1. นางสาวอมรรัตน์ จารุรัตน์ ผู้อำนวยการส่วนนโยบายดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ผู้ดำเนินรายการ ได้กล่าวถึงหลักการที่สำคัญของการกำหนดให้มี “คนกลาง” เข้ามาเป็นผู้จัดการดูแลการชำระหนี้ของคู่สัญญา โดยมีหน้าที่ดูแลรักษาเงิน ทรัพย์สิน หรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ที่คู่สัญญาส่งมอบให้อยู่ในความครอบครองของตน พร้อมทั้ง ดำเนินการส่งมอบเงิน และจัดให้มีการโอนกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิในทรัพย์สินให้แก่คู่สัญญา ซึ่งมีผู้ที่เกี่ยวข้องในระบบทั้งหมด 4 ฝ่าย คือ ผู้ซื้อ ผู้ขาย คนกลาง และสถาบันการเงิน โดยหากผู้ขายผิดสัญญาผู้ซื้อจะได้รับเงินดาวน์คืน ซึ่งแตกต่างจากในอดีตที่ผู้ซื้อจะไม่สามารถได้รับเงินคืนได้เลย
2. คุณสัมมา คีตสิน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการคุ้มครองผู้บริโภค หรือการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ และผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ได้กล่าวถึงความเป็นมาของพระราชบัญญัติการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา พ.ศ. 2551 ซึ่งเกิดจากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ที่ส่งผลให้ระบบการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์มีปัญหา และจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ กระทรวงการคลังจึงได้เล็งเห็นความสำคัญของการนำระบบ “คนกลาง” มาใช้ โดยที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทยเคยมีประกาศเมื่อเดือนมีนาคม 2544 เรื่องอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ประกอบธุรกิจ Escrow Account กระทรวงการคลังเคยมีประกาศเมื่อธันวาคม 2546 เรื่องอนุญาตให้บริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการจัดให้มีบัญชีดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา แต่ประกาศฯทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว ไม่ได้มีการนำระบบคนกลางมาใช้ สถาบันการเงินในขณะนั้นทำหน้าที่เป็นเพียงผู้รับฝากเงินและจ่ายเงินตามบัญชีตามคำสั่งที่ลูกค้าแจ้งเท่านั้นกระทรวงการคลังจึงได้ยกร่างพระราชบัญญัติการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา พ.ศ. 2551 ขึ้น ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดให้มีคนกลางทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ โดยดูแลการชำระหนี้ของคู่สัญญาให้เป็นไปตามสัญญา และจัดให้มีการโอนกรรมสิทธิ์และเงินให้แก่คู่สัญญา เมื่อได้มีการปฏิบัติตามสัญญาครบถ้วนแล้ว โดยยึดความสมัครใจของผู้ซื้อและผู้ขายร่วมกัน โดยในเบื้องต้นได้อนุญาตให้เฉพาะสถาบันการเงินเท่านั้นที่สามารถประกอบกิจการดูแลผลประโยชน์ได้ เนื่องจากมีความมั่นคงและความน่าเชื่อถือ ซึ่งสถาบันการเงินที่จะรับทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ฯ ต้องผ่านการพิจารณาคุณสมบัติอย่างเข้มงวด
3. นางสาวพนอศรี ถาวรเศรษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายระบบการคุ้มครองผลประโยชน์ทางการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้กล่าวถึงผู้ที่เกี่ยวข้องในระบบการดูแลผลประโยชน์ซึ่งประกอบด้วย ธนาคารแห่งประเทศไทย คณะกรรมการกำกับการประกอบกิจการดูแลผลประโยชน์ สถาบันการเงิน ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และกรมที่ดิน โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลังทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการฯ ของคณะกรรมการกำกับการประกอบกิจการดูแลผลประโยชน์ ซึ่งในช่วงกว่า 1 ปี ที่ผ่านมา หลังจากที่กฎหมายได้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2551 ได้มีการดำเนินการออก อนุบัญญัติที่เกี่ยวกับพระราชบัญญัติการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา พ.ศ. 2551 ทั้งหมด 14 ฉบับ ได้แก่ กฎกระทรวง 1 ฉบับ ประกาศกระทรวงการคลัง 5 ฉบับ ประกาศสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง 2 ฉบับ และประกาศคณะกรรมการกำกับการประกอบกิจการดูแลผลประโยชน์ 6 ฉบับ โดยปัจจุบันกระทรวงการคลังได้ให้ใบอนุญาตแก่สถาบันการเงินจำนวน 6 แห่งแล้ว ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน) ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด ธนาคารซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารเอบีเอ็น แอมโร เอ็น.วี. สาขากรุงเทพฯ ซึ่งสถาบันการเงินดังกล่าวข้างต้นมีคุณสมบัติครบถ้วนตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงว่าด้วยการขอรับใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตประกอบกิจการดูแลผลประโยชน์สำหรับสถาบันการเงินพ.ศ. 2551 และประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สนส. 6/2552 เรื่อง การอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ประกอบกิจการดูแลผลประโยชน์
4. นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบ 1 ธปท. ได้กล่าวถึง การกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงินโดยทั่วไปของ ธปท. ซึ่งเน้นการตรวจสอบการบริหารความเสี่ยงที่สำคัญ 5 คือ ด้านกลยุทธ์ ด้านเครดิต ด้านตลาด ด้านสภาพคล่อง และด้านปฏิบัติการ โดยธปท. ได้นำความเสี่ยงด้านปฏิบัติการมาเป็นหลักเกณฑ์สำคัญในการพิจารณาอนุญาตให้สถาบันการเงินประกอบกิจการดูแลผลประโยชน์ ซึ่งความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ เป็นความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหาย อันเนื่องมาจากการขาดการกำกับดูแลกิจการที่ดีหรือขาดธรรมาภิบาลในองค์กร และการขาดการควบคุมที่ดีโดยอาจเกี่ยวข้องกับกระบวนการปฏิบัติงานภายใน คน ระบบงาน หรือเหตุการณ์ ภายนอก และส่งผลกระทบต่อรายได้และเงินกองทุนของสถาบันการเงิน ดังนั้น สถาบันการเงินที่จะประกอบกิจการดูแลผลประโยชน์ได้จะต้องมีระบบไอที ระบบการควบคุมภายใน ระบบบัญชี ระบบการจัดเก็บเอกสาร ระบบการปฏิบัติงานของสาขาที่ดี และความพร้อมของบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจด้วย ทั้งนี้ สถาบันการเงินที่จะสามารถประกอบกิจการดูแลผลประโยชน์ได้ต้องมีความเสี่ยงในระดับปานกลาง ระดับต่ำ และค่อนข้างต่ำ นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงประโยชน์ของการประกอบกิจการดูแลผลประโยชน์ของสถาบันการเงิน ซึ่งจะทำให้สถาบันการเงินมีรายได้และมีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น
5. คุณอธิป พีชานนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการคุ้มครองผู้บริโภค หรือการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ และนายกสมาคมอาคารชุด ได้กล่าวถึงประเด็นปัญหาและอุปสรรคในการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ในอดีตที่เกิดขึ้น โดยส่วนใหญ่จะเป็นการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ผ่านการจองซื้อจากผังขายและดูบ้านตัวอย่าง และผู้ซื้อส่วนใหญ่ขาดความรอบรู้และประสบการณ์ในการตัดสินใจ นอกจากนี้ พ.ร.บ. จัดสรรฉบับเดิมยังมีช่องโหว่ทางกฎหมาย ยกตัวอย่างเช่น การค้ำประกันสาธารณูปโภคเป็นเฟสไม่ได้มีการค้ำประกันทั้งโครงการ ไม่มีสัญญาซื้อขายมาตรฐาน ประกอบกับในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจผู้ขายขาดสภาพคล่องทางการเงิน ทำให้เกิดปัญหาหลายอย่างตามมา เช่น ซื้อบ้านไม่ได้บ้าน หรือการส่งมอบไม่ตรงตามกำหนดเวลา ทำให้เกิดการฟ้องร้องขึ้นเป็นจำนวนมากในบางครั้งการต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนานและไม่สามารถหาข้อยุติได้ ซึ่งการนำพระราชบัญญัติการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา พ.ศ. 2551 มาใช้จะช่วยให้ปัญหาข้างต้นหมดไป และช่วยลดการฟ้องร้องระหว่างกันได้ และในส่วนของผู้ขายจะได้รับประโยชน์ด้วยเช่นกัน เนื่องจากการนำกฎหมายนี้มาใช้จะช่วยให้การซื้อขายคล่องตัว และต่อเนื่อง ร่วมทั้งผู้ซื้อมีความมั่นใจในการชำระเงินและการซื้อ ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมเจริญเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ และยังเป็นกลไกที่ทำให้เกิดความเสมอภาคระหว่างผู้ขายรายเล็กกับผู้ขายรายใหญ่ ดังนั้น กฎหมายฉบับนี้เป็นช่องทางที่ก่อให้เกิดความยุติธรรมในการแข่งขันระหว่างผู้ซื้อรายใหญ่และ ผู้ซื้อรายย่อย
การสัมมนาในครั้งนี้ สศค. ได้รับประโยชน์จากข้อคิดเห็นและปัญหาอุปสรรคในด้านต่างๆ ซึ่ง สศค. จะนำไปใช้ในการหารือแนวทางการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันให้พระราชบัญญัติการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา พ.ศ. 2551 เป็นกฎหมายที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้นตลอดจนให้ความคุ้มครองประชาชนอย่างเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น