แต่การใช้คลื่น 20 เปอร์เซ็นต์ในกิจการโทรทัศน์นั้นจะรอให้มีการแปลงสภาพคลื่นโทรทัศน์ที่ใช้อยู่ปัจจุบันเป็นคลื่นดิจิตอลก่อน ภาคประชาชนจึงจะมีสิทธิใช้คลื่นร้อยละ 20 ไม่เช่นนั้นจะมีคลื่นที่จำกัดจนเกินไป เพราะสัมปทานจะยาวกว่าวิทยุ”

ด้านนายอภิชาติ ศักดิเศรษฐ์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ได้กล่าวถึงกรณีที่ ผู้เกี่ยวข้องหลายคนมีความกังวลว่ากฎหมายฉบับนี้จะผ่านก่อนมีการยุบสภาหรือไม่นั้น

ในฐานะที่เป็นตัวแทนรัฐบาล นายอภิชาติ กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้เป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาลที่จะต้องผลักดันให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยสัญญาณการเมืองในขณะนี้ก็ยังไม่มีสถานการณ์อะไรที่จะทำให้กฎหมายฉบับนี้ไม่ออกมา เนื่องจากอายุของสภาผู้แทนราษฎรนั้นอยู่ถึงปี 2554

“แต่ว่าอย่างไรก็ตามสิ่งที่รัฐบาลต้องการก็คือว่าจะทำอย่างไรที่จะผลักดันกฎหมายฉบับนี้ให้เสร็จภายในสมัยประชุมนิติบัญญัติ เดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งตามที่ ดร.สมเกียรติได้อธิบายไปแล้วนั้น จะเห็นว่าเราไปได้ไกล ไปได้เร็วมากพอสมควร เมื่อเทียบกับที่เราวิตกกังวลในตอนแรกๆ”

“กฎหมายฉบับนี้เนื่องจากว่าเป็นนโยบายของรัฐบาล จะกังวลว่ากฎหมายที่ผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกานั้น เป็นกฎหมายที่ร่างในรัฐบาลสมชาย เมื่อเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรก็จำเป็นต้องมีร่างของรัฐบาลชุดนี้เข้าไป โดยรัฐบาลจะเสนอกฎหมายเข้าไปซ้อนอีกฉบับหนึ่งก็คงไม่ได้ จึงต้องใช้กฎหมายที่เสนอโดยส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากว่าเรามีเงื่อนเวลาที่จำกัดพอสมควรในการร่างกฎหมายเข้าไปประกบ ดูจากกฎหมายที่ผ่านกฤษฎีกาแล้วเอามาปรับแต่งแก้ไข ในประเด็นที่จำเป็นและมีความสำคัญ โดยฟังข้อเสนอจากกลุ่มต่างๆที่มีข้อเรียกร้องมา แล้วใส่ไว้ในร่างของพรรคประชาธิปัตย์ ถามว่าสมบูรณ์หรือไม่ มันก็ยังไม่สมบูรณ์นัก เพราะในเงื่อนเวลาไม่สามารถทำให้สมบูรณ์แบบ แล้วคาดหวังว่าในชั้นกรรมาธิการเราจะดึงเอาบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ มีความหลากหลายทางความคิดมานั่งทำงานร่วมกัน ตรงนั้นจะทำให้กฎหมายมีความสมบูรณ์ขึ้น”

นายอภิชาติ กล่าวว่า มีเป้าหมายในการทำงาน 4 เรื่องในกฎหมายฉบับนี้ 1.กฎหมายต้องเกิดได้เร็ว เงื่อนไขต่างที่เป็นปัญหาในกฎหมายฉบับก่อนๆ ทำให้กฎหมายล่าช้าต้องถูกกำจัดออกไป ด้วยการเขียนกฎหมายให้เกิด กสทช.ได้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

“ประเด็นที่ 2 คือแม้จะเกิดได้เร็วแต่ต้องสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในวงการวิทยุโทรทัศน์และโทรคมนาคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้ แล้วสามารถพัฒนาวงการนี้ไปได้อย่างที่ควรจะเป็น”

“ประเด็นที่ 3 คณะกรรมการ กสทช. ซึ่งจะเป็นกลไกหลักที่เข้ามาทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ต้องเป็นคนดี คนดีในที่นี้คือต้องมีคุณสมบัติเหมาะสม แล้วเป็นที่ยอมรับจากหลากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างแท้จริง ส่วนที่ 4 คือต้องสามารถใช้อำนาจอย่างเป็นอิสระ แล้วก็ใช้อำนาจนั้นโดยถูกตรวจสอบได้ มีส่วนร่วมกับผู้คนที่เกี่ยวข้องในการใช้อำนาจแต่ละครั้ง”

“ซึ่งจากกระบวนการทำงานในชั้นกรรมาธิการที่ปรากฏมาเป็นร่างในขณะนี้ จะเห็นว่าเราได้บรรลุวัตถุประสงค์อีกข้อหนึ่งในส่วนของพรรคได้ แล้วเชื่อว่าด้วยตัวกฎหมายนี้จะสามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาเข้าไปคลี่คลายวิกฤตที่เกิดขึ้นได้”

นายอภิชาติ กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับกฎหมายฉบับนี้ เนื่องจากมองว่าวิกฤตของสื่อโดยเฉพาะสื่อวิทยุโทรทัศน์ เป็นวิกฤตที่มีความต่อเนื่องยาวนานไม่สามารถหลุดพ้นจากวิกฤตได้ เพราะมีอำนาจ 2 อำนาจเข้ามากดดันแทรกแซงคือ 1.อำนาจรัฐ การเมือง และ 2.อำนาจทุน ซึ่งมีอำนาจเหนือสื่อวิทยุโทรทัศน์มาอย่างยาวนาน

“เรามีความคาดหวังว่าการจัดสรรคลื่นความถี่ ที่จะไปยังภาคส่วนต่างๆนั้นอย่างหลากหลาย ทั่วถึง เป็นธรรมก็ไม่เกิด แต่วิกฤตสื่อก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยองค์กรการจัดสรรคลื่นความถี่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีส่วนประกอบอื่นๆเข้ามาคลี่คลายวิกฤตนั้น คือกฎหมายอื่นๆที่จะเข้ามาประกอบ เรากำลังคิดถึงเรื่องการออกกฎหมายที่จะออกมาคุ้มครองแล้วก็กำหนดมาตรฐานของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนอีกด้วย ซึ่งเป็นชุดความคิดของพรรคที่ต้องการปฏิรูปสื่อให้เต็มระบบ โดยกำลังอยู่ในระหว่างการยกร่างกฎหมาย หากออกมาบังคับใช้พร้อมๆกันก็จะทำให้การปฏิรูปสื่อมีความเป็นจริงมากขึ้น สามารถสร้างผลการเปลี่ยนแปลงให้เกิดในวงการสื่อได้อย่างแท้จริง”

“สิ่งที่ผมวิตกกังวลหลังจากมีกฎหมายจัดสรรคลื่นความถี่ออกมา วันนี้หลายภาคฝ่ายต้องการที่จะเข้ามาเป็นเจ้าของสื่อไม่ว่าจะเป็นภาคบริการสาธารณะ ภาคชุมชน หรือภาคธุรกิจก็ตาม มีความต้องการสูงมาก ก็ทำให้เกิดความพยายามให้มีการเขียนกฎหมายไปเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มตัวเองที่ต้องการอำนาจ ก็เป็นแรงกดดันอย่างมากในคณะกรรมาธิการฯ วาระ 2 แต่ที่ผมวิตกกังวลเกินเลยไปกว่านั้นก็คือว่า เรากำลังคิดถึงเรื่องการเป็นเจ้าของสื่ออย่างเดียวเราไม่ได้คิดถึงเรื่องเนื้อหาสาระที่จะผลิตไปสู่พี่น้องประชาชนในวันข้างหน้าผมยังนึกภาพไม่ออกว่าถ้าเรากระจายความเป็นเจ้าของสื่อออก ไป อย่างกว้างขวาง ผู้ที่เป็นเจ้าของสื่อเหล่านั้นจะมีสำนึกว่าตัวเองมีความเป็นสื่อมวลชนมากน้อยแค่ไหน แอบหวังว่าคนที่จะเข้ามาเป็นเจ้าของสื่อในอนาคตจะมีจิตสำนึกและมีความเป็นสื่อมวลชนอย่างแท้จริง”

“ถ้าคนหรือองค์กรหนึ่งได้เป็นเจ้าของคลื่นวิทยุแล้วเอาคลื่นนั้นไปเปิดเพลงตลอด 24 ชั่วโมง หรือเปิดโฆษณา 24 ชั่วโมง เสนอรายการความคิดเห็นทางการเมืองที่เป็นด้านเดียวตลอดเวลา บ้านเมืองจะสับสนวุ่นวายขนาดไหน ความเป็นสื่อมวลชนที่เราพยายามแจกจ่ายคลื่นความถี่ไปให้นั้นมันจะสัมฤทธิ์ผลอย่างที่เราคาดหวังหรือไม่ หวังว่าการอนุญาตคลื่นความถี่โดยคณะกรรมการ กสทช.ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ก็จะมีเงื่อนไขไปบังคับ ไปเรียกร้องสิ่งที่ผมวิตกกังวลเกิดขึ้นในอนาคต”

นายอนันต์ วรธิติพงศ์ สมาชิกวุฒิสภา ประธานคณะอนุกรรมาธิการร่าง พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่ฯ ที่ทาง ส.ส.รัฐบาลผ่านร่างวาระ 1 ไปแล้ว กล่าวว่า ประเด็นเรื่องช่วงเวลาภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ จะเป็นสมัยประชุมของ ส.ส. ถ้าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านการประชุมของ ส.ส. ได้ภายในเดือนพฤศจิกายน ก็จะเข้า ส.ว. โดยหากเข้า ส.ว.ภายในเดือนพฤศจิกายน ทาง ส.ว.ก็จะทำการพิจารณากฎหมายฉบับนี้ได้ทันที

“แต่ถ้าเข้ามาแล้วเป็นปลายสมัย ก็ต้องเลื่อนไปสมัยประชุมหน้า ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงมิถุนายน 2553 ถ้าเห็นชอบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงก็คงจะผ่าน แต่ถ้าไม่เห็นชอบก็ต้องมาตั้งกรรมาธิการร่วม หากมองโลกในแง่ดีว่าผ่านในเดือนมิถุนายน 2553 ก็ต้องมาตั้งคณะกรรมการ กสทช. ขึ้นมาใหม่ เร็วที่สุดก็น่าจะได้สมัยประชุมถัดไปคือ สิงหาคมถึงพฤศจิกายน นั่นหมายความว่าถ้าทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการเร็วที่สุด เราก็จะมี กสทช. ปลายปี 2553”

“ปัจจุบันเรามี พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ ซึ่งออกมาเมื่อปี 2551 แล้ว เมื่ออกมาก็มีผลยกเลิก พ.ร.บ.วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ 2498 และ พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ยกเลิกหมดเลย เพราะฉะนั้นตอนนี้การประกอบกิจการวิทยุโทรทัศน์ไม่มี พ.ร.บ.อะไรคุ้มครองเลย มีแค่ พ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ ที่กำกับ แต่ไม่มีคนไปกำกับ เพราะคนกำกับต้องมาตาม พ.ร.บ.การจัดสรรคลื่น เพราะฉะนั้นหากต้องการที่จะไปประกอบกิจการสาธารณะ กิจการชุมชน หรือกิจการธุรกิจ ขณะนี้ไม่รู้จะไปขอใคร จึงไม่มีรายใหม่เกิดขึ้น ยกเว้นว่าจะมีบทเฉพาะกาล แต่ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเลยจะไม่มีอะไรเกิดขึ้น จนกว่าจะถึงปี 2553 ที่จะมี กสทช. แล้วถ้ามันยาวยืดไปอีก ก็จะไม่มีผู้ประกอบการใหม่เกิดขึ้น”

“ถ้าออกมาเร็ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นเป็นผลกระทบก็คือว่า การประกอบกิจการวิทยุและโทรทัศน์ที่มีอยู่ทั้งหมดขณะนี้ต้องเอาเข้าระเบียบทั้งหมด ระเบียบนี้ก็มาจากคณะกรรมการ กสทช. มาตั้งใบอนุญาต 3 ประเภทมีเงื่อนไขการพิจารณาอย่างไร ค่าธรรมเนียมเท่าไร ต้องมากำหนด ในขณะที่ผู้ประกอบการเดิมไม่ต้องมีระเบียบอะไรมาบังคับ เพราะ พ.รบ. 2498 ยกเลิกไป ถามว่าคนที่ได้รับสัมปทานอยู่เดิมจะเป็นอย่างไร อันนี้จะมีบทเฉพาะกาลอยู่ในกฎหมาย ดำเนินกิจการไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมดอายุสัมปทาน แต่จะไปเรียกค่าธรรมเนียมใบอนุญาตจากผู้ให้สัมปทานได้หรือไม่ อันนี้ตอบไม่ได้ เพราะขึ้นอยู่กับ กสทช. ในขณะนั้น”

นายอนันต์ กล่าวว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ มีการควบคุมการเผยแพร่ข่าวสารที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากในปัจจุบันขาดการควบคุม ภาพที่ไม่ควรออกมาจากจอโทรทัศน์ก็ออกมาบ่อยมาก โดยเฉพาะการนำเสนอภาพข่าวอาชญากรรมที่ทำให้แม้กระทั่งคนที่ไม่เคยคิดว่าจะทำอาชญากรรม ก็สามารถเอาไปก่ออาชญากรรมได้

“ประเทศไทยมีโทรทัศน์เป็นแห่งที่ 2 ในเอเชีย หลังประเทศญี่ปุ่น เมื่อครั้งปี 2498 เราภูมิใจกันมาก แต่ปัจจุบัน เราไปทำสัญญาพันธะให้มีสัญญาณโทรทัศน์ดิจิตอลในปี 2515 แล้ว ไล่เรียงประเทศแถบนี้ ทุกประเทศเป็นดิจิตอลหมดแล้ว เหลือประเทศไทยเท่านั้นที่ยังไม่ได้เป็นดิจิตอล หวังว่า มี กสทช. จะทำให้เกิดขึ้น ในอนาคต ภาพรวมของผู้ผลิตจะเยอะขึ้น เทคโนโลยีด้านสื่อสารสาธารณะจะมากขึ้น การสื่อสารสาธารณะจะเป็นซอฟท์แวร์ เป็นดิจิตอลมากขึ้น จะหลุดจากรูปแบบเดิมๆไปเลย”

ด้านนายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า ถ้าเป็นไปตามที่ผู้ดูแลกฎหมายทั้ง 3 คนกล่าวไว้ ผู้ประกอบกิจการจะมีเวลาอีกประมาณ 1 ปี น่าจะได้ ผู้ที่มากำกับดูแล ที่เรียกว่า กสทช.

“ถ้ามองในจุดนี้ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี ที่เราจะได้ กสทช. เสียทีหลังจากที่ล้มลุกคลุกคลานมา 2-3 ครั้ง ด้วยระบบการสรรหา หรือคณะกรรมการสรรหาที่จะมาสรรหาผู้ที่จะมาเป็น กสช. ในชื่อที่เรียกกันในอดีต ไม่ต้องพูดถึงปลายปี 2553 ตอนนี้เราพูดในเรื่องปฏิรูปสื่อ จะเรียกว่าปฏิรูปหรือไม่ก็ตาม มีสื่อที่ไม่ต้องอาศัยคลื่นความถี่ทั้งเป็นเคเบิล ทั้งมีผ่านดาวเทียม ถ้าใครติดจานดาวเทียมที่บ้านซึ่งราคาไม่แพงแล้วจะเห็นได้ว่ากดปุ่มรีโมทกันจนเมื่อยมือเลยว่าจะดูช่องไหนมีให้เลือกมากมาย ทีวีดาวเทียมทั้งต่างประเทศทั้งในประเทศ”

“ผมกำลังจะบอกว่า ในปี 2553 ถ้าเป็นไปตามคาดหมายกันไว้โดยไม่มีปัญหาอะไร ไม่มีการยุบสภาฯ เราก็คงจะมีมาตรการใหม่ๆ เกิดขึ้น เมื่อ 18 มิถุนายน ปีที่แล้ว สมาคมฯ ได้มีหนังสือยื่นเข้าไปคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งเสนอโดยกระทรวงไอซีที เสนอโดยรัฐบาลนายสมชาย ประเด็นที่คัดค้านในกฎหมายฉบับนี้ขณะนั้นคือ ประชาชนไม่ค่อยได้มีส่วนร่วมสักเท่าไร แล้วก็มีการเอาอำนาจของการสรรหา กสช. ไปผูกติดกับภาคการเมืองมากไปหน่อย คือให้ ครม.เป็นผู้คัดเลือก นั่นเป็นประเด็นหลักๆ ในขณะนั้น”

“เวลาผ่านมาพอสมควรก็รู้สึกว่าได้ผ่อนเพลาลงไปบ้าง เช่น การคัดเลือกนั้นก็มาที่ วุฒิสภา แล้วก็จะไม่มีกรรมการสรรหาแล้ว ด้วยเชื่อว่าหากมีกรรมการสรรหาก็จะมีการล็อบบี้ บล็อกโหวต ให้มี กสทช. ที่เป็นตัวแทนไม่สวยงามเท่าไร ผมก็ยังมีประเด็นว่าการคัดเลือกกันเองซึ่งหลายองค์กรก็ใช้วิธีนี้ เราก็ไม่แน่ใจว่าจะได้ กสทช. มาหน้าตาดีขนาดไหน มีเจตนาที่แน่วแน่ในการจะมาทำงานเพื่อประเทศชาติจริงๆในบริบทนี้หรือไม่ ก็เข้าใจว่าถ้าไม่ทำอย่างนี้ก็จะไม่ได้ กสทช.สักที และไม่มีการกำกับดูแลจริงๆเสียที และก็ต้องรอกันไปอีก และการดูแลตรวจสอบก็ดูเหมือนกว่ากรรมาธิการจะให้ความสำคัญกับการเมืองเป็นหลัก คือให้สภาเป็นผู้ตรวจสอบ ผูกโยงไปยังเรื่องเดิมที่ให้ความถี่ 20 เปอร์เซ็นต์เป็นของสื่อ ซึ่งฟังแล้วก็คงต้องรอให้เป็นดิจิตอลก่อน ไม่เช่นนั้นจะไปรบกวนคลื่นความถี่ที่มีผู้นิยมฟังมากๆในช่วงเย็น ก็อาจจะทำให้มีคำถามจากภาคประชาชนว่า การปฏิรูปสื่อในก้าวย่างที่สำคัญตรงนี้ ภาคประชาชนอาจจะถูกละเลย แล้วก็ทำให้รู้สึกว่าไม่ได้เป็นของประชาชนที่แท้จริง แม้ว่าจะมีภาคธุรกิจ ภาคบริการสาธารณะอาจจะมองตรงนั้นได้ แต่ตรงนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนพอสมควรที่อยากจะฝากไว้ว่าถ้าประชาชนที่ดูเหมือนว่าไม่ค่อยมีส่วนร่วมด้วยซ้ำในครั้งนี้จะเข้าไปใช้ทรัพยากรของชาติตรงนี้อย่างไร ในรูปแบบไหน”

“เราเข้าใจว่าหลายท่านคงเห็นการใช้คลื่นวิทยุไปใช้ในภาคประชาชนที่เรียกว่าวิทยุชุมชน ซึ่งแท้จริงแล้วอาจจะไม่ใช่วิทยุของชุมชนสักเท่าไร อาจจะไม่สบายใจ หลายช่องหลายความถี่ถูกนำเสนอแบบสุ่มเสี่ยง แบบไม่ควรนำเสนอ แล้วก็ถูกตีขลุมว่าเป็นวิทยุชุมชนก็เลยอาจทำให้มีการมองว่าหากปล่อยให้มีการทำอย่างนี้ต่อไปคงจะแย่ ก็เลยต้องมีการควบคุมกันอยู่ ตรงนี้เข้าใจได้ แต่ถ้าได้มีช่องทางได้พูดคุยกันแล้วให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมจะการนำสื่อไปใช้ประโยชน์ร่วมกัน อย่างดีอย่างมีประสิทธิที่สุด ไม่ได้หมายความว่าใครก็จะมาออกอากาศอะไรก็ได้ โดยอ้างว่านี่เป็นสมบัติของฉัน เพราะว่าฉันเป็นคนไทย คลื่นความถี่นี้เป็นของชาติ นี่เป็นประเด็นที่ผมเฝ้ามองอยู่และเป็นห่วงอยู่ อาจเป็นประเด็นย่อยแต่ผมถือว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้นเป็นส่วนสำคัญ”

นายก่อเขต กล่าวว่า ในส่วนของผู้ที่อยู่ในสมาคมวิชาชีพ หากมีปาฏิหาริย์ ว่าสัปดาห์หน้ามีคลื่นความถี่ให้ทุกคนนำเสนอว่าอยากจะเป็นสื่อเชิงพาณิชย์ สื่อเชิงบริการสาธารณะ หรือสื่อชุมชน จะเกิดอะไรขึ้น?

“จะเกิดผู้อำนวยการสถานี ผู้อำนวยการโทรทัศน์ประจำจังหวัด มีคำถามว่ากฎหมายพร้อมแล้ว ผู้กำกับคือ กสทช. มีแล้ว แล้วผู้ที่จะเข้าไปใช้ไปทำ อย่าลืมว่าเมื่อก่อนนานๆมากเราเป็นแค่คนฟัง เมื่อไหร่ที่เข้ามาทำเอง มันไม่ใช่เรื่องง่าย หลายคนบอว่าจะเปิดเป็นวิทยุชุมชน เปิดทั้งวัน ทำได้อาทิตย์เดียวก็เหนื่อยแล้ว ไม่รู้จะทำอะไรก็เปิดเพลง หรือไม่ก็ให้เช่าต่อไป เพราะฉะนั้นผมถึงให้ความสำคัญกับเรื่องเตรียมบุคลากร เพื่อที่รองรับตรงจุดนี้ สถาบันการศึกษาให้การศึกษาด้านการทำสื่อมีเยอะแยะมาก แต่เราก็ไม่แน่ใจว่าจะได้บุคลากรที่มาจากสายสื่อทำหน้าที่เพื่อท้องถิ่น เพื่อประชาชนด้วยคุณภาพมากน้อยแค่ไหน การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ไปอย่างเร็วมากแล้วก็ไม่ค่อยดีด้วยนี้ ต้องอาศัยการทำหน้าที่ของสื่อที่มีคุณภาพที่จะมาทำตรงนี้ด้วย เราพร้อมหรือยัง คำตอบของผมก็คือเรายังไม่พร้อม และอีกเยอะกว่าเราจะพร้อม เราจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมทั้งทักษะในการนำเสนอ ทั้งมุมมอง ทั้งการปลูกฝังอุดมการณ์ ทั้งการใช้สื่อ”

นายก่อเขต ทิ้งท้ายประเด็นการประมูลคลื่นความถี่ไว้ว่า เพื่อที่จะได้มาซึ่งผู้ที่จะใช้คลื่นความถี่ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นความต้องการที่จะลดการใช้วิจารณญาณของผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่ยังเป็นห่วงว่าที่เป็นอยู่ปัจจุบันนี้ ที่บอกว่าเป็นปัญหานำไปสู่การปฏิรูปสื่อ การประมูลก็เป็นสาเหตุหนึ่งเหมือนกัน

“เมื่อใช้เงินประมูลแล้วก็ต้องพยายามอย่างยิ่งที่จะให้ได้เงินมา ให้คุ้มค่ากับการประมูล บางสถานีก็ใช้เงินเยอะในการประมูลเมื่อทำไม่ได้ก็ต้องเปลี่ยนต้องล้มไป ตรงนี้เป็นสิ่งที่เป็นห่วง แต่ถ้ามีกลไกซึ่งทำให้การประมูลไม่เกิดปัญหาอย่างที่ผ่านมา ผมก็เชื่อมั่นว่าคงไม่ย้อนกลับไปในวังวนเก่าๆที่เกิดมามีปัญหา”

ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ

นิรมล ประสารสุข

ผู้จัดการฝ่ายวิชาการและกิจกรรมพิเศษ

โทร 02 243 8479, 0 8652 24288

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ
๑๖:๑๘ ทรู คอร์ปอเรชั่น เตรียมเปิดจองซื้อหุ้นกู้ชุดใหม่รับปีมะเส็ง ตอบโจทย์นักลงทุนที่มองหาโอกาสสร้างผลตอบแทนอย่างมั่นคง
๑๖:๒๕ วัน แบงค็อก เตรียมเฉลิมฉลองเคาท์ดาวน์ศักราชใหม่สุดยิ่งใหญ่
๑๖:๐๖ EXIM BANK โชว์ศักยภาพ SFI แห่งแรกได้รับมาตรฐานสากล ISO 14064-1:2018 เดินหน้าบทบาท Green Development Bank
๑๖:๑๙ ซานตาคลอส ฟลายอิ้ง ส่งความสุขในเทศกาลคริสต์มาส และปีใหม่ ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ฯ เซ็นทรัลเวิลด์
๑๖:๔๓ Spacely AI คว้ารางวัลที่สาม ในการแข่งขันนวัตกรรมระดับโลกของ SketchUp
๑๖:๓๒ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ทุ่มกว่า 1.6 ล้าน มอบความห่วงใย ร่วมฟื้นฟูผู้ประสบภัยหลังจากน้ำท่วมใหญ่
๑๖:๒๑ NRF เปิดตัว Mini C สาขาใหม่ในสหราชอาณาจักร ตอกย้ำกลยุทธ์ค้าปลีกแบบ Hub and Spoke ยอดขายทะลุเป้า พร้อมกระแสรีวิว 5 ดาวจากลูกค้า
๑๖:๓๘ บางจากฯ ร่วมสร้างสีสัน ส่งต่อสุขภาพดี ชวน เมย์ รัชนก ร่วมแข่งกีฬา Econmass Sport Day 2024
๑๖:๐๐ จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม เอิ้นหาพี่น้องโค้งสุดท้าย! ชวนมาม่วนซื่นส่งท้ายปี สูดอากาศดีกลางทุ่งดอกไม้บาน ชมงานศิลป์สุดอลัง พร้อมกิจกรรมม่วน ๆ ทั้งครอบครัว 2 สัปดาห์สุดท้าย