อันดับเครดิตของ KTB มีพื้นฐานมาจากการถือหุ้นใหญ่และการสนับสนุนที่แข็งแกร่งของรัฐบาล รวมทั้งสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งขึ้นของธนาคาร ถึงแม้ว่าธนาคารยังคงมีความเสี่ยงในด้านของผลการดำเนินงานที่อาจปรับตัวลดลงในอนาคต KTB เป็นธนาคารขนาดใหญ่อันดับ 2 ของประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งการตลาด 17% และมีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ที่จัดตั้งโดยธนาคารแห่งประเทศไทยถือหุ้นในสัดส่วน 55% เมื่อพิจารณาถึงขนาดและความสำคัญของ KTB ต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจ รวมทั้งการที่ทางรัฐบาลถือหุ้นใหญ่และมีอำนาจควบคุมธนาคาร ฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้อย่างสูงที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐหากมีความจำเป็น ในขณะที่การที่ทางรัฐบาลถือหุ้นใหญ่และมีอำนาจควบคุมธนาคารมีส่วนช่วยสนับสนุนอันดับเครดิตระยะยาวของ KTB ปัจจัยดังกล่าวข้างต้นอาจทำให้ผลการดำเนินงานของธนาคารอ่อนแอลงได้ เนื่องจากธนาคารต้องสนับสนุนนโยบายของภาครัฐ
ในช่วงครึ่งปีแรกปี 2552 KTB มีกำไรสุทธิ 5.2 พันล้านบาท ลดลง 14% จากครึ่งปีแรกปี 2551 เนื่องจากรายได้เงินปันผลจากกองทุนรวมวายุภักษ์ที่ลดลงอย่างมากและค่าใช้จ่ายที่มิใช่ดอกเบี้ยที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตามธนาคารกลับมีการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่ลดลง ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารลดลงมาอยู่ที่ 3.4% จาก 3.9% ในปี 2551 เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง ประกอบกับรายการระหว่างธนาคารที่มีอัตราผลตอบแทนในระดับต่ำมีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้น KTB มีอัตราส่วนกำไรสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ 0.8% และอัตราส่วนกำไรสุทธิต่อส่วนผู้ถือหุ้นที่ 10.1% ในครึ่งปีแรกปี 2552 ผลการดำเนินงานและคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารอาจปรับตัวลดลงในปี 2552 เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่รุนแรง ทั้งนี้ฟิทช์ได้ประมาณการอัตราการเติบโตของ GDP ของประเทศไทยปี 2552 ที่ติดลบ 3.1% และจะปรับตัวดีขึ้นเป็นบวก 3% ในปี 2553
สำหรับครึ่งปีแรกปี 2552 KTB มีอัตราการเติบโตของสินเชื่อในระดับสูงที่ 4.3% จากสิ้นปี 2551 หรือ 8.6% เมื่อคิดเทียบเป็นอัตราต่อปี ในขณะที่สินเชื่อของธนาคารไทยขนาดใหญ่รายอื่นมีการปรับตัวลดลง แต่อย่างไรก็ตามสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่ของ KTB เป็นสินเชื่อที่ให้แก่หน่วยงานภาครัฐ สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคาร ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2552 เพิ่มขึ้นเป็น 88.7 พันล้านบาท หรือ 8.1% ของสินเชื่อรวม จาก 86 พันล้านบาท หรือ 8.1% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2551 อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ KTB ยังคงอยู่ในระดับต่ำ (41.2%) สะท้อนถึงความเสี่ยงของการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่อาจเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 6 — 12 เดือนข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอ
การระดมเงินทุนและสภาพคล่องของ KTB ยังคงมีเสถียรภาพ เนื่องจากธนาคารเป็นหนึ่งในธนาคารที่มีฐานลูกค้าเงินฝากที่แข็งแกร่งที่สุดในประเทศไทย โดยพนักงานรัฐวิสาหกิจและข้าราชการส่วนใหญ่จะมีเงินฝากกับธนาคาร อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากและอัตราส่วนสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องต่อสินทรัพย์รวมของธนาคารอยู่ในระดับ 88% และ 26.1% ตามลำดับ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2552 อัตราส่วนเงินกองทุนของ KTB อยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเช่นกัน โดยธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่ 9.8% และมีอัตราส่วนเงินกองทุนรวมที่ 15.5% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2552 อย่างไรก็ตามการเติบโตของสินเชื่อในระดับที่สูงเพื่อสนับสนุนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่สูงขึ้น อาจส่งผลให้อัตราส่วนเงินกองทุนของธนาคารลดลงได้ใน 2 — 3 ปีข้างหน้า
ติดต่อ
พชร ศรายุทธ, Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4759/61
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุน หรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฎข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน