นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ส.ก.เขตมีนบุรี ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญเพื่อพิจารณาญัตติขอความเห็นชอบให้กรุงเทพมหานครขยายเวลาเบิกจ่ายเงินเหลื่อมปีไว้จ่ายในปีงบประมาณ พ.ศ 2553 ของหน่วยงาน กทม.โดยมีสมาชิกสภากรุงเทพมหานครพร้อมผู้บริหาร กทม. และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเลขานุการสภากรุงเทพมหานคร กองประชาสัมพันธ์ กทม. เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 5-6 สภา กทม.
คณะกรรมการฯ ตั้งข้อสังเกต เสนอ สภา กทม. ชี้ให้ผู้บริหาร กทม. เห็นถึงสาเหตุทำโครงการล่าช้า
ในที่ประชุมมีการสรุปผลการพิจารณารายการที่ขอขยายเวลาเบิกจ่ายเงินเหลื่อมปี 2553 รวมถึงข้อสังเกตที่ทางคณะกรรมการฯเตรียมรายงานต่อที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาทิ งานก่อสร้างปรับปรุงอาคารหรือถนนที่มีการปรับลดหรือเพิ่มเนื้องาน และต้องมีการแก้ไขสัญญา ควรเร่งรัดดำเนินการแก้ไขสัญญาให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อไม่ให้มีการเบิกจ่ายเงินเหลื่อมปี ทั้งกรณีป้ายโฆษณาที่ผิดกฎหมาย ต้องเคร่งครัดในการดำเนินการตามกฎหมายและปรับรายวัน ซึ่งจะไม่ต้องสูญเสียงบประมาณเข้าไปดำเนินการรื้อย้าย ทั้งงานด้านการโยธา ควรมอบหมายให้หน่วยงานที่มีความรู้ ความสามารถและมีประสบการณ์เฉพาะโดยตรงเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ เช่น งานปรับปรุงทัศนียภาพบนทางเท้าถนนราชดำริ ถนนพระรามที่ 1 และถนนเพลินจิต ที่เป็นงบประมาณของสำนักผังเมือง หรืองานก่อสร้างปรับปรุงอาคารของโรงเรียนที่เป็นงบประมาณของสำนักการศึกษา ควรมอบหมายให้สำนักการโยธาหรือสำนักการเขตดำเนินการแทน รวมถึงการพิจารณาจัดสรรงบประมาณด้านการก่อสร้าง ต้องมีหนังสือที่แสดงให้เห็นว่าหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ได้รับทราบแล้วว่าจะมีการดำเนินงานก่อสร้างในพื้นที่ และหากเป็นโครงการที่มีผลกระทบต่อประชาชนจะต้องมีการจัดทำประชาพิจารณ์ก่อนดำเนินการ ทั้งการก่อสร้างที่ติดปัญหาการรุกล้ำที่สาธารณะ ควรดำเนินการกับผู้รุกล้ำให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาภายหลัง และการขุดลอกและดูดลอกดินเลน ควรระบุสัญญาให้ชัดเจนว่าผู้รับจ้างจะต้องนำเลนไปทิ้งที่ใด และผู้ควบคุมงานจะต้องติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิด อีกทั้งการก่อสร้างที่ประสบปัญหาวัสดุขึ้นราคา และจำเป็นต้องของบประมาณเพิ่มในวงเงินที่สูงมาก เห็นควรยกเลิกและให้เสนอของบประมาณมาใหม่ รวมถึงการประมาณราคากลางในการก่อสร้างหรือปรับปรุงอาคารเรียน ควรเพิ่มค่าอุปสรรคของงานไว้ในงบประมาณด้วย เช่น โรงเรียนที่มีสถานที่คับแคบทำให้เป็นอุปสรรคหน้างาน หรือโรงเรียนที่มีทางเข้าออกแคบมากทำให้เป็นอุปสรรคต่อการขนส่งวัสดุก่อสร้าง ทั้งโครงการรถประจำทางด่วนพิเศษ (BRT) ไม่ควรตั้งงบประมาณไว้รวมกันทุกเส้นทาง แต่ควรดำเนินการโดยแยกสัญญาตามเส้นทางเพื่อความรวดเร็วในการดำเนินงาน
ย้ำ ให้ผู้บริหารใส่ใจและติดตามในโครงการที่เกิดปัญหาและจำเป็นต่อการแก้ปัญหาประชาชน
ประธานคณะกรรมการฯ กล่าวว่า การเสนอข้อสังเกตดังกล่าว หวังให้ผู้บริหารใส่ใจและติดตามในโครงการที่มีปัญหาและติดอุปสรรคในการดำเนินงาน ซึ่งจะต้องคำนึงต่อความจำเป็นในการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นหลัก ดังนั้นผู้บริหารควรเสนอโครงการที่มีความเหมาะสมกับงบประมาณที่ได้มา เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการบริหารงานและเป็นการประสิทธิภาพในโครงการหลักสอดคล้องกับนโยบายกรุงเทพมหานครต่อไป
ทั้งนี้ในวันพุธที่ 23 กันยายน 2552 คณะกรรมการวิสามัญฯจะทำการเสนอผลการพิจารณารายงานต่อที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร เพื่อขอความเห็นชอบ ก่อนนำให้ผู้บริหารดำเนินการต่อไป พร้อมกันนี้จะมีการอภิปรายของสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ในประเด็นโครงการที่หน่วยงาน กทม. ได้เสนอขอขยายเวลาเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 2553 อีกด้วย