นพ.ไกรจักร แก้วนิล รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยระหว่างงานประชุมวิชาการเรื่อง “การฉีดวัคซีนไอพีดีในเด็กกลุ่มเสี่ยงสูง” ซึ่งกรุงเทพมหานครได้จัดขึ้น เมื่อเร็วๆ นี้ โดยมี ศ.พญ.อุษา ทิสยากร นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้เชี่ยวชาญระดับ 11 สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี และ ศ.เกียรติคุณ นพ.ธีรชัย ฉันทโรจน์ศิริ ประธานชมรมโรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤตในเด็กแห่งประเทศไทยเป็นวิทยากร การประชุมวิชาการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนข้อมูลของโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส โรคปอดบวม และวัคซีนไอพีดีซึ่งสามารถป้องกันโรคปอดบวมที่เกิดจากเชื้อนิวโมคอคคัส และกลุ่มโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสให้กับแพทย์และพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานครกว่า 400 คน จากสำนักการแพทย์และสำนักอนามัย ทั้งนี้เพื่อเตรียมรับมือโรคปอดบวมที่ระบาดหนักในช่วงปลายฝนต้นหนาว และฤดูหนาวของทุกปี ซึ่งพบว่าเชื้อนิวโมคอคคัสเป็นเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคปอดบวมในเด็กมากที่สุด ตลอดจนเป็นการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรสำหรับการดำเนินงานในโครงการฉีดวัคซีนไอพีดีในเด็กกลุ่มเสี่ยงสูงในพื้นที่กรุงเทพมหานครจำนวน 2,000 คน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมแผนงานและการสำรวจเด็กใน 4 กลุ่มเสี่ยงสูง ซึ่งประกอบด้วย เด็กเล็กที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เด็กที่มีภาวะลิ้นหัวใจรั่วแต่กำเนิด เด็กที่ป่วยเป็นโรคธาลัสซีเมีย และเด็กที่คลอดก่อนกำหนดและมีน้ำหนักแรกคลอดไม่ถึง 1,500 กรัม ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกิจหนึ่งที่สำคัญของกรุงเทพมหานครในการเสริมสร้างสุขภาพดีให้กับประชาชนชาวกรุงเทพฯ
ศ.พญ.อุษา ทิสยากร นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่าโรคปอดอักเสบและปอดบวมจากเชื้อนิวโมคอคคัส เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบทั่วโลกในแต่ละปี โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคปอดบวมคือเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ถึงแม้ว่าจะเป็นเด็กสุขภาพดีก็ตาม และกลุ่มเสี่ยงสูงได้แก่ เด็กที่เป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมทั้งโรคเรื้อรังต่างๆ เช่นโรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง ซึ่งเชื้อนิวโมคอคคัสเป็นเชื้อที่อาศัยอยู่ในลำคอและโพรงจมูกของคนเรา จากการศึกษาพบว่าในเด็กไทยสามารถพบเชื้อนิวโมคอคคัสในลำคอได้ถึงร้อยละ 35 (หรืออาจพูดได้ว่า ในเด็กเล็ก 10 คน จะมีถึง 4 คนที่มีเชื้อตัวนี้) เชื้อนิวโมคอคคัสสามารถแพร่กระจายได้จากการสัมผัสละอองของน้ำมูก น้ำลายของผู้ที่มีเชื้อดังกล่าว สามารถก่อให้เกิดโรคในระบบต่างๆ ที่สำคัญของร่างกาย เช่น โรคปอดอักเสบ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคติดเชื้อในกระแสเลือด โรคหูชั้นกลางอักเสบ (หูน้ำหนวก) ซึ่งหากเด็กเล็กเป็นโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสรุนแรง จะมีโอกาสพิการและเสียชีวิตสูงมาก
“การป้องกันโรคอย่างถูกวิธีจะให้ผลประโยชน์คุ้มค่ามากกว่าการดูแลรักษาหลายเท่า ประกอบด้วยการเลี้ยงทารกด้วยนมแม่ การรับประทานอาหารให้ครบหมู่ การพักผ่อนให้เพียงพอ การออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ การสร้างสุขอนามัยด้วยการล้างมือบ่อยๆ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการพาทารกและเด็กเล็กไปในสถานที่แออัด เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ เป็นต้น และที่สำคัญคือการสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการฉีดวัคซีน เพื่อป้องกันโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน ถือเป็นวิธีการป้องกันที่มีประสิทธิภาพมากในปัจจุบัน” ศ.พญ.อุษา กล่าว