เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวต่อไปว่าเหตุที่คนนิยมสูบบุหรี่ประเภทยาเส้นก็เพราะว่ามีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตบุหรี่ประเภทยาเส้นน้อยมากในขณะที่ในต่างประเทศมีการเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่าจึงส่งผลให้คนไทยเข้าใจผิดว่าการสูบบุหรี่ยาเส้นไม่เป็นอันตรายทั้งๆที่ไม่เป็นความจริง และหลังจากที่รัฐบาลได้เพิ่มอัตราการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตบุหรี่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2552 ที่ผ่านมาพบว่าคนสูบบุหรี่ในแต่ละภาคทั่วประเทศเลิกสูบบุหรี่ไปประมาณร้อยละ 9 ยังคงสูบเหมือนเดิมร้อยละ 25 โดยมีผู้สูบบางส่วนเปลี่ยนจากการสูบบุหรี่ซองไปเป็นการสูบบุหรี่มวนเองคือยาเส้นจึงเป็นการเพิ่มจำนวนผู้สูบบุหรี่ประเภทยาเส้นให้มากขึ้นไปอีก
“ที่ผ่านมารัฐบาลหลายชุดส่งสัญญาณผิดว่ายาเส้นไม่เป็นอันตรายจึงไม่เก็บภาษีหรือเก็บน้อยมากแต่แท้ที่จริงแล้วยาเส้นก็มีอันตรายเหมือนบุหรี่ซอง ราคาก็ถูกกว่ามากห่อละ 5 บาทนำไปมวนเองได้ 20 มวนสูบได้ 1-2 วัน ในขณะที่บุหรี่ซองจากโรงงานราคามวนละ 3-4 บาท เพราะฉะนั้นรัฐบาลควรต้องเก็บภาษีบุหรี่ประเภทยาเส้นให้เพิ่มมากขึ้นโดยอาจจะทยอยเก็บจากน้อยไปหามาก ไม่อย่างนั้นคนก็จะไม่เลิกสูบบุหรี่ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนจะสูบบุหรี่กันมากขึ้น”
ก่อนหน้านี้นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่าแนวโน้มคนสูบบุหรี่เป็นประจำเริ่มลดลงแต่เป็นการลดลงในกลุ่มผู้สูบบุหรี่ชนิดซองส่วนกลุ่มผู้สูบยาเส้นมีแนวโน้มมากขึ้น คือคนสูบบุหรี่ชนิดซองมีอยู่ 5.1 ล้านคน ส่วนคนสูบยาเส้นมีอยู่ 5.7 ล้านคน กระทรวงสาธารณสุขกำลังจะนำเรื่องนี้เข้าหารือในคณะกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบแห่งชาติเพื่อเสนอให้มีการเพิ่มอัตราภาษีจากปัจจุบันที่คิดตามมูลค่าร้อยละ 0.01 ซึ่งต่ำเกินไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อปี 2550 มีผู้สูบยาเส้น(บุหรี่มวนเอง) จำนวนร้อยละ 50.60 ของผู้สูบบุหรี่ทั้งประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคใต้ ในขณะที่การจัดเก็บภาษียาเส้นบุหรี่มวนเองของประเทศไทยต่ำกว่าบุหรี่ชนิดซองถึง 900 เท่า