ปลูก“จิตอาสา”คน รพ.แม่อาย เพาะเมล็ดพันธุ์ความดีสู่ชุมชน

อังคาร ๒๙ กันยายน ๒๐๐๙ ๑๑:๓๘
แผนพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ มูลนิธิสดศรี สฤษดิ์วงศ์

ความมุ่งมั่นของนายแพทย์ไกร ดาบธรรม อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่อาย จ.เชียงใหม่ ที่จะยกระดับสุขภาพของชาวบ้าน ด้วยการรุกเข้าหาชุมชน หนุนเสริมให้ชาวบ้านได้กินอิ่ม นอนอุ่นนั้น แม้เริ่มต้นจะดูยากเย็นดุจ“เข็นครกขึ้นภูเขา” เพราะขาดทั้งงบประมาณ บุคลากร และยังเป็นพื้นที่ที่มีชนหลายเผ่าพันธุ์อาศัยอยู่ปะปนกัน ทั้งอาข่า, ลีซอ, ลาหู่, ปกาเกอะญอ, ไทใหญ่, คนพื้นเมือง รวมถึงแรงงานต่างด้าว เช่น พม่า หากสุดท้ายก็ประจักษ์ชัดว่าความพยายามดังกล่าวไม่สูญหาย ถึงปัจจุบันหมอไกรจะผันตัวเองสู่ถนนการเมือง แต่ยังคงมีผู้สืบสานเจตนารมณ์อย่างต่อเนื่อง ทำให้โรงพยาบาลแม่อาย ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองหลวงถึง 900 กิโลเมตร และติดชายแดนไทย-พม่า เพียงแค่เส้นถนนคั่นบนสันเขา กลายเป็นโรงพยาบาลชุมชนต้นแบบระดับประเทศ มีผู้เดินทางเข้ามาดูงานอย่างไม่ขาดสาย

นางอริศรา บัวปอน หัวหน้าพยาบาล โรงพยาบาลแม่อาย และหัวหน้าโครงการส่งเสริมเมล็ดพันธุ์ความดีเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลแม่อาย จ.เชียงใหม่ เล่าว่า ผลงานเชิงรุกที่ประสบความสำเร็จของหมอไกร ทำให้บุคลากรในโรงพยาบาลแม่อายเริ่มปรับเปลี่ยนทัศนคติ จากเดิมที่มองงบประมาณเป็นหลักในการขับเคลื่อนงาน ก็หันมายอมรับว่าการทำงานด้วยใจเต็มร้อย มุ่งมั่นที่ผลของงานเป็นหลัก คือแรงผลักดันสู่ความสำเร็จ ซึ่งได้ผลดีกว่าการใช้งบประมาณเป็นตัวตั้ง เพราะทำให้แหล่งทุน หรืองบประมาณ ถูกหยิบยื่นเข้ามาอย่างเต็มใจมากกว่าการเขียนโครงการขึ้นมาของบประมาณ ทั้งที่ยังไม่ได้เริ่มต้นขยับในเชิงปฏิบัติแม้แต่น้อย

“ความที่เป็นโรงพยาบาลประจำอำเภอ จึงต้องรองรับผู้ป่วยนอก ที่มีปัญหาสุขภาพหลากหลาย เช่น ผู้ป่วยเอดส์ เบาหวาน ทางเดินหายใจ โรคปัจจุบัน อุบัติเหตุ ฯลฯ ถึงวันละเกือบ 500 ราย ถือเป็นภาระหนักของเจ้าหน้าที่ ซึ่งรวมแพทย์ พยาบาล กับบุคลากรทุกฝ่ายแล้ว มีแค่ 160 คน ขณะที่คนไข้ในก็ล้น 60 เตียง ต้องใช้เตียงเสริมตลอดมา หากขวัญ กำลังใจในการปฏิบัติงานอย่างเต็มร้อย ทำให้ไม่รู้สึกเหนื่อยหน่าย จำเจกับปริมาณคนไข้ที่ถาโถมเข้ามา ซ้ำยังเกิดความรู้สึกดีๆ อยากช่วยเหลือ แนะนำผู้ป่วยให้หายเป็นปกติ หรือสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุข” หัวหน้าโครงการส่งเสริมเมล็ดพันธุ์ความดีฯ อธิบาย

ดังนั้นในการคัดเลือกบุคลากรเข้าทำงานในโรงพยาบาลแม่อาย จึงไม่ได้มองเฉพาะผลคะแนนสอบเป็นเกณฑ์ แต่ยังมองถึงบริบทอื่นๆ ที่อยู่รอบตัวมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านจิตอาสา หรือจิตสาธารณะ ความมุ่งมั่นที่จะทุ่มเททำงานเพื่อสังคมและชุมชนอย่างมีเป้าหมาย ขณะเดียวกันเมื่อเข้ามาทำงาน มีการประชุมระดมความคิดเห็น ก็ต้องเปิดใจรับความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากทุกคน ทุกฝ่าย เพื่อนำมาปรับปรุงตนเองและงานให้มีประสิทธิภาพสูงยิ่งขึ้น แม้จะผู้แนะนำเป็นเพียงคนขับรถ หรือคนทำความสะอาด ไม่ใช่แพทย์หรือพยาบาลโดยตรง เพราะถือว่าทุกคนมีคุณค่า มีความสำคัญเท่าเทียมกัน ในการที่จะผลักดันให้งานประสบความสำเร็จ

ตัวอย่างเช่น การออกเยี่ยมดูแลผู้ป่วยสูงอายุที่บ้าน ตามโครงการ Home Help Care ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีโรคประจำตัว หรือญาติละเลยไม่ได้ดูแลเอาใจใส่ เมื่อทีมงานลงไปก็จะชักชวนญาติให้หันมาดูแลผู้สูงอายุอย่างถูกวิธี สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขและอบอุ่น โดยลูกหลานไม่คิดว่าคนแก่เป็นภาระให้เลี้ยงดู ขณะเดียวกันผู้สูงอายุก็ตระหนักถึงความสำคัญของตัวเอง ว่ายังมีความคิด สติปัญญา และภูมิปัญญา ที่จะช่วยเหลือและถ่ายทอดสู่ลูกหลานได้ แม้เรี่ยวแรงทางกายจะลดถอยลงเรื่อยๆ

หรือกรณีคนแก่บางรายถูกทอดทิ้งให้อยู่ตัวคนเดียว พักในเพิงกระท่อมคลุมดิน มีเพียงห้องเดียว ที่ใช้เป็นทั้งห้องนอน ห้องน้ำ ห้องรับประทานอาหาร ทีมงานที่ลงพื้นที่ก็นำเรื่องมาหารือกันเพื่อทางช่วยเหลือ คนงานสวนรับอาสานำวัสดุอุปกรณ์ที่โรงพยาบาลไม่ได้ใช้ ไปสร้างบ้านที่แข็งแรงและถูกสุขลักษณะกว่าให้อยู่อาศัย แม่บ้าน บุคลากรฝ่ายอื่นๆ ช่วยดูแลแผ้วถางบริเวณรอบๆ และภายในบ้านให้สะอาด ปลอดโปร่ง ขณะที่แพทย์ พยาบาล ก็ช่วยเรื่องสุขภาพ อาหารการกิน พืชสมุนไพร ทำให้ผู้สูงอายุเกิดกำลังใจในการต่อสู้กับชีวิต เป็นต้น

นอกจากนี้ในพื้นที่แม่อายยังประสบปัญหาวัยแรงงานเสียชีวิตด้วยโรคเอดส์จำนวนมาก ทำให้เหลือแต่เด็กกำพร้า กับคนชรา ซึ่งส่วนใหญ่มีฐานะยากจน และขาดรายได้เลี้ยงตัวเอง เมื่อต้องเลี้ยงหลานด้วยก็ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ลำบากยิ่งขึ้น ที่สำคัญคือเด็กไร้อนาคต อยากเรียนหนังสือแต่ไม่มีทุน กินอยู่อย่างอดๆ อยากๆ ส่งผลถึงคุณภาพชีวิตระยะยาว ไม่สามารถหางานดีๆ ทำได้ เนื่องจากไม่มีการศึกษา ทางโรงพยาบาลจึงร่วมมือกับภาคเอกชน ซื้อข้าวสาร อาหารแห้ง เข้าไปให้ครอบครัวที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ มานานกว่า 10 ปี จนทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ยกให้เป็นโครงการนำร่อง ขยายผลไปสู่พื้นที่อื่นๆ ทั่วจังหวัด

“ในฐานะที่เป็นทั้งหัวหน้าพยาบาล และหัวหน้าโครงการฯ ต้องรู้จักมอบหมายงาน เลือกคนและอัตรากำลังให้เหมาะสม ต้องเชื่อมั่น และไว้วางใจในศักยภาพของทีมงาน เมื่อเกิดปัญหาระหว่างปฏิบัติงาน ก็ต้องพร้อมจะช่วยเหลือกันในการแก้ไขปัญหา ตรงกันข้ามถ้าผลงานบรรลุผลสำเร็จก็ร่วมชื่นชมความสำเร็จของทีมงาน ทำให้ทีมทำงานทุกคนภาคภูมิใจ รู้สึกว่าตนเป็นคนสำคัญของการทำงาน มีส่วนร่วมริเริ่มสร้างสรรค์ มีความกระตือรือร้นที่จะช่วยเหลือผู้เดือดร้อนโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน นอกเหนือจากความสุขใจ อิ่มเอิบที่ได้ทำความดีสู่เพื่อนมนุษย์” นางอริศรา กล่าว

นับเป็นการลดช่องว่างทั้งภายในและภายนอกโรงพยาบาล นั่นคือทำให้บุคลากรทุกคนมีกำลังใจ และแรงกระตุ้นที่จะทำงานอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันก็ทำให้ชุมชนมีความรู้สึกใกล้ชิด และเป็นมิตรกับทางโรงพยาบาล ซ้ำยังช่วยลดปริมาณผู้ป่วยทางอ้อมได้ด้วย เพราะเมื่อหมดปัญหาปากท้อง ชาวบ้านก็จะคิดถึงเรื่องสุขภาพ ตลอดจนคุณภาพชีวิตมากขึ้น

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม