ปิดซ่อมแล้วสะพานข้ามแยกพงษ์เพชร 1 ต.ค. 52 นับไปอีก 90 วันเสร็จ

พฤหัส ๐๑ ตุลาคม ๒๐๐๙ ๑๕:๕๗
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมคณะผู้บริหารกทม. ผู้บริหารสำนักการโยธา กทม. และเชิญผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ นายเชิดวิทย์ ฤทธิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี นายสมนึก ธนเดชากุล นายกเทศมนตรีนครนนทบุรี พล.ต.ต.ภาณุ เกิดลาภผล รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.วิมล เปาอินทร์ ผู้บังคับการตำรวจจราจร พ.ต.ท.วีรศักดิ์ วงศ์วานิช รองผู้กำกับการตำรวจจราจร สน.ทุ่งสองห้อง ตรวจพื้นที่โครงการปรับปรุงสะพานข้ามทางแยกพงษ์เพชร และดูสภาพการจราจรบริเวณทางแยกหลังทำการปิดการจราจร บริเวณสะพานฝั่งขาเข้าจากแครายมุ่งหน้าแยกบางเขน

เริ่มปิดการจราจรซ่อมสะพานแยกพงษ์เพชร 1 ต.ค. 52 ฝั่งขาเข้าก่อน 45 วัน

สะพานข้ามทางแยกพงษ์เพชร กำหนดปิดการจราจรเพื่อซ่อมแซมในวันที่ 1 ต.ค. - 30 ธ.ค. 52 รวม 90 วัน โดยปิดการจราจรฝั่งขาเข้าทิศทางจากแครายมุ่งหน้าแยกบางเขน วันที่ 1 ต.ค. - 15 พ.ย. 52 เวลา 45 วัน โดยรถที่มาจากแยกแครายมุ่งหน้าแยกบางเขน สามารถใช้ถนนงามวงศ์วานพื้นราบฝั่งขาเข้าจากแยกแครายเข้าพงษ์เพชร เพื่อมุ่งหน้าแยกบางเขนได้ 3 ช่องทาง และใช้สะพานข้ามแยกสวนกันบนสะพานได้อีกทิศทางละ 1 ช่อง ซึ่งตำรวจจราจรจะจัดการจราจรให้เดินรถทางเดียวในเวลาเร่งด่วนหรือตามสภาพจราจร

ฝั่งขาออกอีก 45 วัน

จากนั้นวันที่ 16 พ.ย. - 30 ธ.ค. 52 เวลา 45 วัน จะปิดการจราจรฝั่งขาออกทิศทางจากแยกบางเขนมุ่งหน้าแยกแคราย โดยรถที่มาจากแยกบางเขนมุ่งหน้าแยกแครายสามารถใช้ถนนงามวงศ์วานพื้นราบขาออกจากแยกบางเขนเข้าแยกพงษ์เพชรเพื่อมุ่งหน้าแยกแคราย ได้ 3 ช่องทาง และใช้สะพานข้ามแยกสวนกันบนสะพานได้อีกทิศทางละ 1 ช่องจราจร ซึ่งตำรวจจราจรจะจัดการจราจรให้เดินรถทางเดียวในเวลาเร่งด่วนหรือตามสภาพจราจร

แนะประชาชนหลีกเลี่ยง เนื่องจากคาดว่าราจรจะติดขัด จัดเจ้าหน้าที่อำนวยจราจรเต็มกำลัง พร้อมรถเกิน 6 ล้อห้ามขึ้นสะพาน

โดยระหว่างการปิดการจราจรเพื่อซ่อมแซมนั้น กทม. จะจัดเจ้าหน้าที่จราจรและอาสาจราจรอำนวยการจราจรตลอดเวลา และเตรียมรถยกและหน่วยเคลื่อนที่เร็วเพื่อแก้ไขปัญหารถจอดเสียในทาง พร้อมกับห้ามรถเกิน 6 ล้อขึ้นบนสะพานตลอดเวลาที่ซ่อมแซมด้วย ทั้งนี้ขอความกรุณาประชาชนที่ไม่มีความจำเป็นต้องผ่านแยกพงษ์เพชรให้หลีกเลี่ยง เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวอยู่ใกล้แหล่งชุมชน ห้างสรรพสินค้า และหน่วยงานต่างๆ จำนวนมาก ดังนั้นจึงขอความร่วมมือประชาชนหลีกเลี่ยงการใช้เส้นทางผ่านบริเวณสะพานข้ามทางแยกพงษ์เพชร หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ขอความกรุณาปฏิบัติตามกฎจราจรโดยเคร่งครัด ซึ่งในแต่ละช่วงเวลาจะจัด การจราจรแตกต่างกัน

เหตุผลที่ต้องซ่อมแซมและเสริมความแข็งแรงสะพาน

สะพานเหล็กข้ามทางแยกที่กทม. ต้องทำการปรับปรุงทั้งหมดถูกสร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 2534 — 2535 ดังนั้นการออกแบบและก่อสร้างจึงมิได้คำนึงถึงผลของแรงแผ่นดินไหวเนื่องจากในอดีตพื้นที่กรุงเทพมหานครถือเป็นบริเวณที่ปลอดภัยจากแผ่นดินไหว แต่กฎกระทรวงในปัจจุบันได้กำหนดให้กรุงเทพมหานครอยู่ในพื้นที่ที่อาจได้รับความเสี่ยงภัยจากแผ่นดินไหว ดังนั้นจึงมีมาตรการป้องกันภัยจากการตกร่วงของคานและตัวสะพานส่วนบนภายใต้แรงแผ่นดินไหว ซึ่งพบว่ามีเนื้องานที่จะต้องปรับปรุงชุดฐานรองรับคานสะพานด้วยการเปลี่ยนชนิดของฐานรองรับเพื่อให้ทนต่อการเคลื่อนที่ตามแนวราบและแรงสั่นสะเทือนได้อย่างเพียงพอตามกฎกระทรวง

ประชาชนสามารถตรวจสอบเส้นทางที่จะหลีกเลี่ยง และติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงานโครงการปรับปรุงสะพานเหล็กข้ามแยก ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้ที่ www.bangkok.go.th , www.trafficpolice.com และ http://bkkbridge.homeip.net พร้อมแจ้งปัญหาอุปสรรคการเดินทางจากผลกระทบการจราจรได้ที่สายด่วน กทม. 1555 และ 1197

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ