ภายในงานมีวิทยากรทั้งจากผู้ร่วมจัดงาน 2 ท่านและวิทยากรในวันงานอีก 2 ท่าน ได้แก่ ดร. ทินสิริ ศิริโพธิ์ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายบริหารและการสื่อสาร สำนักงานเลขาธิการองค์การรัฐมนตรีการศึกษาแห่งเอเซียตะวันออกเฉียงใต้, ศาสตราจารย์ ม.ร.ว. ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ นายกสมาคมวิทยาศษสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์, รศ. ดร. ไพศาล นาคมหาชลาสินธุ์ หัวหน้าทีมคณิตศาสตร์โอลิมปิค ประเทศไทย, คุณเกียรติชัย พงษ์พานิชย์ กรรมการที่ปรึกษา บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และคุณนิชาภา ยศวีร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท รี้ด เทรดเด็กซ์ จำกัด
งานดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อแจ้งให้ทราบถึงความคืบหน้าในการจัดงานและหัวข้อต่างๆ ที่น่าสนใจภายในงาน ตลอดจนทิศทางและบทบาทของวงการการศึกษาไทยในระดับภูมิภาคในยุคโลกาภิวัฒน์ศตวรรษที่ 21 โดยวิทยากรทุกท่านต่างแสดงความยินดีที่มีการจัดงานการประชุมผู้นำการศึกษาเอเซีย ครั้งที่ 3 เพราะเชื่อว่าจะเป็นกลไกสำคัญในการปฏิรูปการศึกษา ครั้งที่ 2 ตามที่รัฐบาลไทยได้ประกาศไปแล้ว เพราะเนื้อหาจะครอบคลุมทุกวิชาและความต้องการ โดยเฉพาะสาขาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาประเทศ
ดร.ทินสิริ ศิริโพธิ์ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายบริหารและการสื่อสาร สำนักเลขาธิการรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือเรียกโดยย่อว่า ซีมีโอ(SEAMEO) กล่าวถึงภารกิจของซีมีโอ ว่า “ เราเป็นหน่วยงานตรงของการส่งเสรมความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีประเทศสมาชิก 11 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา บรูไนดารูสลาม อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม พม่า และติมอร์ เลสเต้ และประเทศสมาชิกสมทบอีก 8 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส นิวซีแลนด์ คานาดา เยอรมันนี เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ และสเปน โดยซีมีโอ จะเป็นกลไกสำคัญ ในการกระจายแนวคิด การศึกษาในภูมิภาค”
“ผู้เรียนควรมีทักษะที่จำเป็นสำหรับยุคศตวรรษที่ 21 อันประกอบด้วย การสื่อสาร การคิดเชิงวิเคราะห์ และการอยู่ร่วมกันในสังคม การประชุมครั้งนี้จะช่วยตอกย้ำความสำคัญของ 3 ทักษะดังกล่าว ตลอดจนการนำไปปรับใช้กับระบบการศึกษา” ดร.ทินสิริ ศิริโพธิ์ กล่าวเสริม
คุณเกียรติชัย พงษ์พานิชย์ กรรมการที่ปรึกษา บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “สภาวะการศึกษาไทยขณะนี้ คะแนนจาก 10 ได้ 3.83 ระดับการจัดการอุดมศึกษา ได้ 4.46 ในอนาคตควรพัฒนาบุคคลให้คิดและวิเคราะห์เป็น มีจริยธรรม และรู้เทคโนโลยีมากขึ้น งานในครั้งนี้จะเป็นตัวแปรสำคัญสำหรับผู้วางนโยบายและผู้ปฏิบัติในการผลักดันความเปลี่ยนแปลงให้สามารถก้าวผ่านหัวเลี้ยวหัวต่อของการปฏิรูปการศึกษา จนนอกจากนี้ ยังจะเป็นการกำหนดกรอบการศึกษาในศตวรรษที่ 21 อีกด้วย”
ม.ร.ว. ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ นายกสมาคมวิทยาศษสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า “หนึ่งในหัวข้อของการสัมมนาภาคปฏิบัติที่ชื่อวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสนุกถือว่าน่าสนใจมากเพราะจะช่วยให้ผู้สอนสามารถกระตุ้นความสนใจและการมีส่วนร่วมของผู้เรียน ซึ่งจะทำให้เด็กๆ สนใจที่จะเรียนรู้วิทยาศษสตร์มากขึ้น ตอนนี้ไทยยังลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ คิดเป็นGDP 0.24% น้อยกว่า สเปนและฟินแลนด์ซึ่งอยู่ที่ 2.6% และ 3.84% ตามลำดับ ต้องการเน้นย้ำให้เด็กเห็นความงดงามและความสนุกของวิทยาศาสตร์ โดยไม่ใช่การท่องจำ แต่เป็นการเรียนและคิดด้วยตัวเอง”
รศ. ดร. ไพศาล นาคมหาชลาสินธุ์ หัวหน้าทีมคณิตศาสตร์โอลิมปิค ประเทศไทย กล่าวว่า “แม้วิชาคณิตศาสตร์จะถูกมองว่าเป็นเรื่องยากสำหรับนักเรียน แต่วิชานี้ก็จำเป็นสำหรับชีวิตประจำวัน ประเทศไทยเองก็ได้รับการยอมรับถึงการเติบโตแบบก้าวกระโดดในเวทีคณิตศาสตร์โอลิมปิค”
“คณิตศาสตร์เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้วิทยาศาสตร์เดินไปข้างหน้า แบ่งเป็นคณิตศาสตร์บริสุทธิ์ เป็นการคิดสูตรใหม่อยู่เรื่อยๆ และคณิตศาสตร์ประยุกต์ ที่นำไปใช้ในการคำนวณ การเงินและการแพทย์ เช่น คำนวณการละลายตัวของยา คนที่เก่งคณิตศาสตร์ไม่จำเป็นต้องเป็นนักวิทยาศาสตร์ แต่มีตรรกะในการนำคณิตศาสตร์มาประยุกต์ใช้ ในอาชีพ เช่น วิศวกรและ แพทย์” รศ. ดร. ไพศาล นาคมหาชลาสินธุ์ กล่าวเสริม
คุณนิชาภา ยศวีร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท รี้ด เทรดเด็กซ์ จำกัด สรุปว่า “การประชุมผู้นำด้านการศึกษาเอเชีย ครั้งที่ 3 ครั้งนี้จะเป็นเวทีกลางเพื่อตอกย้ำถึงความเป็นศูนย์กลางด้านการศึกษาของประเทศไทย ตลอดจนสร้างเครือข่ายในการประสานความร่วมมือสำหรับวงการศึกษาในปัจจุบันและอนาคต นอกจากนี้ การจัดงานนี้พร้อมกับงานเวิลด์ไดแด็ค เอเซีย 2009 จะทำให้ผู้เข้าร่วมได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากเนื้อหาและการแสดงเทคโนโลยีการศึกษาที่ทันสมัย”
การบูรณาการ และการปฏิรูปการศึกษา รอบที่ 2 ของประเทศไทยในยุคโลกาภิวัฒน์ มีสื่อ เทคโนโลยีการสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญ ควรใส่ความสนุกสนานในการเรียนรู้ กระจายการศึกษาไม่จำกัดเฉพาะในห้องเรียน ควรประยุกต์ศาสตร์ต่างๆเข้าด้วยกัน คนที่จะอยู่รอดได้ต้องรอบรู้ บุคลากรในยุคโลกาภิวัฒน์ต้องมีพลวัฒน์สูงมาก และครูผู้สอนควรตามทันความต้องการของเด็ก
พบกับวิทยากรชั้นนำจากทั่วโลกทั้งในส่วนการประชุมและการประชุมเชิงปฏิบัติภายในงาน จัดร่วมกับงานเวิลด์ไดแด็คเอเชีย 2009 งานแสดงสื่อการเรียนการสอน และเทคโนโลยีจากบริษัทชั้นนำกว่า 120 บริษัทจาก 25 ประเทศ เพื่อให้บุคลากรในแวดวงการศึกษากว่า 12,000 รายจากทั่วภูมิภาคได้สัมผัสเทคโนโลยีและความคิดใหม่ๆ จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์และขยายการศึกษาในกลุ่มผู้บริหารสถาบันการศึกษา ผู้ออกหลักสูตร ครู อาจารย์ ฝ่ายจัดซื้อ และผู้เกี่ยวข้อง สู่ระดับโลก
พบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.worlddidacasia.com หรือสอบถามได้ที่ Contact Center โทร. 02 686 7222 หรืออีเมล์ [email protected]