นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ประธานคณะทำงานติดตามละสนับสนุนนโยบายโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล กล่าวว่า รพสต. เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นมิติใหม่ของการดูแลสุขภาพเชิงรุกและการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยในวันที่ 1 ตุลาคม 2552 จะเกิด รพสต.ขึ้น 1,000 แห่ง ซึ่งจะครอบคลุมทุกอำเภอของประเทศ และภายในปี 2555 จะมี รพ.สต.จำนวน 9,000 แห่ง
รพสต.นาบัว-ตำบลสร้างแป้น อำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี เป็นสถานีอนามัยต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในการดูแลสุขภาพเชิงรุกให้กับประชาชนในท้องถิ่น ด้วยการปรับเปลี่ยนแนวคิด รูปแบบและวิธีการให้บริการด้านสุขภาพแก่สมาชิกในชุมชน นางจรูญศรี ปัญญาดี หัวหน้าสถานีอนามัยฯ เปิดเผยว่าเมื่อได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบจากฝ่ายตั้งรับรอให้คนไข้เข้ามารับการรักษา เป็นบทบาทเชิงรุก “ชุมชนคือที่ทำงาน” ทำความเข้าใจกับชาวบ้านให้เกิดความมั่นใจในการรักษาพยาบาลของสถานบริการในพื้นที่ ทัศนคติของชาวบ้านก็เปลี่ยนไปโดยหันมาใช้บริการที่สถานีอนามัยมากขึ้น
“เน้นทำความเข้าใจ ให้ความมั่นใจว่าเราสามารถดูแลได้ไม่ต่างจากแพทย์ ยาก็เหมือนกัน ถ้าป่วยหนักก็มีระบบช่วยเหลือส่งต่อไปยังโรงพยาบาล และการให้บริการของเราก็รวดเร็วกว่าไม่ต้องรอคิวนาน มีการอำนวยความสะดวกถึงในหมู่บ้าน โดยใช้ อสม.นอกจากนี้เราพบว่าอาการป่วยบางอย่างไม่เกิดจากโรค แต่เกิดจากความเครียดหรือสภาพแวดล้อม พอเรามาเยี่ยมบ้านว่ามีสภาพที่แท้จริงเป็นอย่างไร ก็จะพบต้นเหตุแล้วสามารถแก้ปัญหาของชาวบ้านได้ตรงจุดทั้งหมด” นางจรูญศรีกล่าว
นายรุ่งเรือง ปัณณราช สาธารณสุขอำเภอเพ็ญ กล่าวถึงแนวคิดที่จะดึงคนไข้ให้กลับมาอยู่ที่บ้าน โดยให้เขาได้มีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพตัวเอง และทำให้แพทย์อยู่ใกล้ประชาชนมากที่สุด
“เวลาออกเยี่ยมบ้านซักประวัติตรวจร่างกาย แล้วคนไข้ต้องการคำปรึกษาจากแพทย์ เราก็นำระบบเวบแคมที่ต่อกับโน๊ตบุ๊คส์มาใช้ติดต่อกับหมอ คนไข้สามารถพูดคุยกับหมอได้ทันที หมอก็จะสั่งการรักษาคนไข้ ทำให้เกิดความมั่นใจ อุ่นใจ ประทับใจ แทนที่เขาจะเดินทางไปโรงพยาบาล ซึ่งเสียทั้งค่าใช้จ่าย เสียเวลา ซึ่งตรงนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้ประชาชนของเรามีสุขภาพที่ดีขึ้น” สาธารณสุขอำเภอเพ็ญระบุ