อ.อ.ป. เป็นหน่วยงานในสังกัด ทส. ที่มีบทบาทด้านการปลูกสร้างสวนป่าเศรษฐกิจด้วยระบบหมู่บ้านป่าไม้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2511 บนพื้นฐานของการจัดการสวนป่าเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนได้จัดตั้งศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยขึ้น ซึ่งขณะนี้ได้ถูกยกฐานะให้เป็น สถาบัน- คชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในการทำหน้าที่อนุรักษ์บริบาลช้างไทยอย่างครบวงจร โดย อ.อ.ป. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญเกี่ยวกับทรัพยากร ป่าไม้ การเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ และสร้างความสมบูรณ์ของผืนป่า รวมถึงภาวะความเสี่ยงของจำนวนประชากรช้างไทย ในอนาคต เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงเกื้อกูลซึ่งกันและกันเนื่องจากป่าและช้างต้องอยู่ร่วมกัน จึงได้จัดกิจกรรมภายใต้ชื่อ “ดอกสักหมื่นล้าน อลังการช้างไทย”
... “ดอกสัก มีลักษณะเป็นดอกเล็ก สีขาวนวล เป็นช่อใหญ่หลวมๆ ตามปลายกิ่ง ดอกร่วงง่าย มีเกสรผู้ 5 อัน มักจะผลิดอกในช่วงราวเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน” …
ดอกสักหมื่นล้านที่บานสะพรั่ง เป็นสิ่งที่สื่อให้เห็นถึงความสมบูรณ์ของทรัพยากรพื้นที่ป่าเศรษฐกิจบนพื้นที่ของสวนป่าได้เป็นอย่างดี และเป็นสิ่งที่บ่งชี้ถึงความสำเร็จของระบบการจัดการสวนป่าเศรษฐกิจบนพื้นฐานของความยั่งยืนให้กับ อ.อ.ป. ได้อย่างดีเยี่ยม ปัจจุบัน อ.อ.ป. ดูแลพื้นที่สวนป่าเศรษฐกิจมาแล้ว กว่า 40 ปี ช่วยเหลือราษฎรผู้ยากจน ไร้อาชีพ และไร้ที่ดินทำกิน ที่เข้ามาเป็นสมาชิกหมู่บ้านป่าไม้แนวร่วมพัฒนาสวนป่าเศรษฐกิจ ตลอดจนราษฎรที่อาศัยอยู่รายรอบพื้นที่สวนป่าเป็นจำนวนมากกว่า 1 แสนครอบครัว มีสวนป่ากระจายตัวอยู่ตามภูมิภาค กว่า 1.1 ล้านไร่ ปลูกไม้สักกว่า 5 แสนไร่ มากกว่า 50 % ของไม้ที่ปลูก ไม้ยางพารากว่า 3 หมื่นไร่ ไม้ยูคาลิปตัสกว่า 2 แสนไร่ และไม้มีค่าชนิดอื่นๆ อีกกว่า 3 แสนไร่ ซึ่งพื้นที่ ป่าเศรษฐกิจที่ อ.อ.ป. ปลูกนี้ ยังจะช่วยสร้างความสมดุลให้กับสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่เป็นปอดให้กับโลกในการ ดูดซับก๊าซคาร์บอนออกไดออกไซด์มาสะสมไว้ในรูปของคาร์บอน มากกว่า 2 ล้านตัน ในขณะเดียวกันก็ปลดปล่อยออกซิเจนออกมาอีกไม่น้อยกว่า 6 ล้านตัน ซึ่งนั่นก็หมายค
วามว่า ไม้ที่ อ.อ.ป. ปลูกมีการเจริญเติบโตขึ้นทุกปีก็เท่ากับว่า มีการเพิ่มพูนคาร์บอนไว้ในเนื้อไม้ไม่น้อยกว่า 0.4 ล้านตันต่อปี กอปรกับสวนป่าเศรษฐกิจของ อ.อ.ป. ยังสามารถเป็นแนวกันชนป้องกันการทำลายพื้นที่ป่าอนุรักษ์ได้อีกทางหนึ่ง
รองปลัดกระทรวง สำนักงาน ทส. กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดการสวนป่าเศรษฐกิจของ อ.อ.ป. ไม่เพียงมุ่งเน้นเรื่องเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมเท่านั้น ยังช่วยสร้างสังคมในชนบท โดยมุ่งเน้นการดำเนินงาน ด้านอนุรักษ์และบริบาลช้างไทย โดยหวังให้มีความสอดคล้องร่วมกันระหว่างป่าเศรษฐกิจกับช้างไทย ปัจจุบัน อ.อ.ป. มีช้างเลี้ยงที่อยู่ในความดูแล จำนวน 55 เชือก ที่สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ จังหวัดลำปาง มีโรงพยาบาลช้างศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ไว้คอยรักษาพยาบาลช้างเจ็บป่วย รวมถึงการให้บริการคลินิกช้างเคลื่อนที่ฟรี ซึ่งปัจจุบันมีช้างที่เข้ารับการรักษา จำนวน 14 เชือก มีสถานบริบาลช้างเจ็บป่วย ช้างชรา ช้างพิการ ตลอดจนช้างดุร้ายที่ไม่มีใครต้องการ อยู่ที่ศูนย์บริบาลช้างบ้านปางหละ อ.งาว จ.ลำปาง อีกจำนวน 28 เชือก ซึ่งที่นี่ถือได้ว่าเป็นบ้านหลังสุดท้ายของช้างเหล่านี้ก็ว่าได้ นอกจากนี้ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ ให้ดูแลช้างสำคัญอีก 6 ช้าง
ปัจจุบันจำนวนช้างป่าและช้างเลี้ยงในประเทศไทย มีอัตราการลดลงอย่างต่อเนื่อง เกิดจากหลายสาเหตุการนำช้างเข้ามาเร่ร่อนในเมืองก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ได้ เนื่องจากช้างไม่มีโอกาสได้ผสมพันธุ์ การไม่มีพื้นที่อยู่อาศัยอย่างเพียงพอ เกิดอุบัติเหตุจากการเร่ร่อนบนท้องถนน ซึ่งเรื่องนี้ ในเบื้องต้น ทส. รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องได้ร่วมหารือกับ อ.อ.ป. เกี่ยวกับความเป็นไปได้ ในการจัดสรรพื้นที่สวนป่าเศรษฐกิจของ อ.อ.ป. บางส่วน เพื่อรองรับช้างเร่ร่อนให้ได้อยู่ตามธรรมชาติ ตลอดจนสามารถสร้างงาน สร้างรายได้ อย่างต่อเนื่องให้กับควาญและเจ้าของช้างควบคู่กัน
และในโอกาสที่ ทส. ได้จัดกิจกรรมเทิดพระเกียรติจากวันแม่สู่วันพ่อ ภายใต้โครงการเหลือง-ฟ้า มหามงคลเทิดพระเกียรติ จากวันแม่สู่วันพ่อ อ.อ.ป. ได้กำหนดกิจกรรมเข้าร่วมเทิดพระเกียรติ ภายใต้ชื่อ “โครงการเหลือง-ฟ้า มหามงคล บ้านพักช้างชราปางหละ ที่ อ.งาว จ.ลำปาง” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวกับ การอนุรักษ์และบริบาลช้างไทย อาทิ การเปิดโครงการบ้านพักช้างชราปางหละ การให้บริการตรวจรักษาสุขภาพช้าง การปลูกพืชอาหารช้าง การพัฒนาแหล่งอาหารช้าง ตลอดจนการปลูกพืชสมุนไพร - ยาบำรุงสำหรับช้าง เพื่อคงไว้ซึ่งภูมิปัญญาไทยดังเดิมที่เกี่ยวข้องกับช้าง สำหรับโครงการเทิดพระเกียรตินี้ จะเริ่มเปิดกิจกรรมใน วันที่ 21 พ.ย. 52 นี้
ดังนั้น ในโอกาสหัวข้อของแถลงข่าว ภายใต้ชื่อ ดอกสักหมื่นล้าน อลังการช้างไทย จึงขอเชิญชวนประชาชนคนไทยร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อม สร้างความยั่งยืนให้กับทรัพยากรป่าไม้ โดยการปลูกต้นไม้ในทุกๆ โอกาสที่สามารถทำได้ ตลอดจนช่วยกันอนุรักษ์และบริบาลช้างไทย ด้วยการช่วยกันเพิ่มพื้นที่ป่า เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้เป็นแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยของช้างเพื่อคงไว้ซึ่งช้างไทยมิให้สูญพันธุ์ต่อไป
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 022823875 [email protected]