แนวโน้มการพัฒนาการวิจัยวิทย์ฯ ในระดับอุดมศึกษาของรัฐ

ศุกร์ ๐๙ กันยายน ๒๐๐๕ ๑๖:๐๖
กรุงเทพฯ--9 ก.ย.--สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ
ทีมวิจัย เพื่อคาดการณ์สถานภาพการวิจัย ด้านวิทยาศาสตร์กายภาพและชีวภาพในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ
รศ.ดร. สุพจน์ หารหนองบัว อุปนายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ หัวหน้าโครงการ “การวิจัยเพื่อคาดการณ์สถานภาพการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์กายภาพและชีวภาพในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ” กล่าวว่างานวิจัยที่ทำนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)และมูลนิธิบัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (บวท.) ได้จัดให้มีโครงการวิจัยนี้ขึ้น โดยจะมีการศึกษาสภาพความเป็นจริงในการบริหารจัดการของมหาวิทยาลัยของรัฐแต่ละแห่ง พร้อมทั้งได้ลงพื้นที่ไปศึกษาข้อมูลเข้าพบและสัมภาษณ์คณะผู้บริหารของมหาวิทยาลัยและนักวิจัยของแต่ละสถาบัน และได้แวะเยี่ยมชมห้องปฏิบัติการการวิจัยและศูนย์เครื่องมือต่างๆ เพื่อนำมาวิเคราะห์ศักยภาพของแต่ละมหาวิทยาลัย ว่ามีความโดดเด่นในเรื่องใดบ้าง มีนโยบายและแนวโน้มทิศทางการวิจัยเป็นอย่างไร อีกทั้งยังทำให้รับทราบปัญหาและสถานภาพการบริหารจัดการและความพร้อมด้านบุคลากรต่าง ๆ ที่สามารถนำมาเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาและกำหนดแนวทางที่เหมาะสมต่อไป
ทีมงานวิจัยได้รับเกียรติจากอาจารย์มหาวิทยาลัยของรัฐหลากหลายสถาบัน แบ่งเป็น 5 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มวิทยาศาสตร์กายภาพ ได้แก่ รศ.ดร.สุพจน์ หารหนองบัว,รศ. ดร.เกตุ กรุดพันธุ์ , ดร.วันชัย ดีเอกนามกูล , ดร.วัชรพงษ์ อนันต์ชื่น , ผศ.ดร.ธีรเกียรติ เกิดเจริญ กลุ่มสาขาชีววิทยา ได้แก่ ดร.ประนอม จันทรโณทัย , ดร.สมโภชน์ ศรีโกสามาตร ,ดร.สมศักดิ์ ปัญหา กลุ่มชีวการแพทย์ ได้แก่ ผศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล , ดร.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร , ดร.วัชระ กสิณฤกษ์ กลุ่มชีวเคมี ได้แก่ ดร.อรัญ อินเจริญศักดิ์ , ดร.จิระพันธ์ กรึงไกร, ดร.สุมาลี ตั้งประดับกุลกลุ่มชีวเกษตร ได้แก่ ดร.ประสาทพร สมิตะมาน,ดร.พงษ์เทพ อัครธนกุล ,ดร.ปิยะดา ธีระกุลพิศุทธิ์
นอกจากนี้ ยังมีผู้ช่วยนักวิจัยอีก 7 ท่าน คือ นางรุ่งนภา ทัดท่าทราย , น.ส.อัจฉรา วิจิตรโกสุม ,นายธีรสิทธิ์ เติมสายทอง ,นายธงชัย กูบโคกกรวด,นายวีรพงษ์ ประสงค์จีน, นายจีรศักดิ์ สุจริตและ
น.ส.ผ่องพรรณ ประสารกก จากการที่คณะวิจัยของโครงการฯ ได้ออกตระเวนไปเยี่ยมเยียนและเก็บข้อมูล ณ มหาวิทยาลัย 7 แห่งแรก ซึ่งได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาเชียงใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (หาดใหญ่) นั้นพบว่ามหาวิทยาลัยแต่ละแห่งต่างมีพลวัตและความเปลี่ยนแปลงไปพอควรเมื่อเปรียบเทียบกับที่ โครงการวิจัยนำร่องการคาดการณ์สถานภาพการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์กายภาพของคณะวิทยาศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยของรัฐ 8 แห่ง ที่ สกว. และ บวท. เคยทำไว้ก่อนหน้านี้ 2 ปี สำหรับโครงการวิจัยฯ ครั้งนี้ คณะวิจัยต้องพบกับความประทับใจในความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลายๆด้าน
หากมองกันอย่างพินิจพิเคราะห์พบว่ามหาวิทยาลัย หลายแห่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีพลวัตสูงสุด แต่ก็มีอีกหลายองค์ประกอบในบางแห่งที่จะต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น และมีความเหมาะสมกับสภาวการณ์ที่เป็นอยู่ ซึ่งอาจจะทำให้ได้โมเดลต้นแบบของมหาวิทยาลัยที่มีประสิทธิภาพและมีคุณภาพในการสร้าง และพัฒนาคนให้มีปณิธานสูงในการปรับตัวไปอยู่ในตำแหน่งที่แข่งขันได้ในอนาคต อันจะนำไปสู่ก้าวใหม่ในการพัฒนามหาวิทยาลัยของรัฐจะทำให้ “การเข้าใจตัวเอง”(Self Awareness) เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างชัดแจ้งในองค์กรตั้งแต่ระดับบริหารถึงคณาจารย์มหาวิทยาลัย ที่ตั้งใจจะไปสู่มหาวิทยาลัยวิจัย แต่รู้ว่าภาระงานการสอนยังเป็นอุปสรรค จึงพยายามหาทางแก้ไขจุดอ่อนเหล่านั้น อาทิ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีแนวทางหนึ่งที่ถือเป็นนวัตกรรม คือ การจัดระบบ track ให้บุคลากรจำนวน 4 เส้นทาง ได้แก่ (1) เส้นทางวิจัย (2) เส้นทางการสอน (3) เส้นทางบริการ เช่น แพทย์คลินิก (4) เส้นทางบริหาร โดยบุคลากรสามารถเลือก “เอาดี” ในเส้นทางที่ตนเองถนัด ทำให้น้ำหนักเน้นในภาระงานสามารถที่จะปรับได้ตามความสามารถสูงสุด
อีกทั้ง ยังก่อให้เกิด“พันธสัญญาแห่งตนเอง” (Self Commitment) อันเป็นสัญญาณที่ทำให้ทีมวิจัยเชื่อมั่นว่ามหาวิทยาลัยของรัฐจะดำรงปณิธานในการไปสู่มหาวิทยาลัยวิจัยได้จริง เสมือนเป็นคำสัญญาของมหาวิทยาลัยและประชาคมว่าจะต้องไปสู่มหาวิทยาลัยวิจัยให้ได้ และมีแนวทางการลงทุนวิจัยให้กับโครงการที่ได้คัดสรรแล้ว แทนที่จะกระจายให้กับทุกโครงการที่ขอมาดังเช่นในอดีตที่ผ่านมา
กลยุทธ์สำคัญอันหนึ่งที่จะทำให้การดำเนินงานของมหาวิทยาลัยบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายคือ
“การสื่อสารในองค์กร” (Self Communication) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญเมื่อมหาวิทยาลัยกำหนดนโยบายในการเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยแล้วก็ได้พยายามสื่อสารหรือส่ง message มายังผู้ปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง
เป็นที่น่าประทับใจว่าบุคลากรของมหาวิทยาลัยของรัฐหลายแห่ง มีทัศนคติที่มีรูปแบบของนักปีนเขา คือรู้ว่าตนเองอยู่อันดับใด และพยายามมองไปข้างหน้าเพื่อการพัฒนาให้ตนเองดีขึ้น สิ่งที่คณะวิจัยสังเกตเห็นก็คือ เมื่อฝ่ายบริหารกำหนดนโยบายเชิงรุกแล้ว ก็จะมีกระบวนการสื่อสารลงมาที่ฝ่ายปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง สิ่งนี้มักไม่ค่อยเกิดขึ้นในองค์กรของไทยเท่าใดนัก เพราะหากการโยนหินถามทางเกิดขึ้นไปในทิศทางที่ประชาคมต่อต้านแล้ว ผู้โยนหินมักจะไม่ค่อยกล้าเดินต่อไปในทิศทางที่ตั้งใจเท่าใดนัก แต่จะโยนหินไปเรื่อยๆ จนกระทั่ง เส้นทางที่จะก้าวเดินต่อไปนั้นค่อย ๆ ราบรื่นขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้การ “โยนหินบอกทาง” มาแทนที่วัฒนธรรมเดิมแบบ“โยนหินถามทาง”ของไทยเรา มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งพยายาม “มุ่งเน้น” (Focus) ในเรื่องที่เป็นจุดเด่นของตนเอง อาทิ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้วางตำแหน่งตนเอง เพื่อจะเป็นตักศิลาแห่งภาคอีสาน ปัญหาวิจัยเฉพาะหน้าคือ การแก้ปัญหาให้ชาวอีสาน โดยมหาวิทยาลัยได้ทำการคัดสรรปัญหาวิจัยที่เป็นเอกลักษณ์ของภูมิภาคแล้วส่งเสริมอย่างจริงจัง ทั้งนี้ได้จัดตั้งศูนย์แห่งความเป็นเลิศขึ้นแล้ว 15 แห่ง มีเงินลงให้ปีละ 4 ล้าน ต่อเนื่อง 5 ปี
อันที่จริงมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ไม่ได้มองเพียงการมุ่งเน้นในจุดเด่นของตน และทุ่มกับงานประยุกต์ท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังตระหนักในกระบวนทัศน์ใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น นั่นคือการบรรจบกันของศาสตร์ต่าง ๆ
(Converging Sciences) อันนำไปสู่พรมแดนใหม่ เช่น นาโนเทคโนโลยี ทั้งนี้เป็นที่รู้กันว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้พยายามอย่างหนักและต่อเนื่องเพื่อจะหลอมรวมการทำงานของอาจารย์จากหลาย ๆ คณะ อย่างเช่น คณะวิทยาศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อจัดตั้งศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้มองเห็นว่ากำแพงวิชาการที่เคยกั้นไม่ให้คณาจารย์ที่อยู่คนละคณะ คนละภาควิชา ของที่นี่กำลังจะพังทลายลง ซึ่งขณะนี้มหาวิทยาลัยกำลังจัดสถานที่ใหม่ สภาพแวดล้อมใหม่ เพื่อฟูมฟักให้กลุ่มวิจัยจากหลายคณะเข้ามาทำงานด้วยกัน เมื่อปัจจัยหลายอย่างมาบรรจบกันได้อย่างลงตัว ก็หวังว่าอนาคตของมหาวิทยาลัยไทยจะโชติช่วงได้ในระดับสากล
เป้าหมายอันยาวไกล ที่เร้นลึกอยู่ในใจของบุคลากรระดับบริหารของมหาวิทยาลัย ก็คือ ทำอย่างไรให้มหาวิทยาลัยของไทยก้าวไปเป็น “มหาวิทยาลัยระดับโลก” (World-Class Universities) ซึ่งถือว่าเป็นกระแสที่มาแรงจริงๆในช่วงปฏิรูปอุดมศึกษาซึ่งถูกผลักดันโดยรัฐบาลนี้ ทำให้ดูออกจะขัดๆกับเป้าหมาย อย่างเช่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น เน้นเอกลักษณ์และจุดเด่นในการเป็นมหาวิทยาลัยของคนอีสาน เมื่อพิจารณาจากศูนย์แห่งความเป็นเลิศทั้ง 15 ศูนย์ที่จัดตั้งขึ้น พอจะเห็นความชัดเจนได้ว่า มหาวิทยาลัยได้เลือกสรรและเค้นเอาจุดเด่นของตนออกมาได้อย่างน่าชื่นชม เพราะโจทย์วิจัยที่เลือกก็เพื่อแก้ปัญหาให้ชาวอีสานอย่างแท้จริง แต่การจะไปสู่มหาวิทยาลัยอันดับโลกนั้นต้องคำนึงถึงความเป็นสากลเป็นสำคัญ นั่นคือจะต้องมีผลงานตีพิมพ์ระดับสากลออกมาให้ได้มากๆ หากพิจารณาจากชื่อศูนย์แห่งความเป็นเลิศจำนวน 15 แห่งที่กล่าวมาข้างต้นนั้น ก็มีความเป็นไปได้น้อยที่ศูนย์เหล่านั้น จะสามารถผลักดันทั้งผลงานในแง่ของการประยุกต์สู่ชุมชนไปพร้อมๆกับการตีพิมพ์ในระดับสากลได้อย่างดีเลิศพร้อมๆ กันโดยง่าย
ดังนั้นในการสัมภาษณ์นักวิจัยในศูนย์แห่งความเป็นเลิศแห่งหนึ่ง ท่านได้ออกปากว่าเหนื่อยเหลือเกิน เพราะต้องทำงานทั้งการบริการความต้องการของจังหวัด ของชุมชน ในขณะเดียวกันก็ต้องผลิตผลงานตีพิมพ์ให้ผ่านการประเมินของมหาวิทยาลัยด้วย เส้นกราฟของมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาไปสู่มหาวิทยาลัยวิจัยอย่างแท้จริง จึงต้องการ “แรงบิด” ในด้านการบริหารค่อนข้างสูง เพื่อแก้ปมปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมองค์กรแบบไทยๆที่หมักหมมมายาวนาน อันจะเป็นประเด็นสำคัญที่ฝ่ายบริหารทุกระดับจะต้องนำไปขบคิดกันต่อไป
สามารถคลิกดูภาพได้ที่ www.thaipr.net--จบ--

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๕๐ รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๑๖:๑๔ ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๑๖:๑๓ Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version