ดร.ยุวดี ศันสนีย์รัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของสถาบันฯ เปิดเผยว่า “โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการวิจัยหลักสูตรการจัดการเรียนรู้ตามพัฒนาการสมองนำร่องประกอบด้วย 12 โรงเรียน โดยได้ริเริ่มโครงการตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 ตลอดระยะเวลา 5 ปีถึงปัจจุบัน ทางสถาบันฯ ได้เล็งเห็นความสำคัญและสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนโดยการอบรมบุคลากร และในครั้งนี้ได้ลงพื้นที่สังเกตการณ์การจัดการเรียนรู้จริง ที่ทำให้เห็นได้ชัดว่าเด็กที่เรียนรู้ตามหลักสูตร Brain-Base Learning มีพัฒนาการที่สมวัย และมีความพร้อมในการเรียนรู้อย่างเห็นได้ชัด”
ทางด้านของนักวิชาการ ศ.นพ.ประเสริฐ บุญเกิด ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง ที่ได้ร่วมทีมเยี่ยมชมในครั้งนี้กล่าวว่า “จากการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบที่แตกต่างออกไปโดยใช้ทฤษฏีการพัฒนาของสมองเป็นตัวตั้งในการจัดการเรียนรู้จะช่วยให้เด็กพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ นอกจากจะต้องคำนึงถึงการพัฒนาของสมองแต่ละช่วงวัยแล้ว ยังต้องเน้นการจัดการเรียนรู้ จากของจริงไปสู่สัญลักษณ์ เช่น การเรียนคณิตศาสตร์เรื่องจำนวน ก็เน้นให้เด็กได้สัมผัสจากการนับสิ่งของจริงและค่อยเชื่อมโยงหาสัญลักษณ์หรือตัวเลขทางคณิตศาสตร์ วิธีนี้จะช่วยให้การเรียนรู้เกิดจากความเข้าใจ ไม่ใช้การท่องจำ นอกจากนั้น การเรียนรู้ยังต้องควบคู่ไปกับบรรยากาศการเรียนที่ส่งเสริมให้เด็กเปิดหน้าต่างการเรียนรู้ คือ ต้องสนุก และ กระตุ้นให้เด็กๆ มีความสุขจากการเรียน ”
ผลผลิตจากโครงการจัดการเรียนรู้ได้ผลิดอกออกผลแล้วรุ่นต่อรุ่น ทำให้ได้เห็นการพัฒนาการของเด็กที่สมวัย ฉลาด ทั้งมิติด้านอารมณ์ จิตใจ สังคม และปัญญา
นายประชุม นิ่มหนู ผู้อำนวยการโรงเรียนโป่งแยงนอก หนึ่งในโรงเรียนที่ร่วมโครงการ ได้เปิดเผยถึงพัฒนาการของเด็กว่า “ระยะเวลากว่า 5 ปี ในการปรับรูปแบบการเรียนการสอนทำให้ได้เห็นพัฒนาการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เด็กได้เรียนรู้ด้วยความสนุก ด้วยการเปิดมิติการเรียนรู้วิธีใหม่ๆ ทางโรงเรียนเริ่มต้นจากการจัดสภาพแวดล้อมแห่งการเรียนรู้ อาทิ ประดิษฐ์ของเล่นกระตุ้นการเรียนรู้ โดยใช้วัสดุท้องถิ่นง่ายๆ เช่น ยางรถยนต์ มาปรับเป็นของเล่นเปิดการเรียนรู้พร้อมกับหลักสูตรที่มีหนังสือให้เด็กได้มีโอกาสสัมผัสสื่อมากขึ้น ทำให้ผลชี้วัดออกมาเด็กเรียนรู้ได้เร็วและมีความสุข”
ทั้งนี้ โครงการพัฒนาหลักสูตรการจัดการเรียนรู้ตามทฤษฎีการพัฒนาการของสมองยังคงเร่งดำเนินการรุกหน้าต่อไป โดยวัตถุประสงค์หลักเพื่อกระจายแนวคิดการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับสมองเยาวชนแต่ละช่วงวัย โดยสนับสนุนการวิจัยหลักสูตรและทดลองใช้ในกลุ่มโรงเรียนตัวอย่าง โดยมุ่งเป็นต้นแบบให้โรงเรียนทั่วประเทศไทยได้พัฒนาการจัดการเรียนการสอน อันจะส่งผลต่อการพัฒนาเยาวชนให้ฉลาดสมวัยเพื่อเป็นขุมพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป