อย่างไรก็ดี นางสาวอุสราเชื่อว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะค่อยเป็นค่อยไปมากกว่าจะฟื้นเป็นรูปตัววี (V-shaped) ธนาคารคาดว่าการเติบโตของไทยในปีหน้าจะอยู่ที่ระดับ 2.8% และแข็งแกร่งขึ้นเป็น 4.5% ในปี 2554
“ธนาคารยังมองว่าแนวโน้มการเติบโตในระยะสั้นยังต้องระมัดระวัง โดยมีปัจจัยสำคัญสามประการ ได้แก่ ประการแรก เสถียรภาพทางการเมืองที่ยังไม่นิ่ง ประการที่สอง วัฏจักรของการลงทุนใหม่ๆ ซึ่งยังต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว และประการที่สาม ภาคการส่งออกซึ่งโอกาสที่จะกลับมาเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจยังเป็นไปได้ยาก”
จริงๆ แล้ว ความสามารถในการบริโภคของคนไทยยังอยู่ในภาวะแข็งแกร่งเนื่องจากความมั่งคั่งของกลุ่มผู้บริโภคคนไทยได้รับผลกระทบน้อยจากวิกฤตการเงินโลก แต่เหตุที่ทำให้คนไทยระมัดระวังในการใช้จ่ายในช่วงที่ผ่านมาเกิดจากขาดความมั่นใจในเสถียรภาพทางการเมือง
ในขณะที่กำลังการผลิตส่วนเกินภายในประเทศยังมีอยู่มาก จะทำให้การฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนเป็นไปอย่างเชื่องช้า เป็นที่น่าสังเกตว่าการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมยังคงอยู่ในระดับต่ำมากในอุตสาหกรรมหลักๆ ได้แก่ ก่อสร้าง อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า นั่นหมายความว่า โอกาสที่จะมีการลงทุนใหม่ๆในภาคเอกชนเพื่อขยายกำลังการผลิตในอนาคตอันใกล้มีความเป็นไปได้น้อย
ส่วนความต้องการในภาคส่งออกที่ยังคงอ่อนแรงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีการใช้กำลังการผลิตในระดับต่ำ ขณะเดียวกันตลาดส่งออกรายใหญ่สองในสามอันดับต้นของไทย คือสหรัฐและญี่ปุ่น ยังคงอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยและคาดว่าจะฟื้นตัวในลักษณะค่อยเป็นค่อยไปในปีหน้า
จากปัจจัยที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ทำให้คาดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะค่อยเป็นค่อยไปมากกว่าจะฟื้นเป็นรูปตัววี (V-shaped)
ส่วนในประเด็นเงินเฟ้อเชื่อว่าไม่น่าเป็นปัญหาที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องกังวลเนื่องจากไม่มีแรงกดดันด้านอุปสงค์ในขณะนี้ ปัจจัยหลักที่จะสร้างแรงกดดันให้กับเงินเฟ้อน่าจะมาจากราคาน้ำมันมากกว่าแรงกดดันด้านอุปสงค์ เนื่องจากกำลังการผลิตภายในประเทศที่เพียงพอ ดังนั้น เงินเฟ้อพื้นฐานน่าจะยังอยู่ในกรอบของธปท.ในปีหน้า
จึงทำให้คาดว่ายังไม่มีความจำเป็นที่ ธปท.จะต้องรีบพิจารณาขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีหน้า สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดคาดว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งต่อไปยังไม่น่าจะเกิดขึ้นจนกระทั่งราวต้นปี 2554
ปัญหาท้าทายทางเศรษฐกิจในปีนี้น่าจะอยู่ที่สภาพคล่องในระบบการเงินที่มีแนวโน้มลดลง เป็นที่สังเกตว่ารัฐบาลกำลังใช้นโยบายขาดดุลงบประมาณที่ 3.5% ของจีดีพี ในปีงบประมาณ 2553 ถ้ารวมถึงยอดเงินกู้พิเศษภายใต้พระราชบัญญัติและพระราชกำหนดกู้เงินแล้ว ตัวเลขการขาดดุลเงินสดของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2553 จะสูงถึง 6.7% ของจีดีพี ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่สูงเป็นประวัติการณ์
ความต้องการระดมเงินจากภาครัฐในปริมาณที่สูงมากเป็นประวัติการณ์เช่นนี้ จะมีผลดูดซับสภาพคล่องส่วนเกินในระบบธนาคารพาณิชย์ให้ลดลงอย่างหลีกเลี่ยงได้ยากและจะสร้างแรงกดดันต่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดให้ขยับสูงขึ้นในอนาคต สภาพคล่องส่วนเกินในระบบธนาคาร ซึ่งวัดจากการทำธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรแบบทวิภาคีบวกกับเงินฝาก และการฝากเงินระยะสั้นของธนาคารพาณิชย์ที่ธปท. มีปริมาณลดลงในช่วงที่ผ่านมา โดยในปัจจุบันเหลืออยู่ที่ 650,000 ล้านบาท ตัวเลขดังกล่าวสอดคล้องกับสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก ซึ่งเริ่มขยับสูงขึ้นเล็กน้อย
ก่อนหน้านี้รัฐบาลประกาศว่าจะระดมเงินเป็นจำนวน 810,000 ล้านบาทในปีงบประมาณหน้า ซึ่งในจำนวนนี้ ประมาณ 380,000 ล้านบาทจะระดมจากตลาดพันธบัตร โดยออกพันธบัตรรัฐบาลและตราสารอัตราดดอกเบี้ยลอยตัว (FRN) ส่วนอีกจำนวน 430,000 ล้านบาทจะระดมผ่านระบบธนาคารพาณิชย์ โดยออกพันธบัตรออมทรัพย์ ตั๋วสัญญาใช้เงิน และเงินกู้จากธนาคาร
ส่วนความต้องเงินในภาคเอกชนในปีหน้าคาดว่าไม่ต่ำกว่า 945,000 ล้านบาท สินเชื่อคงค้างของธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบันโดยรวมอยู่ที่ 8.5 ล้านล้านบาท หากธนาคารตั้งเป้าที่จะเติบโตสินเชื่อ 5% ในปีหน้า หมายความว่า การปล่อยสินเชื่อใหม่จะอยู่ที่ 425,000 ล้านบาท
ในขณะที่แต่ละปี การออกหุ้นกู้เพื่อระดมทุนของเอกชนเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 250,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีโครงการปล่อยสินเชื่อ Fast Track จำนวน 300,000 ล้านบาทสำหรับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยรัฐบาลจะเพิ่มทุนให้แก่ธนาคารของรัฐเป็นจำนวน 30,000 ล้านบาท ซึ่งหมายความว่าธนาคารของรัฐทั้งหลายจะมีความต้องการสภาพคล่องเพิ่มเติมเป็นจำนวน 270,000 ล้านบาท เพื่อปล่อยสินเชื่อใหม่ภายใต้โครงการนี้
จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า ความต้องการเงินจากทั้งภาครัฐและเอกชนที่สูงขึ้นอย่างมากในปีหน้าจะมีผลทำให้ต้นทุนการกู้ยืมแพงขึ้น เนื่องจากสภาพคล่องส่วนเกินในระบบธนาคารพาณิชย์ที่มีแนวโน้มลดลง จะเพิ่มแรงกดดันต่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดให้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในปีหน้า