นายจารึก เฮงรัศมี ผู้อำนวยการสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทย กล่าวว่า อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูง ผู้ประกอบการไทยจึงจำเป็นต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้ทันกับกระแสความต้องการของตลาดโลก โดยเฉพาะในเรื่องสิ่งแวดล้อมซึ่งปัจจุบันมีมาตรการและกฎระเบียบในตลาดโลกที่เคร่งครัด เช่น มาตรฐาน IPP (Integrated Product Policy) ของสหภาพยุโรป ซึ่งควบคุมมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ครบวงจร นับตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตและออกแบบ การใช้งาน และการกำจัดซากวัสดุ
ทางสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จึงได้สนับสนุนให้จัดการประชุมวิชาการนานาชาติ หัวข้อ “อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อาเซียนใส่ใจสิ่งแวดล้อม 2009” หรือ “Asian Electrical and Electronic Green Society International Conference 2009” ขึ้น เนื่องในโอกาสพิเศษเพื่อฉลองวาระครบรอบ 10 ปีสถาบันฯ และถือเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมไฮไลท์ภายใน “งานแสดงสินค้าเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น 2552” (Bangkok RHVAC 2009) และ “งานแสดงสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 2552” (Bangkok E&E 2009) โดยการสัมมนาจะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 7-9 ตุลาคมศกนี้ ที่ห้อง จูปิเตอร์ 8 -12 อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี
นายจารึก กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมในครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วมนำเสนอและแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม ระบบการจัดการเทคโนโลยีและเครือข่ายระดับนานาชาติ รวมถึงมาตรการอุปสรรคทางการค้าต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนการหารือเพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับนานาประเทศในการผลิต กรีนโปรดักส์เพื่อมุ่งสู่ความเป็นสังคมกรีนโซไซตี้ รวมไปถึงการศึกษาดูงานระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และโรงงานรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ประสบความสำเร็จของไทย
“แม้ว่าประเทศไทยจะมีข้อได้เปรียบในเรื่องของคุณภาพสินค้าที่มีประสิทธิภาพสูง ทนทาน และการจัดส่งที่รวดเร็วตรงเวลา แต่ในภาวะที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันในตลาดโลกที่ทวีความรุนแรงขึ้น ผู้ประกอบการต้องหันมาให้ความสำคัญกับการผลิตสินค้าที่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง เพราะกำลังเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง และจะมีส่วนสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดโลก ทำให้ผู้ซื้อทั่วโลกให้ความไว้วางใจในสินค้าไทย ซึ่งจะมีผลดีต่อภาคการส่งออกและยังสามารถดึงดูดเม็ดเงินนักลงทุนและผู้ผลิตต่างชาติได้ในระยะยาวต่อไป” นายจารึก กล่าว
ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
อุษณีย์ ถาวรกาญจน์
บริษัท อินทิเกรเต็ด คอมมูนิเคชั่น จำกัด
โทร. 0 2354 3588 อีเมล : [email protected]