นพ.จอม ชุมช่วย จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลมนารมย์ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับภาวะแอสเพอร์เกอร์ซินโดรมไว้อย่างน่าสนใจว่า เมื่อปี พ.ศ. 2483 มีการรายงานถึงกลุ่มอาการผิดปกติทางพฤติกรรมและพัฒนาการของเด็ก โดยคุณหมอฮานส์ แอสเพอร์เกอร์ (Hans Asperger) ที่พบลักษณะของกลุ่มอาการเหล่านี้ที่คนไข้ของเขาซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กผู้ชายที่มีความเฉลียวฉลาด และมีระดับสติปัญญาอยู่ในเกณฑ์ปกติ ด้านภาษาสามารถพูดคุยสื่อสารปกติได้ แต่เด็กเหล่านี้มีปัญหาในด้านทักษะการเข้าสังคมร่วมกับการมีพฤติกรรมหมกมุ่น มีความสนใจซ้ำซาก
นพ.จอม กล่าวว่า สำหรับสาเหตุของโรคแอสเพอร์เกอร์นั้นปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน แต่มีผู้เชี่ยวชาญหลายท่านเชื่อว่ามีหลายปัจจัยร่วมกัน ทั้งการทำงานที่ผิดปกติทางสมอง พันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม แต่ยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัด และในปัจจุบันยังไม่มียาใดที่ใช้รักษาอาการเหล่านี้ให้หายเป็นปกติ แต่พบว่าเด็กเหล่านี้ส่วนใหญ่ เมื่อได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและให้ความรู้ความเข้าใจ และคำแนะนำแก่พ่อแม่ รวมทั้งทางโรงเรียน ในการปรับตัวและการปรับพฤติกรรมของเด็ก ก็สามารถช่วยให้เด็กเหล่านี้อยู่ร่วมในสังคมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข และประสบความสำเร็จได้ดี
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นอธิบายและให้คำแนะนำถึงพฤติกรรมและลักษณะอาการของเด็กที่เป็นแอสเพอร์เกอร์ โดยสามารถแบ่งออกเป็น 3 ด้าน คือ
1. ด้านภาษา คือ จะมีการพูดและทักษะการใช้ภาษาอยู่ในเกณฑ์ปกติ เด็กอาจพูดได้ถูกหลักไวยากรณ์ แต่ไม่สามารถเข้าใจเนื้อหาที่ลึกซึ้งหรือความหมายโดยนัยที่แฝงอยู่ เช่น มุกตลก คำเปรียบเปรย และคำประชดประชันต่างๆ เป็นต้น
2. ด้านสังคม จะสังเกตได้ว่าเมื่อเด็กต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ อาจมีพฤติกรรมการแสดงออกที่ดูแปลกกว่าเด็กวัยเดียวกัน เช่น ไม่ค่อยมองหน้าหรือสบตาเวลาพูดคุย แยกตัวอยู่คนเดียว ไม่ค่อยสนใจบุคคลรอบข้าง เล่นกับเด็กคนอื่นไม่ค่อยเป็น ไม่รู้จักการทักทาย พอเจอปุ๊บอยากถามอะไร อยากรู้อะไรก็จะพูดโพล่งออกมา ไม่มีการเกริ่นนำ ถามเรื่องที่สนใจโดยไม่เสียเวลา และไม่ค่อยรู้จักกาลเทศะ เรื่องที่พูดคุยมักเป็นเรื่องของตนเองมากกว่าเรื่องอื่นๆ ไม่แสดงความใส่ใจหรือสนใจเรื่องราวของคนอื่น ขาดความเข้าใจหรือเห็นใจผู้อื่น และมักชอบพูดซ้ำๆ เรื่องเดิมๆ ที่ตนเองสนใจ
3. ด้านพฤติกรรม เด็กจะมีความสนใจเฉพาะเรื่องและชอบทำอะไรซ้ำๆ เช่น ถ้าเขามีความสนใจอะไรก็สนใจมากจนถึงขั้นหมกมุ่น โดยเฉพาะกับเรื่องที่ค่อนข้างมีความซับซ้อน และอาจเป็นเรื่องที่คนอื่นไม่สนใจ เช่น แผนที่โลก วงจรไฟฟ้า ยี่ห้อรถยนต์ ดนตรีคลาสสิค ไดโนเสาร์ ระบบสุริยจักรวาล เป็นต้น โดยความสนใจเหล่านี้อาจเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลา ในบางรายมีความไวต่อสิ่งเร้าที่มาจากภายนอกค่อนข้างมากกว่าคนทั่วไป
นพ.จอม ระบุว่า โดยทั่วไปแล้วเด็กเหล่านี้มักมีสติปัญญาดี มีความสามารถในการช่วยเหลือตนเองในเรื่องต่างๆ ที่ต้องทำในชีวิตประจำวัน บางคนอาจมีปัญหาเรื่องที่ไม่สามารถมีสมาธิกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้นานนัก หรือมีปัญหาในการจัดลำดับเรื่องต่างๆ และมีทักษะในบางเรื่องที่อาจจะดูดีกว่าเด็กอื่น แต่โดยรวมแล้วเด็กเหล่านี้จะมีระดับสติปัญญาที่เป็นปกติ หรืออาจจะดีกว่าปกติด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตามทุกคนในครอบครัวถือว่ามีบทบาทสำคัญที่ต้องช่วยกันดูแล ต้องทำความเข้าใจกับปัญหาและศึกษาวิธีแก้ไขปัญหา เรียนรู้ทักษะต่างๆ จากผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน หากเด็กได้รับการดูแลช่วยเหลืออย่างเหมาะสม ทั้งในการพัฒนาด้านสังคมและพฤติกรรม เด็กจะสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้
จิตแพทย์เด็ก ให้ข้อแนะนำสำหรับพ่อแม่ในการช่วยเด็กที่มีภาวะเป็นแอสเพอร์เกอร์ซินโดรม อย่างเหมาะสม ดังนี้ (1.) เล่นกับเด็กโดยเอาความสนใจของเด็กเป็นที่ตั้ง แล้วค่อยๆ ขยายความสนใจเหล่านั้นไปในแง่มุมอื่นๆ โดยมีเป้าหมายที่จะแบ่งปันความสนใจ และอารมณ์ซึ่งกันและกัน (2.) สนทนากับเด็กด้วยคำง่ายๆ ชัดเจน และถ้าเป็นตัวอย่างก็ควรเป็นสิ่งของในสถานการณ์จริงหรือรูปภาพ จะทำให้เด็กเข้าใจง่ายและเกิดการเรียนรู้ได้เร็ว (3.) สร้างบรรยากาศในการทำกิจกรรมให้รู้สึกสบายๆ ไม่เครียด มีความอบอุ่นและเป็นกันเอง (4.) ในการเล่นหรือการเรียนของเด็ก ควรจัดเป็นกลุ่มเล็กๆ เพื่อให้เด็กได้คุ้นเคยกับกฎระเบียบของกลุ่มเล็กก่อน ก่อนให้เด็กเข้าในกลุ่มใหญ่ (5.) การใช้คำสั่งกับเด็กต้องมีความสม่ำเสมอ คงเส้นคงวาไม่เปลี่ยนแปลงบ่อย (6.) สนับสนุนให้เด็กเข้าเรียนร่วม ทำให้สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ในชีวิตประจำวัน และใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ (7.) สนับสนุนกิจกรรมหลากหลายเพื่อให้เด็กได้มีประสบการณ์ใหม่ๆ อย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้เพื่อลดความสนใจและความเคยชินที่ซ้ำซาก
ผู้ปกครองนักเรียนชั้น ป.6 รายหนึ่งเปิดเผยว่า พอรู้ว่าลูกเป็นโรคแอสเพอร์เกอร์ ยอมรับว่ามีความทุกข์พอสมควรที่ลูกป่วย ทำให้ลูกกลายเป็นคนที่ไม่ชอบเข้าสังคม ไม่พูดคุยกับใคร ไม่ร่วมทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ บางทีก็ไม่ยอมส่งการบ้าน ทำให้ถูกครูตี และครูเข้าใจผิดว่าเป็นเด็กดื้อ ซึ่งจริงๆ แล้วเขาป่วย เด็กแอสเพอร์เกอร์จะมีความอ่อนไหวมาก เวลาที่เขารักใครก็จะรักจริง ชอบทำอะไรก็จะทำแบบสุดโต่ง ดังนั้นจะต้องทำความเข้าใจและช่วยเหลือเขา ซึ่งที่ผ่านมาตัวเองพยายามดูแลเขาโดยยอมที่จะลาออกจากงาน และกว่าจะเข้าใจลูกก็ใช้เวลานานพอสมควร นอกจากนี้การทำงานร่วมกับครู แพทย์ และโรงเรียนจะเป็นส่วนสำคัญที่สุดที่จะช่วยเหลือเด็กได้ วันนี้พยายามที่จะดึงเอาจุดเด่นๆของเขาคือการเล่านิทานออกมาเพื่อส่งเสริมให้เขาเกิดความภาคภูมิใจ ซึ่งเขาก็ตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าจะเป็นนักเขียนและนักแปลที่มีชื่อเสียงให้ได้
แอสเพอร์เกอร์ไม่ใช่ภาวะที่รุนแรง แต่เป็นภาวะที่มีผลต่อการแสดงออกทางพฤติกรรม การให้ความรักความเข้าใจ และสนับสนุนเด็กอย่างถูกต้องเหมาะสม คือทางออกที่ดีที่สุด ทั้งนี้พ่อแม่จะต้องคอยศึกษาหาความรู้ และมีเวลาดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อสังเกตว่าความถนัดและสิ่งที่เด็กมีความสามารถทำได้ดีที่สุดคืออะไร แล้วค่อยส่งเสริม หรือถ้าหากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแอสเพอร์เกอร์ สามารถปรึกษาจิตแพทย์เด็กและผู้เชี่ยวชาญได้ที่ โรงพยาบาลมนารมย์ โทร 02-725-9595 www.manarom.com
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 028643900 มายแบรนด์ เอเจนซี่