เมื่อถามถึงการปลูกต้นไม้ในรอบ 1 ปี ประชาชนส่วนใหญ่ตอบว่าไม่ได้ปลูกต้นไม้ เลย ถึงร้อยละ 47.07 รองลงมา ปลูกต้นไม้ 1-3 ต้น คิดเป็นร้อยละ 26.23 และปลูกต้นไม้ 4-6 ต้น คิดเป็นร้อยละ 12.03 ส่วนปัญหาเรื่องโลกร้อนที่สำคัญมากที่สุดในปัจจุบันนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ตอบว่า ปัญหาอากาศเป็นพิษ เป็นปัญหาที่สำคัญที่สุด คิดเป็นร้อยละ 57.40 รองลงมา คือ ปัญหาโรคระบาด คิดเป็นร้อยละ 21.40 และปัญหาน้ำท่วม คิดเป็นร้อยละ 21.20
สำหรับวิธีการที่สามารถช่วยลดปัญหาเรื่องโลกร้อนนั้น คนส่วนใหญ่คิดว่า จะต้องช่วยกันปิดและถอดปลั๊กไฟเมื่อไม่ใช้งานมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 42.70 รองลงมาได้แก่ ลดการใช้ถุงพลาสติกโดยการใช้ถุงผ้าแทน คิดเป็นร้อยละ 29.90 และใช้รถโดยสารประจำทาง รถไฟฟ้าแทนการใช้รถยนต์ส่วนตัว คิดเป็นร้อยละ 17.73
สำหรับสิ่งที่ประชาชนเห็นว่ารัฐบาลมีความจริงจังในการแก้ปัญหาโลกร้อนมากที่สุด คือรัฐบาลมีการรณรงค์ผ่านโครงการต่าง ๆ คิดเป็นร้อยละ 56.32 รองลงมารัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจน คิดเป็นร้อยละ 21.63 และรัฐบาลมีการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง คิดเป็นร้อยละ 21.22
แต่สิ่งที่ประชาชนเห็นว่ารัฐบาลไม่จริงจังในการแก้ปัญหาเรื่องโลกร้อน คือ มีการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่ได้เน้นที่การปลูกจิตสำนึก คิดเป็นร้อยละ 39.10 รองลงมามีการรณรงค์ที่ไม่ต่อเนื่อง คิดเป็นร้อยละ 25.03 และคนทั่วไปไม่ได้เห็นความสำคัญของปัญหาเรื่องโลกร้อน คิดเป็นร้อยละ 22.08
ด้านผศ.ดร.วิชิต อู่อ้น ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพฤติกรรมผู้บริโภค คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ได้ให้ความคิดเห็นเพิ่มเติมในประเด็นนี้ว่า ปัจจุบันการรณรงค์ให้ประชาชนปลูกต้นไม้ของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน สามารถช่วยบำรุงรักษาสิ่งแวดล้อมได้จริงหรือ คำตอบคือ ยังไม่แน่ใจอันเนื่องจากมาจากผลสำรวจของประชาชนที่มีต่อความเห็นว่ารัฐบาลชุดนี้จริงจังกับการแก้ปัญหาโลกร้อนเพียงปรากฎว่า กว่าร้อยละ 59.93 ระบุว่า รัฐบาลยังไม่มีความจริงจังในการแก้ปัญหาเรื่องโลกร้อนเพราะแก้ไขเฉพาะปัญหาปลายเหตุ ไม่ได้เน้นที่การปลูกจิตสำนึกของคน ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจที่ถามถึงประชาชนกว่า 3,000 คนว่าใน 1 ปี ที่ผ่านมาปลูกต้นไม้กี่ต้น ซึ่งปรากฎว่า ร้อยละ 47.07 ระบุว่า ไม่ได้ปลูกเลย ส่วนร้อยละ 26.23 ปลูกเพียง 1-3 ต้น 365 วันปลูกต้นไม้เพียง 1-3 ต้นเท่านั้น นับว่าน้อยมาก แล้วหากเราตัดไม้ทำลายป่าและไม่มีการปลูกต้นไม้ทดแทนจะเกิดอะไรขึ้น ผลต่อเนื่องได้แก่ ต้นไม้มีส่วนประกอบของคาร์บอนอยู่ถึงร้อยละ 90 ดังนั้น หากมีการตัดไม้ทำลายป่า ธาตุคาร์บอนจะกลับคืนสู่อากาศกลายเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งมีผลเป็นอันตรายต่อมนุษย์โดยตรง ทำให้ร่างกายของมนุษย์ขาดความสมดุลย์ เพราะความร้อนในร่างกายไม่สามารถถ่ายเทสู่บรรยากาศได้ เพราะบรรยากาศเองก็มีความร้อนที่สูงขึ้น
เมื่อทุกคนตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมถึงเพียงนี้ แต่ในท้ายที่สุดแล้ว ก็เป็นเพียงแค่การตระหนักและรับรู้ปัญหา แต่ไม่ได้ตั้งใจแก้ไขปัญหา ดังนั้นแล้ว อย่าเพียงตระหนักหรือรับรู้ ต้องลงมือปฏิบัติจึงจะสามารถแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0895017340 ธัญญากร สวยรูป