กระทรวงพลังงาน (พน.) ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร จัดงานสัมมนาเผยแพร่ผลการดำเนินโครงการ “การส่งเสริมการใช้ถังหมักก๊าซชีวภาพในโรงเรียน กทม.” โดยมีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 40 แห่ง เข้ารับประกาศนียบัตร จากนายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล และนายพรเทพ เตชะไพบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ณ โรงแรมปริ้นซ์พาเลซ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย
นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า “การส่งเสริมและพัฒนาพลังงานทดแทน ถือเป็นหนึ่งนโยบายด้านพลังงานของรัฐบาลที่ต้องเร่งดำเนินการให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม พน. จึงผลักดันโครงการพลังงานทดแทนในรูปแบบต่างๆ ให้เกิดผลสัมฤทธิ์โดยเร็ว โดยได้จัดทำกรอบแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี (พ.ศ. 2551-2565) โดยกำหนดเป้าหมายให้มีการใช้พลังงานทดแทนร้อยละ 20 ของการใช้พลังงานรวมขั้นสุดท้ายของประเทศในปี 2565 ได้แก่ การผลิตพลังงานทดแทนในรูปของไฟฟ้า ความร้อน เชื้อเพลิงชีวภาพ และ NGV ซึ่งจะสามารถทดแทนการใช้น้ำมันดิบได้ประมาณ 20 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 461,000 ล้านบาท ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 42 ล้านตัน
ตามแผนการพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี ได้กำหนดเป้าหมายการนำขยะมาผลิตพลังงานในรูปของไฟฟ้าให้ได้ 160 เมกะวัตต์ และผลิตพลังงานในรูปของความร้อนให้ได้ 35 ktoe (พันตันน้ำมันดิบเทียบเท่า) ภายในปี 2565 ซึ่งจะสามารถทดแทนการใช้น้ำมันดิบได้ประมาณ 780 แสนบาร์เรล คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,802 ล้านบาท ช่วยลด การปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ ปีละ 3 แสนตัน
ดังนั้น เพื่อผลักดันให้แผนพัฒนาพลังงานทดแทน บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ พน. จึงมีมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนสำหรับผู้ประกอบการและนักลงทุน ได้แก่ มาตรการสนับสนุนราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเพิ่ม (Adder Cost) สนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ การยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์ที่นำมาผลิตพลังงานทดแทน พร้อมทั้งยกเว้นภาษีรายได้เป็นระยะเวลาถึง 8 ปี กองทุน ESCO FUND เป็นต้น นอกจากนี้โครงการผลิตพลังงานทดแทนยังช่วยลดการปลดปล่อย ก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศ จึงสามารถยื่นข้อเสนอในการขายคาร์บอนเครดิตในโครงการ CDM ได้อีกด้วย
นายไกรฤทธ์ นิลคูหา อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า พน. โดย พพ. ร่วมกับ สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ดำเนินโครงการส่งเสริมการใช้ถังหมักก๊าซชีวภาพในโรงเรียนกทม. ได้ติดตั้งถังหมักก๊าซชีวภาพจากขยะอินทรีย์ให้กับโรงเรียนในสังกัด กทม. 40 แห่ง โดย กทม. จัดสรรงบประมาณเพื่อจัดซื้อถังหมักก๊าซชีวภาพ ส่วน พพ. ให้การสนับสนุนในการดำเนินงานต่างๆ ประกอบด้วย การคัดเลือกโรงเรียนในสังกัด กทม. ที่มีความเหมาะสมเข้าร่วมโครงการ การจัดงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการเพื่อประชาสัมพันธ์ความร่วมมือระหว่าง พน.และกทม. การจัดอบรม ให้ความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการผลิตก๊าซชีวภาพจากขยะอินทรีย์กับคุณครูและนักเรียน การติดตั้งถังหมักก๊าซชีวภาพจากขยะอินทรีย์ พร้อมทั้งอบรมวิธีการเดินระบบฯและการใช้งานถังหมักก๊าซชีวภาพ ติดตามผลการใช้งาน รวมทั้ง ให้คำปรึกษาและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในการใช้งานถังหมัก จัดกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมให้กับนักเรียนและบุคลากรในโรงเรียนในรูปแบบกิจกรรม Road Show เข้าไปในโรงเรียน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของนักเรียนในทุกระดับชั้น
สำหรับโครงการ “ส่งเสริมการใช้ถังหมักก๊าซชีวภาพในโรงเรียน กทม.” ถึงแม้ว่าเป็นโครงการขนาดเล็กๆ แต่ก่อให้เกิดประโยชน์ด้านการกำจัดขยะอินทรีย์ในโรงเรียนลงสู่แหล่งฝังกลบ ได้ 320 ตัน/ปี การนำก๊าซชีวภาพที่เกิดขึ้นไปใช้ประโยชน์ทดแทนก๊าซ LPG ได้ 9.2 ตันต่อปี ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ได้ 32 ตันต่อปี แต่มีผลประโยชน์ตามมาด้านอื่นๆ อีกมากเช่น ลดการขยายพื้นที่ที่ต้องใช้ในการฝังกลบอย่างต่อเนื่อง และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นปัญหากลิ่นเน่าเหม็น การปนเปื้อนของน้ำชะขยะมูลฝอย การแพร่กระจายของเชื้อโรค ตลอดจนการปล่อยก๊าซมีเทนซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาโลกร้อนอีกด้วย”