“การส่งเสริมให้เยาวชนได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของตนเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยเฉพาะการเริ่มต้นเรียนรู้จากท้องถิ่นของตน ซึ่งจะทำให้เด็กเริ่มเห็นความสัมพันธ์ของตนเอง ท้องถิ่น กับชาติ ซึ่งจะนำไปสู่ความรักและเห็นคุณค่าที่เริ่มจากเรื่องใกล้ตัว เด็กที่ไม่รักท้องถิ่นก็จะรักชาติไม่เป็น” ดร.สีลาภรณ์ กล่าว
ในวันเสาร์ที่ 5 กันยายนนี้ สกว. และสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) จะร่วมกันจัดประชุมวิชาการ “ยุววิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่น : ภูมิคุ้มกันทางวัฒนธรรม” ที่โรงแรมทาวน์ อิน ทาวน์ กรุงเทพฯ เพื่อเผยแพร่แนวคิดและวิธีการสืบสานประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของชุมชนในท้องถิ่นต่างๆ ผ่านประสบการณ์การทำวิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของกลุ่มนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษา โดยครั้งนี้เป็นการประชุมกับกลุ่มโรงเรียนและผู้เข้าร่วมโครงการยุววิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภาคกลาง 8 จังหวัดที่ได้รับการสนับสนุนการวิจัย ได้แก่ จังหวัดนครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สุพรรณบุรี กาญจนบุรี และฉะเชิงเทรา จำนวนประมาณ 400 คน ก่อนจะขยายผลไปจัดเวทีประชุมในพื้นที่ภาคอื่น ๆ ร่วมกันต่อไป
สำหรับการดำเนินการ โครงการยุววิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจะมีครูเป็นผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ กระตุ้นให้เด็กเป็นผู้ตั้งคำถามหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของเรื่องราว วิถีชีวิต ความเชื่อ พิธีกรรม โบราณสถาน โบราณวัตถุ กลุ่มชน ศิลปะ ประเพณีในท้องถิ่น และทำการสืบค้นประวัติศาสตร์ว่าสิ่งเหล่านั้นมีความสำคัญสำหรับใคร สำคัญอย่างไร เป็นเครื่องมือเชื่อมร้อยผูกพันใครไว้ด้วยกันบ้าง เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นบ้างในห้วงเวลาที่ผ่านมา และการเปลี่ยนแปลงนั้นได้ทำให้ความสัมพันธ์ของผู้คนและวิถีการดำเนินชีวิตเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ภายใต้การหนุนช่วยของนักวิจัยและผู้ประสานงานโครงการที่มีประสบการณ์การวิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
ตัวอย่างผลงานวิจัยของยุววิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่จะมีการนำเสนอบนเวทีการประชุมครั้งนี้ได้แก่ การศึกษาเรื่องการเก็บมูลค้างคาวที่ถ้ำค้างคาววัดเขาช่องพราน ของยุววิจัยโรงเรียนช่องพรานวิทยา จังหวัดราชบุรี ซึ่งทำให้ได้เรียนรู้ภูมิปัญญาในการเก็บมูลค้างคาวอย่างปลอดภัยไม่ให้ถูกเห็บ ไร กัด เห็นวิธีใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนจากการที่ชาวบ้านเก็บค้างคาวในพื้นที่ที่ทางวัดจัดสรรให้ได้อย่างสมานฉันท์ ผลการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจากตลาดทรัพย์สิน หรือตลาดเก่าเมืองสุพรรณฯ ของยุววิจัยโรงเรียนสงวนหญิง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งยุววิจัยได้เรียนรู้ว่า สังคมเล็กๆ แห่งนี้มีทั้งปราชญ์ ศิลปิน เสนาบดี เป็นสถานที่ชุมนุมของคนมีฝีมือทั้งคาวหวาน มีบ้านโบราณของเสนาบดีคนสำคัญในสมัยก่อน รวมทั้งได้เรียนรู้เรื่องราวการต่อสู้ของตลาดเก่ากับห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ และผลงานการศึกษาเรื่องเชิดหุ่นกระบอกเมืองแม่กลองของยุววิจัยโรงเรียนถาวรานุกูล จังหวัดสมุทรสงคราม ที่ยุววิจัยได้เรียนรู้ประวัติความเป็นมาของการเชิดหุ่นกระบอกเมืองแม่กลอง สาเหตุที่หุ่นกระบอกเสื่อมความนิยม ความสัมพันธ์ของหุ่นกระบอกกับวิถีชีวิตของคนในอดีตและปัจจุบัน ได้ทราบอัตลักษณ์ของหุ่นกระบอกแม่กลอง อันจะนำไปสู่การสืบทอดการแสดงหุ่นกระบอกนี้ให้อยู่คู่กับเมืองแม่กลองต่อไป
อนึ่ง ขณะนี้ สวช. ยังจัดมีโครงการต่อยอดชื่อว่า “โครงการโรงเรียนทำหนังวัฒนธรรม” โดยส่งเสริมให้เยาวชนสามารถนำเรื่องราวประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่ศึกษาไปผลิตเป็นวีดิทัศน์เพื่อเผยแพร่ โดยเบื้องต้น สวช. ได้สนับสนุนให้จัดทำค่ายการเรียนรู้และผลิตสื่อสารคดี ใน 2 พื้นที่ ได้แก่ จังหวัดลำปาง และ 3 จังหวัดชายแดนใต้ (ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส) ซึ่งนักเรียนมีความกระตือรือร้นสนใจผลิตสารคดีประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นอย่างมาก
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ฉัตร์ทิพย์ ภูสกูล
เจ้าหน้าที่สื่อสารสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
979/17-21 ชั้น 14 อาคาร เอส เอ็ม ทาวเวอร์
ถ.พหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กทม. 10400
โทร. (02) 278 - 8298
แฟ็กซ์ (02) 298 - 0454 อีเมล์ : [email protected]