กรมวิทยาศาสตร์บริการ จัดฟรีเสวนาเรื่อง “ผลิตภัณฑ์ปลอดภัย...สินค้าไทยสู่สากล”

จันทร์ ๒๑ กันยายน ๒๐๐๙ ๑๐:๓๐
กรมวิทยาศาสตร์บริการ หนุนรัฐเสริมขีดความสามารถการแข่งขันด้านส่งออก จัดฟรีเสวนาเรื่อง “ผลิตภัณฑ์ปลอดภัย...สินค้าไทยสู่สากล” ระดมวิทยากรทั้งไทยและต่างประเทศ หวังช่วยผู้ประกอบการให้ผลิตสินค้าได้มาตรฐานปลอดภัย มุ่งทำลายกำแพงกีดกันการค้าโลก

นายปฐม แหยมเกตุ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดโครงการเสวนาเรื่อง “ผลิตภัณฑ์ปลอดภัย...สินค้าไทยสู่สากล” โดยการระดมวิทยากรจากทุกสาขาอุตสาหกรรมทั้งไทยและต่างประเทศ เพื่อขานรับนโยบายรัฐบาลร่วมเปิดแนวรุกด้านการส่งออก และมุ่งช่วยผู้ส่งออกได้ผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานโลกด้านความปลอดภัย ซึ่งมีผู้ประกอบการ ผู้ส่งออก และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเสวนา คับคั่งกว่า 350 ท่าน ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 6 อาคารสถานศึกษาเคมีปฏิบัติ กรมวิทยาศาสตร์บริการ ถนนพระราม 6 เมื่อเร็วๆนี้

โดยอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ ได้กล่าวคำบรรยายพิเศษในช่วงเปิดการเสวนาว่า การวิเคราะห์ทดสอบไม่ใช่เรื่องยุ่งยากหรือจะเพิ่มภาระให้ผู้ประกอบการแต่อย่างไร หากแต่มีความจำเป็นที่ผู้ประกอบการจะต้องตระหนักถึงการพัฒนาของโลกยุคใหม่ในสังคมปัจจุบันนี้ว่า ทุกภาคส่วนของสังคมกำลังต้องการมาตรฐานในการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น ประชาชนต้องการความปลอดภัยในการอุปโภคบริโภคสินค้าที่ได้มาตรฐาน ผู้ผลิตในภาคการส่งออกก็ต้องการอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อเป็นกองหลังในการสนับสนุนให้สินค้าไทย สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างไม่เป็นรองใคร ในฐานะที่ กรมวิทยาศาสตร์บริการ เป็นองค์กรภาครัฐที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศและได้รับการยอมรับในฐานะเป็นหน่วยงานวิเคราะห์ทดสอบด้านวิทยาศาสตร์ที่มีเครื่องมือพร้อมที่สุด ดีที่สุด ครบวงจรที่สุดในประเทศไทย สามารถให้บริการหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ในอัตราค่าธรรมเนียมบริการที่ยุติธรรม ทำให้ผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุนในเชิงพาณิชย์ได้เป็นอย่างดี รวมทั้งยังสามารถเป็นแหล่งข้อมูลในเรื่องของมาตรฐานความปลอดภัย

หลังจากนั้น เป็นการบรรยายของ ดร. โธมัส กูเด้ (Dr. Thomas Gude) ผู้บริหารการบริการด้านทดสอบคุณภาพแห่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (SQTS — Swiss Quality Testing Services) ซึ่งได้เดินทางมาบรรยายเกี่ยวกับนวัตกรรมและการบริหารจัดการบรรจุภัณฑ์อาหารปลอดภัยในหัวข้อ “Challenges for the Food Industry in Managing Packaging Safety, Innovation and Compliance Needs” ส่วนในการเสวนาภาคบ่าย เรื่อง“ผลิตภัณฑ์ปลอดภัย...สินค้าไทยสู่สากล” โดยมี น.ส.ชนิตนันท์ ปุณณะนิธิ พิธีกรหญิง จาก TNN ทรูวิชั่นส์ เป็นผู้ดำเนินรายการได้มีวิทยากรจากภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมเสวนา ได้แก่ นายฉัตรรัตน์ หิรัญเชาวิรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตรีอรรถบูรณ์ จำกัด ซึ่งกล่าวเน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยในปัจจุบันกลายเป็นเรื่องสำคัญ เพราะไม่ใช่เพียงในเรื่องของอาหารที่คนจะกินเข้าปากเท่านั้น แต่ทุกวันนี้ทั่วโลกตื่นตัวเรื่องความปลอดภัยไปถึงแม้กระทั่งหีบห่อบรรจุภัณฑ์ใช้วัสดุแบบไหน สลากติดป้ายยี่ห้อของสินค้า ใช้หมึกพิมพ์ที่เป็นอันตรายหรือไม่ ของเล่นของลูกๆ ข้าวของเครื่องใช้ที่เป็นพลาสติค หรือแม้กระทั่งถังขยะใต้โต๊ะทำงานของเรา ทุกๆอย่างได้รับความสนใจว่ามีความปลอดภัยได้มาตรฐานเพียงพอที่จะตั้งวางอยู่ในครัวเรือนของประชาชนหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้หน่วยงานรัฐบาลสามารถเข้ามารองรับการพัฒนาของผู้ประกอบการได้ ให้อุตสาหกรรมของไทยก้าวไปได้มาตรฐานเทียบเท่ากับสากล โดยการให้บริการเหมือนกับที่กรมวิทยาศาสตร์บริการกำลังดำเนินการอยู่

ส่วน นายไพบูลย์ พลสุวรรณา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร และประธานสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือ กล่าวถึงภาพรวมตลาดอาหารของไทยว่า บ้านเราสร้างงานสร้างเงินจากอุตสาหกรรมอาหารอย่างเดียว ปีนี้ 720,000 ล้านบาท ถือเป็นอันดับ 7 ของโลก ในขณะที่ อันดับ 1 หนึ่งคือยุโรป อันดับ 2 สองคืออเมริกา ซึ่งนับเป็นเรื่องน่าเหลือเชื่อที่ประเทศเหล่านั้นสามารถทำได้มากกว่าประเทศเกษตรกรรมอย่างบ้านเรา นั่นก็เป็นเพราะความใส่ใจเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของอาหารที่ส่งออก ซึ่งไทยควรจะทำความเข้าใจ และเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัย ให้ได้ทัดเทียมกับInternational Food Standard ไม่ใช่ทำกันแค่ Asean Standard หรือ Private Standard อย่างที่เป็นอยู่

ต่อมา นายชัยชาญ เจริญสุข ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท ศรีไทยซุปเปอรแวร์ จำกัด(มหาชน) ได้กล่าวถึงเรื่อง Globalization ซึ่งเป็นกระแสในปัจจุบันนี้ว่า ปัจจัยที่ทำให้มีการพัฒนาผลิตสินค้าให้มีมาตรฐานและคุณภาพที่ดี เป็นเพราะประชากรทั่วโลกหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น มีการขยายตัวของเศรษฐกิจและการย้ายฐานการผลิตจากยุโรปและอเมริกา ทำให้มาตรฐานเหล่านี้ได้รับการยอมรับไปทั่วโลก รวมทั้งมีองค์ประกอบใน supply chain เป็นตัวผลักดันให้ทำสินค้าที่มีคุณภาพมากขึ้นเพื่อการแข่งขันที่สูงขึ้นในตลาดโลก ดังนั้น คนไทยจะสนใจแต่อาหารที่กินเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้แล้ว เพราะทุกวันนี้ภาชนะบรรจุภัณฑ์ ก็ได้รับความสนใจไม่น้อยไปกว่าตัวอาหาร ซึ่งถ้าผู้ประกอบการหรือผู้ส่งออก จะหันมาเร่งพัฒนาปรับปรุงเทคโนโลยีทางด้านวิทยาศาสตร์ให้รองรับการผลิตเพื่อการส่งออก ก็จะเป็นบันไดไปสู่การแข่งขันในเวทีการค้าโลกได้อย่างมั่นคงขึ้น

หลังจากที่มีการนำเสนอข้อคิดเห็นจากภาคเอกชนกันไปแล้ว ก็มาถึงทางฝ่ายของภาครัฐบ้าง โดยนางสุมาลี ทั่งพิทยกุล ผู้อำนวยการวิทยาศาสตร์ชีวภาพ กรมวิทยาศาสตร์บริการ ได้กล่าวถึงเรื่องกฎระเบียบด้านความปลอดภัยของบรรจุภัณฑ์ ซึ่งแตกต่างกันไประหว่างภูมิภาคต่างๆ เช่น ญี่ปุ่น ยุโรป อเมริกา หรือแม้แต่ในอาเซียนด้วยกันเอง ต่างก็มีกติกาที่มีแนวโน้มจะเข้มงวดมากขึ้นเรื่อย ในขณะที่ไทยเราเองก็พยายามมีการควบคุมมาตรฐานของบรรจุภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานโลก ทุกวันนี้จึงไม่ใช่แค่กำหนดชนิดของวัตถุที่จะนำมาทำบรรจุภัณฑ์เท่านั้น แต่ยังได้ก้าวหน้าไปถึงขนาดควบคุมสารปนเปื้อนในเนื้อบรรจุภัณฑ์ หรือความสามารถในการทนทานต่อการทำละลายของสารอื่นๆ การส่งออกหรือนำเข้าก็ต้องมีใบรับรองมาตรฐานของภาชนะบรรจุจากหน่วยงานภาครัฐที่คอบกำกับดูแลอยู่มากมาย ซึ่งถ้าผู้ประกอบการจะเร่งทำตลาด ก็ต้องหันมาใส่ใจกับกฎกติกาเหล่านี้ที่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอยู่เกือบจะตลอดเวลาเพื่อก้าวตามให้ทันโลก

และวิทยากรท่านสุดท้ายคือ ดร.มาณพ สิทธิเดช นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ กรมวิทยาศาสตร์บริการ ได้กล่าวถึงความพร้อมของกรมวิทยาศาสตร์บริการในปัจจุบันนี้ มีความเพียบพร้อมสามารถรองรับให้บริการกับภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น การทดสอบสารอินทรีย์เคมีต้องห้ามในชิ้นส่วนวัสดุและผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก การวิเคราะห์ VOC Emission ในวัสดุชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ การวิเคราะห์สารอันตรายในของเด็กเล่น การให้บริการทดสอบสารต้องห้ามในเครื่องสำอางโดยกรมวิทยาศาสตร์บริการ ซึ่งผู้ประกอบการที่มาใช้บริการ สามารถนำผลการวัดของหน่วยงานราชการไปอ้างอิงได้ เพราะมีมาตรฐานเดียวกับที่ทั่วโลกต้องการ และซึ่งมีไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่จะทำได้ขนาดนี้

การจัดโครงการเสวนา “ผลิตภัณฑ์ปลอดภัย...สินค้าไทยสู่สากล” ในครั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์บริการ ได้จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้ ข้อมูล และความเข้าใจที่ถูกต้อง ต่อเรื่องของมาตรฐานการวิเคราะห์ทดสอบเพื่อความปลอดภัย สำหรับกลุ่มผู้ประกอบและกลุ่มผู้ส่งออกที่ต้องการความรู้และช่องทางการให้บริการจากกรมวิทยาศาสตร์บริการ รวมทั้งประชาชนทั่วไปที่สนใจเรื่องความปลอดภัยของสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งผู้สนใจสามารถติดต่อขอใช้บริการได้ หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.dss.go.th

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม: ประชาสัมพันธ์กรมฯ ธารทิพย์ เกิดในมงคล / 02-201 7097 [email protected] www.dss.go.th

ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์กรมฯ: บริษัท ลักขณา คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด โทร. 02-377 0127-8 โทรสาร 02 -375 2670 www.lcom.co.th

กรรมการผู้จัดการ: ลักขณา จำปา / [email protected] / [email protected]

ฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ : สุวรรณา ตปนียากรกช / [email protected]

ฝ่ายสื่อมวลชนสัมพันธ์: นิภาพร ดวงกุลสา / [email protected]

มาลี จิระเรืองฤทธิ์ / [email protected]

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๐:๓๔ ดรีมมี่ ร่วมด้วยช่วยฟื้นฟูผู้ประสบภัยหลังน้ำลด สมทบทุน-มอบสินค้าอุปโภคบริโภค และของใช้จำเป็น รวมมูลค่ากว่า 300,000
๐๕ พ.ย. กทม. เฝ้าระวังฝนฟ้าคะนอง-ลมกระโชกแรง เข้มตรวจสอบความแข็งแรงอาคารและป้ายโฆษณา
๐๙:๓๗ EXIM BANK แถลงผลการดำเนินงานเดือนมกราคม-กันยายน 2567 ปลดล็อกศักยภาพผู้ประกอบการไทยสู่เวทีโลก สร้างโลกเติบโตยั่งยืน
๐๙:๑๐ ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น ร่วมออกบูธในงาน Pet Fair Southeast Asia 2024 นำเสนอนวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง
๐๙:๒๗ มิลเลนเนียม ออโต้ กรุ๊ป กระตุ้นความเร้าใจเต็มสูบ กับ BMW 220i Gran Coupe M Sport ฟรีชุดแต่ง M Performance มูลค่าเกือบ 100,000 บาท จัดให้ในราคาพิเศษ 1.99 ล้านบาท เฉพาะที่โชว์รูม BMW Millennium
๐๙:๓๖ CMC ตอกย้ำความสำเร็จส่งท้ายปี ในงานมหกรรมบ้านและคอนโด ครั้งที่ 46 ยอดจอง 145 ยูนิต มูลค่า 320 ล้านบาท
๐๙:๕๑ โพชงพลัส เครื่องดื่มสมุนไพร คว้ารางวัล BUSINESS PRODUCT OF THE YEAR AWARDS 2024
๐๙:๓๒ หุ้นกู้ RT ครั้งที่ 1/67 วันแรกกระแสตอบรับดี นักลงทุนสถาบัน-รายใหญ่ จองซื้อคึกคัก
๐๙:๔๘ อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ เปิดปรากฏการณ์ช้อป 'GREEN RETAIL STORE' สาขาสระบุรี แห่งที่ 33 ชู 'Zero Energy Building'
๐๙:๔๑ 8 หน่วยงานเซ็น MOU เพื่อดำเนินการร่วมกันด้านพลังงาน คมนาคม และสภาพภูมิอากาศ ภายใต้โครงการ TGC EMC ของเยอรมนี