ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร “บ. เอเซียเสริมกิจลีสซิ่ง” ที่ระดับ “BBB+” ด้วยแนวโน้ม “Stable”

จันทร์ ๐๕ ตุลาคม ๒๐๐๙ ๑๕:๔๔
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศยืนยันผลการทบทวนอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท เอเซียเสริมกิจลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์ในธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และความสามารถในการดำรงสถานะทางการตลาดแม้ว่าตลาดเช่าซื้อรถยนต์จะชะลอตัวเนื่องจากการถดถอยของอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่สนับสนุนอันดับเครดิต อาทิ สถานะที่แข็งแกร่งในธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ในตลาดเฉพาะกลุ่มของรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ การสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ระบบการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ และความสัมพันธ์ที่ยาวนานกับตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากลักษณะสินเชื่อของบริษัทซึ่งมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจแม้จะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าก็ตาม การแข่งขันที่รุนแรงท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนยังจำกัดความสามารถในการทำกำไรและการขยายธุรกิจของบริษัท ปัจจัยเหล่านี้ยังกระทบต่อคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทด้วยซึ่งสะท้อนจากการด้อยลงของอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ นอกจากนี้ ความยืดหยุ่นทางการเงินจากแหล่งเงินทุนหลักที่ตึงตัวยิ่งขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบของทางการยังจำกัดความแข็งแกร่งทางการเงินของบริษัทด้วย

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” อยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถดำรงสถานะทางการตลาดในตลาดเฉพาะกลุ่มสำหรับยานพาหนะเพื่อการพาณิชย์ต่อไปได้ การมีคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์ ตลอดจนระบบการบริหารความเสี่ยงและระบบการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพจะช่วยให้บริษัทสามารถควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ โดยคาดว่าผู้ถือหุ้นรายใหญ่น่าจะให้การสนับสนุนต่อไป แนวโน้มอันดับเครดิตดังกล่าวยังพิจารณาถึงการที่บริษัทจะสามารถจัดการให้มีความยืดหยุ่นทางการเงินที่เพียงพอทั้งสำหรับลดความกดดันด้านสภาพคล่องและสนับสนุนการขยายธุรกิจด้วย

ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทเอเซียเสริมกิจลีสซิ่งก่อตั้งในปี 2527 โดยกลุ่มธนาคารกรุงเทพ เพื่อให้บริการสินเชื่อรถยนต์สำหรับลูกค้ารายย่อยภายใต้สัญญาเช่าซื้อ ในปี 2535 Chailease Finance Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทลีสซิ่งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไต้หวันและเป็นบริษัทในเครือของกลุ่ม Koo ได้ร่วมกับกลุ่มธนาคารกรุงเทพก่อตั้ง บริษัท กรุงเทพแกรนด์แปซิฟิคลีส จำกัด (มหาชน) ซึ่งต่อมาได้ซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัทจากกลุ่มธนาคารกรุงเทพ บริษัทกรุงเทพแกรนด์แปซิฟิคลีสให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อและลีสซิ่งแก่ลูกค้านิติบุคคลโดยเน้นเครื่องจักรและอุปกรณ์ ตลอดจนยานพาหนะเพื่อการพาณิชย์ และยังให้บริการสินเชื่อแฟคตอริ่งด้วย โครงสร้างผู้ถือหุ้นมีการปรับเปลี่ยนในปี 2547 และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2548 โดยบริษัทกรุงเทพแกรนด์แปซิฟิคลีสซึ่งในอดีตเคยมีสถานะเป็นบริษัทแม่ได้เปลี่ยนสถานะมาเป็นบริษัทลูกของบริษัท ปัจจุบันกลุ่มธนาคารกรุงเทพถือหุ้นในบริษัท 13.5% และกลุ่ม Koo จากประเทศไต้หวันซึ่งประกอบด้วย Chailease Finance Ltd. บริษัท เอ. เค. เอ็นเตอร์ไพรซ์ (ประเทศไทย) จำกัด และนายจอน ลี คู เป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุด โดยถือหุ้นรวมกัน 72.9%

ทริสเรทติ้งกล่าวว่า แม้ความต้องการรถยนต์ภายในประเทศจะหดตัวลงประมาณ 30% ในครึ่งแรกของปี 2552 แต่บริษัทเอเซียเสริมกิจลีสซิ่งยังสามารถประคองธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์สำหรับลูกค้ารายย่อยซึ่งเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดของสินเชื่อรวมของบริษัทเอาไว้ได้ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2552 บริษัทมีสินเชื่อรวม 11,676 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจาก 11,820 ล้านบาทในปี 2551 อันเป็นผลมาจากการชะลอตัวของธุรกิจสินเชื่อลีสซิ่งและแฟคตอริ่งของบริษัทกรุงเทพแกรนด์แปซิฟิคลีส ในจำนวนสินเชื่อรวมของบริษัทนั้น จำนวน 82.1% เป็นสินเชื่อเช่าซื้อสำหรับลูกค้ารายย่อยซึ่งดำเนินการโดยบริษัท เพิ่มขึ้นจาก 77.1% ในปี 2550 และ 79.2% ในปี 2551 ในขณะที่สัดส่วนสินเชื่อของบริษัทกรุงเทพแกรนด์แปซิฟิคลีสลดลงมาที่ 17.7% ของสินเชื่อรวม โดยลดลงจาก 22.4% ในปี 2550 และ 20.5% ในปี 2551

ความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของฐานลูกค้าโดยรวมของบริษัทอยู่ในระดับต่ำเนื่องมาจากลักษณะของสินเชื่อรถยนต์สำหรับลูกค้ารายย่อยซึ่งบริษัทมีสัดส่วนสินเชื่อในส่วนนี้ใหญ่ที่สุด นอกจากนี้ การกระจายตัวของส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ในสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์สำหรับลูกค้ารายย่อยยังมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงจากการกระจุกตัวในด้านผลิตภัณฑ์ของสินเชื่อได้ โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2552 สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์สำหรับลูกค้ารายย่อยคงค้างประกอบด้วยรถยนต์นั่งและรถกระบะจำนวน 42.9% รถตู้ 15.1% รถบรรทุก 26.4% รถแท็กซี่ 13.1% รถโดยสาร 1.1% และสินเชื่อสำหรับลูกค้าเก่า 1.4% แม้ว่าสัดส่วนสินเชื่อสำหรับยานพาหนะเพื่อการพาณิชย์ เช่น รถบรรทุก รถตู้ และรถแท็กซี่จะสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่า แต่ส่วนผสมของสินเชื่อเช่าซื้อดังกล่าวของบริษัทมีความเสี่ยงที่สูงกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่อื่นๆ ที่เน้นให้สินเชื่อสำหรับรถยนต์นั่งและรถกระบะเนื่องจากสภาพคล่องในการขายนั้นมีปัญหาน้อยกว่ารถประเภทอื่นในกลุ่มเป้าหมายของบริษัท ดังนั้น เพื่อลดทอนความเสี่ยงที่สูงกว่า บริษัทจึงใช้กลยุทธ์ในการแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อเน้นสินเชื่อในผลิตภัณฑ์และกลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงน้อยเพื่อลดความเสี่ยงโดยรวม

แม้ว่าสินเชื่อของบริษัทจะมีความเสี่ยงที่สูงกว่า แต่อัตราส่วนของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (ค้างชำระมากกว่า 3 งวด) ต่อสินเชื่อรวมถัวเฉลี่ยอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับผู้ให้บริการรายอื่นๆ การมีคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์ ระบบการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ และนโยบายการอนุมัติสินเชื่อแบบอนุรักษ์นิยมจะเป็นปัจจัยที่ช่วยให้บริษัทสามารถดำรงคุณภาพสินทรัพย์ให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้แม้ว่าอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จะเพิ่มขึ้นจาก 0.99% ในปี 2547 เป็น 1.88% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2552 นอกจากนี้ การแข่งขันที่ทวีความรุนแรงในอุตสาหกรรมเช่าซื้อรถยนต์ยังมีผลกดดันต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัทและผู้ประกอบการรายอื่น โดยอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยของบริษัทอยู่ที่ระดับ 1.57% ในปี 2551 ซึ่งลดลงจาก 1.64% ในปี 2550 โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความเสียหายจำนวน 22 ล้านบาทในธุรกิจแฟคตอริ่ง ระดับความสามารถในการกำไรดังกล่าวถือว่าต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ

ในด้านของแหล่งเงินทุนนั้น ทริสเรทติ้งกล่าวว่าบริษัทเอเซียเสริมกิจลีสซิ่งได้รับประโยชน์จากการมีสถานะเป็นบริษัทในเครือของธนาคารกรุงเทพ อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ดังกล่าวมีข้อจำกัดจากการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับการให้กู้ยืมแก่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกันของสถาบันการเงินซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2551 กฎเกณฑ์ดังกล่าวจำกัดจำนวนเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์ที่ให้แก่บริษัทที่เกี่ยวข้องของธนาคาร โดยเงินให้สินเชื่อแก่บริษัทที่เกี่ยวข้องถูกจำกัดไว้ไม่เกิน 5% ของเงินกองทุนของธนาคารหรือ 25% ของหนี้สินรวมของผู้กู้ โดยขึ้นอยู่กับว่าจำนวนใดน้อยกว่ากัน กฎเกณฑ์ดังกล่าวมีเวลา 5 ปีในการปรับตัว โดยไม่สามารถให้เงินกู้เพิ่มเติมได้หากสินเชื่อใหม่นั้นสูงกว่าจำนวนที่กฎเกณฑ์ดังกล่าวกำหนดไว้

ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2552 บริษัทมีเงินกู้ยืมรวมจากธนาคารกรุงเทพ 34.62% ของหนี้สินรวมของบริษัท กฎเกณฑ์ใหม่จำกัดความยืดหยุ่นทางเงินของบริษัทและความสามารถในการได้รับประโยชน์จากแหล่งทุนที่มีความมั่นคงจากธนาคารกรุงเทพ บริษัทพยายามหาแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินอื่นๆ รวมทั้งระดมทุนจากตลาดทุนซึ่งส่วนหนึ่งอาศัยความน่าเชื่อถือของบริษัทแม่ในต่างประเทศ นอกจากนี้ บริษัทจะเก็บวงเงินคงเหลือจากธนาคารกรุงเทพไว้เป็นแหล่งเงินทุนสำรองเพื่อลดความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง ทั้งนี้ จะมีการติดตามโครงสร้างเงินทุนและแผนการชำระคืนเงินกู้จำนวน 3,000 ล้านบาทของบริษัทซึ่งจะครบกำหนดในปี 2553 อย่างใกล้ชิดต่อไป ทริสเรทติ้งกล่าว

บริษัท เอเซียเสริมกิจลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) (ASK)

อันดับเครดิตองค์กร: คงเดิมที่ BBB+

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable (คงที่)

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ