เมื่อวันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา NIDA Business School ร่วมกับสถาบันวิจัยนครหลวงไทย (SCRI) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดงานเสวนาวิเคราะห์เศรษฐกิจการเงิน Crisis Watch series 9 “Investment @ Risk Rating Map” และ “บริษัทใดสร้างมูลค่าเพิ่มสูงสุดให้กับนักลงทุน”
นายสุกิจ อุดมศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส สถาบันวิจัยนครหลวงไทย (SCRI) เปิดเผยว่า จากการประเมินภาพรวมเศรษฐกิจโลกในขณะนี้ พบว่า เศรษฐกิจโลกได้ผ่านจุดต่ำที่สุดในครึ่งปีแรก 2552 และคาดว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่จะกลับมามีเสถียรภาพมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังปี 2552 แต่อัตราการฟื้นตัวยังคงขึ้นกับความต่อเนื่องของนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในประเทศต่างๆ เนื่องจากการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนยังคงฟื้นตัวในอัตราที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย และการว่างงานที ่ยังคงเพิ่มขึ้น แต่มีความรุนแรงลดลง โดยตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP Growth) ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ของประเทศเยอรมนี ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น กลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกของปีเดียวกัน ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศดังกล่าวหลุดพ้นจากภาวะถดถอยเป็นไตรมาสแรก
สำหรับเศรษฐกิจของประเทศในแถบเอเชียหลายประเทศ ประกาศตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกของปีเดียวกัน อาทิเช่น สิงคโปร์ ขยายตัว 20.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัว 12.2 % ขณะที่เกาหลีใต้ ขยายตัว 2.3% ซึ่งถือว่าขยายตัวอย่างแข็งแกร่งจากไตรมาสแรก ซึ่งอยู่ที่ 0.1% และเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ซึ่งอยู่ที่ -5.1% เช่นเดียวกับตลาดที่อยู่อาศัยทั่วโลกต่างก็ส่งสัญญาณมีเสถียรภาพมากขึ้น ทั้งในสหรัฐฯ และยุโรป
ในขณะที่สินทรัพย์ทางการเงินและโภคภัณฑ์บางประเภทมีระดับราคาที่สูงขึ้น อาทิเช่น ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก และราคาน้ำมัน เป็นต้น ขณะที่ความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ คือ การเปลี่ยนนโยบายโดยยกเลิกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (Exit Strategy) ก่อนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างแข็งแกร่งและการกลายพันธุ์ของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009
ด้านรศ.ดร.เอกชัย นิตยาเกษตรวัฒน์ คณบดีคณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA Business School) กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการลงทุนในตลาดทุน แนวทางที่สามารถใช้วัดผลตอบแทนจากการลงทุนและผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนได้ นอกเหนือจากตัวเลขทางบัญชี ก็คือ วิธีการวัดมูลค่าเพิ่มทางตลาด (Market Value Added : MVA) และวิธีการวัดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐศาสตร์ (Economic Value Added : EVA)
“ในการลงทุนในหุ้นนั้น นักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนหรือผลกำไรก็ต่อเมื่อราคาหุ้นของบริษัทสูงขึ้น หรือบริษัทสามารถที่จะจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนได้ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งการที่บริษัทจะทำเช่นนั้นได้ บริษัทย่อมต้องมีผลการดำเนินงานที่ดี จนสามารถที่จะทำให้มูลค่าของกิจการสูงขึ้น และส่งผลให้ราคาหุ้นของบริษัทสูงขึ้นตามไปด้วย การที่บริษัทใดสามารถดำเนินการจนบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว จะถือได้ว่าบริษัทมีการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ถือหุ้น” รศ.ดร.เอกชัย กล่าว
ทั้งนี้ จากการศึกษาและจัดอันดับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยใช้ดัชนีชี้วัดด้านมูลค่าเพิ่ม ย้อนหลังเป็นระยะเวลา 7 ปี (ระหว่างปี 2545 ถึงปี 2551) ได้ผลลัพธ์ที่น่าสนใจคือ เมื่อทำการจัดอันดับหุ้นของบริษัทจดทะเบียนด้วยมูลค่าเพิ่มทางการตลาด (MVA) จะพบว่าหุ้นที่มี MVA สูงสุดในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้น มี MVA ที่สูงอย่างต่อเนื่อง โดยตลอด 7 ปีที่จัดอันดับนั้น หุ้นที่สามารถติดใน 10 อันดับแรกในทุกปีของการจัดอันดับ ได้แก่หุ้น PTT, PTTEP, ADVANC, SCC, SHIN, LH และ RATCH ซ ึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความคาดหวังเชิงบวก ที่นักลงทุนมีให้กับหุ้นของบริษัทเหล่านี้
และเมื่อจัดอันดับหุ้นของบริษัทจดทะเบียนฯ ด้วยมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐศาสตร์ (EVA) จะพบว่าหุ้นที่มี EVA สูงสุดนั้น ก็มักจะมี EVA ในระดับที่สูงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยหุ้นที่สามารถติดใน 10 อันดับแรกในทุกปีของการจัดอันดับได้แก่หุ้น PTT, ADVANC, PTTEP และ SCCC และหุ้นที่ติดอันดับถึง 6 ปี ของการจัดอันดับ ได้แก่ SCC, RATCH และ BEC ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความสม่ำเสมอในการสร้างกำไรทางเศรษฐศาสตร์ของบริษัทเหล่านี้
คณบดี NIDA Business School กล่าวด้วยว่า จากการจัดอันดับดังกล่าว พบว่า หุ้นของบริษัทที่มีมูลค่าเพิ่มในทั้งสองมิติ ในระดับที่สูงอย่างสม่ำเสมอนั้น ได้แก่ หุ้น PTT, PTTEP, ADVANC, SCC, SCCC, RATCH, BEC และ BH ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าว นักลงทุนที่แสวงหาโอกาสในการลงทุนระยะยาวในหุ้นที่มีพื้นฐานที่ดี และมีความสม่ำเสมอทั้งในด้านราคาหุ้น และผลการดำเนินงานนั้น อาจให้ความสนใจศึกษาเพิ่มเติมในหุ้นเหล่านี้ได้
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : ฝ่ายประชาสัมพันธ์
บริษัท มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด (ในนาม NIDA BUSINESS SCHOOL)
พิภพ ฆ้องวง (ท๊อป) โทร. 02-2487967-8 ต่อ 118, 08-1929-8864
Email address : [email protected]