นายศักดิ์ชัย พัวโสพิศ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสวัสดิการขนส่งทางบก กรมการขนส่งทางบก ได้กล่าวถึงการออกใบอนุญาตขับขี่ว่า การออกใบอนุญาตขับขี่ให้เยาวชนอายุ 15 ปี โดยได้กำหนดกำลังเครื่องยนต์รถจักรยานยนต์ไว้ที่ 110 ซีซี ส่วนการออกใบอนุญาตขับขี่ให้เยาวชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ไม่มีการจำกัด ตรงนี้ทำให้เป็นปัญหาในการบังคับใช้กฎหมาย เพราะเรามักจะพบว่า เยาวชนอาจฝ่าฝืนไปขับรถในขนาดที่ใหญ่กว่า
นายศักดิ์ชัยได้ขยายความถึงเหตุผลที่กำหนดอายุขั้นต่ำไว้ที่ 15 ปี อันเนื่องจากข้อเท็จจริงปรากฏว่า เด็กอายุไม่ถึง 15 ปีจำนวนมากได้ขับขี่รถอยู่แล้ว ฉะนั้นการเริ่มที่อายุ 15 ปี เป็นช่วงวัยที่มีวุฒิภาวะพอสมควร เพื่อดึงให้เข้ามาขอรับใบอนุญาต และดึงมาผ่านกระบวนการอบรมที่ถูกต้อง หากกำหนดอายุไว้ที่ 18 ปี ก็จะฝืนข้อเท็จจริงที่เด็กจำนวนมากที่มีอายุน้อยกว่าก็ยังคงฝืนใช้รถจักรยานยนต์อยู่ดี ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นผลร้ายกว่า เพราะเขาจะไม่มีโอกาสได้รับการอบรมดังกล่าว
ในส่วนการเสริมสร้างความรู้การขับขี่ปลอดภัยให้แก่เยาวชน ผู้แทนกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า กรมขนส่งทางบกได้จัดกิจกรรมสนามจราจรเยาวชนฯ เพื่ออบรมการขับรถจักรยานยนต์ให้แก่เด็กนักเรียนในชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 โดยกิจกรรมแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ในส่วนการการอบรมและการให้ทดลองขับจริง เพื่อให้เด็กมีทักษะในการขับขี่ และเรียนรู้กฎจราจร ซึ่งตั้งเป้าว่าในปี 2552 จะมีนักเรียน 570 รุ่น คิดเป็นจำนวน 85,500 คน
ด้านความเข้มงวดของกฎหมาย ควรมีการบังคับอย่างจริงจัง เข้มงวด เน้นในเรื่องการป้องกันอุบัติเหตุ การขับรถหวาดเสียว ยกตัวอย่างการขับรถย้อนศรซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ อย่างไรก็ตาม ต้นแบบในการขับขี่ปลอดภัยสำหรับเยาวชนที่สำคัญคือครอบครัว พ่อแม่หรือคนใกล้ชิด ซึ่งเด็กจะเรียนรู้จากคนใกล้ตัวโดยอัตโนมัติ ยิ่งมีการบอกสอน ก็จะยิ่งเป็นการเสริมสร้างการขับรถที่ดี และเกิดความปลอดภัยให้กับเยาวชน
สอดคล้องกับความคิดเห็นของนางณัฐกานต์ ไวยเนตร สำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณะสุข ผู้ทำการศึกษาความเข้าใจและการปรับปรุงกระบวนการใบขับขี่รถจักรยานยนต์ในกลุ่มอายุ 15-20 ปี: กรณีการศึกษา สถาบันการศึกษาจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งให้แสดงความเห็นว่า พ่อแม่ควรต้องเป็นผู้ที่ทำให้เยาวชนเข้าสู่กระบวนการขับขี่ปลอดภัย และควบคุมดูแลการขับขี่ของเยาวชน ซึ่งหากเยาวชนผิดกฎหมาย พ่อแม่ก็น่าจะมีบทลงโทษด้วย ทั้งนี้ครอบครัวและโรงเรียนจะเป็นพื้นฐานตั้งต้นที่สำคัญในการสร้างจิตสำนึกให้แก่เยาวชน
“อยากย้อนไปขับขี่จักรยาน ซึ่งคงทำไม่ได้ แต่จะทำอย่างไรให้อยู่ร่วมกับมอเตอร์ไซค์ได้” ณัฐกานต์ กล่าวแสดงความคิดเห็น ณัฐกานต์ กล่าวด้วยว่า ในส่วนงานวิจัยจากสถาบันศึกษาที่พิษณุโลก ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลจากกลุ่มวัยรุ่นที่มีการขับขี่ที่ไม่ดีนัก พบว่า เมื่อจำนวนรถมากขึ้น โรงพยาบาลก็มีสถิตการเกิดอุบัติเหตุ บาดเจ็บ และเสียชีวิตมากขึ้นด้วย และผู้ขับขี่ส่วนใหญ่ก็มือใหม่ประสบการณ์ยังไม่มี วุฒิภาวะอาจไม่พอ กระบวนการด้านใบขับขี่ที่นำมาใช้ในการควบคุมเพื่อความปลอดภัยในระยะแรกๆ จึงต้องควบคุมทั้งก่อนหลังออกใบขับขี่ควร นอกจากนี้ยังพบตัวอย่างเด็กอายุ 7 ปี ขับขี่มอเตอร์ไซค์ได้ ซึ่งตรงนี้มีความเสี่ยงสูงมาก เพราะเยาวชนได้สัมผัสปัจจัยเสียงตั้งแต่อายุยังน้อยๆ
ณัฐกานต์ กล่าวถึงข้อเสนอการจัดรูปแบบระบบใบอนุญาตขับขี่เพื่อสนับสนุนให้เกิดผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่มีทักษะว่า ในระยะสั้นควรพัฒนากระบวนการเข้าถึงการอบรมการขับขี่ปลอดภัยที่ได้มาตรฐาน มีกระบวนการวิจัยเพื่อหาข้อยุติว่า ควรเข้าสู่กระบวนการเรียนการอบรมเมื่อใดที่จะเกิดผลดีที่สุด และมีมาตรการด้านกฎหมายหรือข้อบังคับที่ทำให้ผู้ขับขี่มือใหม่จำเป็นต้องผ่านการอบรมที่เป็นมาตรฐานเดียวกันในช่วงอายุเหมาะสม ในส่วนการสร้างความยั่งยืนโรงเรียนอบรมขับขี่ปลอดภัย ควรเป็นความรับผิดชอบของผู้ผลิตและจำหน่ายรถจักรยานยนต์ที่จัดอบรมให้กับผู้ชื้อหรือผู้ใช้โดยรัฐสนับสนุนในรูปของการลดหย่อนภาษี
ทั้งนี้ ณัฐกานต์นำเสนอเพิ่มเติมว่า การเก็บเงินภาษีมอเตอร์ไซค์มาทำกองทุนให้เกิดการศึกษาอบรมให้เด็กอย่างเป็นระบบเป็นสิ่งที่ควรดำเนินการ เพราะภาษีจากการซื้อขายมอเตอร์ไซค์เราก็อาจจะจัดให้เป็นเหมือนภาษีบาปได้เหมือนกัน เพราะทำให้เกิดสถิติการประสบอุบัติเหตุและการสูญเสียเป็นจำนวนมาก
ส่วนกรมการขนส่งทางบกควรพัฒนาบทบาทเป็นผู้ตรวจสอบ พัฒนามาตรฐาน รับรองมาตรฐานและประเมินมาตรฐาน ของระบบใบอนุญาตในทุกขั้นตอนมากกว่าเป็นผู้จัดอบรม และควรจัดกระบวนการให้ความรู้ด้านกฎหมายข้อปฏิบัติข้อบังคับและปลูกฝังสำนึกความปลอดภัยในระบบการเรียนการสอนปกติให้เป็นระบบ
ด้านนายสุทัศน์ ชูรักษ์ ผู้แทนบริษัท เอพีฮอนด้า จำกัด ได้เสนอทางออกเพื่อช่วยลดอุบัติเหตุ คือการจัดตั้งสถานสอนขับรถเอกชน เพื่อเป็นอีกทางเลือกในสร้างความปลอดภัยบนท้องถนน โดยกล่าวว่า ศูนย์ฝึกขับขี่ปลอดภัยฮอนด้า ถือเป็นโรงเรียนสอนขับรถจักรยานยนตร์สำหรับเยาวชน ที่ได้รับการอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบก ให้มีการสอนในหลักสูตรสอบใบอนุญาต 15 ชั่วโมง ซึ่งดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2532 ปัจจุบันศูนย์ฝึกขับขี่ปลอดภัยฮอนด้ามีทั้งหมด 10 แห่งทั่วประเทศ โดยมีเป้าเพื่อความปลอดภัยและคุณภาพของผู้ขับขี่ ทั้งนี้ผลการศึกษาพบว่าการจัดการอบรบช่วยลดลงอุบัติเหตุลงกว่า 30 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ตาม จากสถิติของกรมการขนส่งทางบก จำนวนรถจักรยานยนต์ในประเทศไทยมี 16 ล้านคัน แต่ที่มีใบขับขี่มีเพียง 11 ล้านใบ และศูนย์ฝึกขับขี่ปลอดภัยฮอนด้ามีผู้ผ่านการอบรมไปแล้ว 9,000 กว่าคน ถือว่ายังน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนทั้งหมด นอกจากนี้ปัจจุบันทางศูนย์มีการเปิดอบรมฟรี แต่ไม่ค่อยมีคนมาเข้าอบรม เพราะคนส่วนใหญ่มักติดปัญหาเรื่องเวลา นายสุทัสน์กล่าวทิ้งท้าย