นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์มีบทบาทในการดำเนินการเพื่อสมัครเข้าเป็นสมาชิกสนธิสัญญาระหว่างประเทศมาเป็นเวลานานนับสิบปี ตั้งแต่การปรับแก้ไขกฎระเบียบภายในประเทศ การขอความเห็นชอบจากรัฐสภา การเตรียมพร้อมด้านระบบการตรวจสอบสิทธิบัตร และบุคลากรของกรมทรัพย์สินทางปัญญา และล่าสุดเมื่อวันที่ 8 กันยายน ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการขอรับความคุ้มครองการประดิษฐ์ตามสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร ของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งผ่านการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว กระทรวงการต่างประเทศจึงได้ออกภาคยานุวัติสารการเข้าเป็นสมาชิก PCT ของไทย ให้ตนยื่นต่อองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ส่งผลให้ไทยเป็นสมาชิกลำดับที่ 142 ของ PCT
นางพวงรัตน์ อัศวพิศิษฐ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า จากการเดินทางเข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ณ นครเจนีวา กรมทรัพย์สินทางปัญญา สังกัดกระทรวงพาณิชย์ ได้ยื่นภาคยานุวัติสารต่อผู้อำนวยการใหญ่ WIPO เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2552 เพื่อแสดงเจตนารมย์การเข้าเป็นสมาชิกสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร (Patent Cooperation Treaty หรือ PCT) ของไทย ถือเป็นข่าวดีของนักประดิษฐ์ไทย ต่อไปนี้ทางสำนักงานรับคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตรระหว่างประเทศ ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาจัดตั้งขึ้น จะอำนวยความสะดวก และลดต้นทุนให้กับนักประดิษฐ์ นักวิจัยไทย สามารถยื่นขอรับความคุ้มครองสิทธิบัตรในประเทศสมาชิก PCT ได้ไม่ต้องไปไกลถึงต่างประเทศ
กรมทรัพย์สินทางปัญญา แถลงข่าวเปิดตัวสำนักงานรับคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตรระหว่างประเทศ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้นักประดิษฐ์ และประชาชนที่สนใจได้รับทราบวิธีการจดทะเบียนสิทธิบัตรภายใต้ระบบ PCT ซึ่งตามข้อกำหนดของ PCT กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะสามารถรับคำขอจดทะเบียนระหว่างประเทศได้ ในวันที่ 24 ธันวาคม 2552 หลังจากที่ไทยยื่นภาคยานุวัติสารแสดงความจำนงเข้าเป็นสมาชิก PCT ต่อองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกแล้ว 3 เดือน สำหรับสำนักงานรับคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตรระหว่างประเทศจะเปิดให้บริการรับยื่นคำขอได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เวลาทำการจันทร์ — ศุกร์ เวลา 09.00 — 16.30 น. สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 02-547-4717 หรือทางเวปไซต์ www.ipthailand.org
สำนักงานรับคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตรระหว่างประเทศ จะช่วยอำนวยความสะดวกแก่นักประดิษฐ์ นักวิจัยหรือผู้ส่งออกไทย ที่ต้องการไปจดสิทธิบัตรในประเทศต่างๆ ซึ่งเป็นสมาชิก PCT โดยสามารถมายื่นคำขอตามขั้นตอนการขอรับสิทธิบัตร PCT และเมื่อทราบทิศทางและศักยภาพในการทำตลาดแล้ว จึงค่อยตัดสินใจว่าจะดำเนินการจดสิทธิบัตรในประเทศนั้นๆ หรือไม่ ทำให้เจ้าของสิทธิบัตรสามารถประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปยื่นคำขอในประเทศต่างๆ รวมทั้งบริหารการใช้ประโยชน์จากงานประดิษฐ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ สำนักงานรับคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตรระหว่างประเทศ ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา จะเป็นสถานที่รวบรวมเก็บข้อมูลการจดทะเบียนสิทธิบัตรของคนไทยในประเทศต่างๆ ที่แน่นอน และชัดเจนยิ่งขึ้นด้วย เพราะที่ผ่านมา เรายังขาดข้อมูลและการรวบรวมตัวเลขที่แน่นอนว่าคนไทยไปยื่นขอจดสิทธิบัตรในต่างประเทศเท่าไรบ้าง เนื่องจาก นักวิจัยไทยบางคนก็อาจไปยื่นจดสิทธิบัตรในต่างประเทศเองโดยตรง บางคนก็อาจยื่นผ่านสำนักงานกฎหมาย เช่น ตัวเลขจากสำนักงานสิทธิบัตรสหรัฐฯ (USPTO) ระบุว่า ในปี 2551 มีคนไทยไปยื่นขอจดสิทธิบัตรในสหรัฐฯ 22 ราย สำนักงานสิทธิบัตรสหภาพยุโรป ระบุว่า ในปี 2551 มีคนไทยไปยื่นขอจดสิทธิบัตรในสหภาพยุโรป 15 ราย ตัวเลขที่แท้จริงอาจมากกว่านี้ และเมื่อไทยเข้าเป็นสมาชิก PCT แล้ว คาดว่านักวิจัยไทยจะใช้ประโยชน์ของข้อตกลงดังกล่าว จดทะเบียนสิทธิบัตรในต่างประเทศเพิ่มขึ้น อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวเพิ่มเติม