การเสนอแก้กฎหมายนี้ ทำโดยการรวมเงินบำนาญและเงินเพิ่มค่าครองชีพเข้าด้วยกันจะช่วยส่งผลให้ผู้รับบำนาญได้รับเงินสูงขึ้น จากเงินบำเหน็จดำรงชีพ (หรือเงินที่ผู้รับบำนาญสามารถนำเงินบำเหน็จตกทอดมาใช้ได้ก่อนเสียชีวิต จากเดิมที่เงินบำเหน็จตกทอดจะเป็นของทายาทหรือผู้ที่ได้รับสิทธิ) ตลอดจนลดความยุ่งยาก ภาระเอกสารของผู้รับบำนาญและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในการแก้กฎหมายจะต้องใช้งบประมาณจำนวนทั้งสิ้น 2,135.5 ล้านบาท
ในปัจจุบันผู้รับเบี้ยหวัดและผู้รับบำนาญได้รับเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (เงิน ช.ค.บ.) แยกออกจากบำนาญหรือเบี้ยหวัด ทำให้การเบิกจ่ายเงินแก่ผู้รับเบี้ยหวัดและผู้รับบำนาญในแต่ละเดือนมีความยุ่งยาก เนื่องจากมีขั้นตอนในการดำเนินงานเพิ่มมากขึ้น คือ จะต้องแยกการเบิกจ่ายระหว่างเงินเบี้ยหวัดตามข้อบังคับของกระทรวงกลาโหมว่าด้วยเงินเบี้ยหวัด กับ ช.ค.บ. และเงินบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการและกฎหมายว่าด้วยกองทุนเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญ กับ ช.ค.บ.
โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการแก้ไขกฎระเบียบเงิน ช.ค.บ. แก่ผู้รับเบี้ยหวัด และผู้รับบำนาญถึง 13 ครั้ง ส่งผลให้ส่วนราชการและกรมบัญชีกลางสูญเสียทั้งเวลา งบประมาณและบุคลากรไปโดยเปล่าประโยชน์โดยไม่จำเป็น ซึ่งการกำหนดให้ ช.ค.บ. แยกออกจากบำนาญ ส่งผลให้ผู้รับบำนาญได้รับบำเหน็จดำรงชีพน้อยลง เนื่องจากบำเหน็จดำรงชีพ กฎหมายกำหนดให้จ่ายได้ไม่เกิน 15 เท่าของบำนาญรายเดือนที่ได้รับหรือมีสิทธิได้รับ ซึ่งหลังจากแก้กฎหมายแล้วจะทำให้บำเหน็จดำรงชีพ สามารถจ่ายได้สูงสุดไม่เกิน 15 เท่าของบำนาญรายเดือนที่รวมเงิน ชคบ. ซึ่งสูงกว่า บำนาญรายเดือนอย่างเดียวของเดิม
นายแพทย์พฤฒิชัย ดำรงรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การยกเลิกเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ ตามพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ พ.ศ. 2521 กระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลางได้เสนอแก้ไขกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการให้สอดคล้องกันด้วย ซึ่งร่างพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... มีสาระสำคัญ ดังนี้
(1) กำหนดให้นำเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญตามพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ พ.ศ. 2521 มารวมเป็นเบี้ยหวัดหรือบำนาญ และให้ถือเป็นเบี้ยหวัด ตามข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยเงินเบี้ยหวัด หรือบำนาญตามพระราชบัญญัตินี้ แล้วแต่กรณี
(2) กำหนดให้ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นสมควรให้มีการกำหนดเบี้ยหวัดหรือบำนาญขั้นต่ำ หรือปรับเพิ่มเบี้ยหวัดหรือบำนาญในอัตราไม่เกินร้อยละสิบของเบี้ยหวัดหรือบำนาญที่ได้รับอยู่ ให้กระทำได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
(3) ปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์การจ่ายบำเหน็จตกทอดให้สอดคล้องกับกรณีที่ได้นำเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญมารวมเป็นบำนาญร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ...
นายแพทย์พฤฒิชัย ดำรงรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่าการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการของกระทรวงการคลังในการดูแลสวัสดิการข้าราชการ ลูกจ้างและพนักงานราชการที่ได้เสียสละ ทำงานให้กับประเทศชาติเป็นระยะเวลานาน จนเกษียณอายุ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการช่วยให้ลูกจ้างประจำมีสิทธิเลือกรับบำเหน็จรายเดือน เช่นเดียวกับบำนาญของราชการ สำหรับการแก้กฎหมายครั้งนี้ จะมีค่าจ่ายสำหรับจ่ายเพิ่มบำเหน็จดำรงชีพ เป็นเงินงบประมาณ งบกลาง ในวงเงินจำนวนทั้งสิ้น 2.103.5 ล้านบาท”
สำนักกฎหมาย กรมบัญชีกลาง
โทร. (02) 273-9607