นายสุเทพ พีตกานนท์ ประธานกิตติมศักดิ์ บริษัทหลักทรัพย์ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการนี้เป็นหนึ่งในโครงการเพื่อพนักงานของบริษัทฯ ที่สนับสนุนให้พนักงานที่สมัครใจเข้าร่วมเป็นสมาชิก ค่อยๆ เก็บออมโดยการลงทุนซื้อหุ้นของบริษัทฯ โดยพนักงานจ่ายเงินลงทุน และบริษัทฯ ให้เงินสมทบส่วนหนึ่งแก่พนักงาน เพื่อซื้อหุ้นของบริษัทฯ อย่างสม่ำเสมอ ผ่านระบบงานที่มีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามกฎระเบียบข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์ฯ สำนักงาน ก.ล.ต. และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง โครงการนี้จะช่วยเพิ่มแรงจูงใจ และช่วยส่งเสริมให้พนักงานมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของบริษัท และมีความคิดและมุมมองไปในแนวทางเดียวกับผู้ถือหุ้นของบริษัท
“ปัจจุบัน บริษัทฯ มีสวัสดิการต่างๆ ที่จัดให้แก่พนักงานอยู่หลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ หรือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ แต่โครงการ EJIP มีโครงสร้างและลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์แตกต่างจากสวัสดิการอื่น เนื่องจากเป็นโครงการที่ตั้งขึ้นเพื่อพนักงานในรูปแบบกึ่งสวัสดิการกึ่งผลตอบแทน โดยเป็นรูปแบบของการลงทุนร่วมกันระหว่างบริษัทฯ กับพนักงานที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ ซึ่งพนักงานสามารถกำหนดจำนวนเงินลงทุนเพื่อซื้อหุ้นของบริษัทฯ ได้ตามความสมัครใจ และบริษัทฯ จะให้เงินสมทบส่วนหนึ่งเพื่อรวมเป็นเงินลงทุนซื้อหุ้น ซึ่งหุ้นที่ซื้อภายใต้โครงการนี้จะเป็นชื่อของพนักงานแต่ละคน ดังนั้น พวกเขาจะไม่เป็นเพียงพนักงานของบริษัทฯ เท่านั้น แต่พวกเขายังเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ด้วย
อย่างไรก็ดี การดำเนินโครงการ EJIP พนักงานที่เข้าร่วมโครงการจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขและข้อกำหนดของโครงการฯ แบบเดียวกัน โครงการฯ นี้ถือได้ว่าเป็นโครงการร่วมลงทุนในรูปแบบใหม่ ดังนั้น ทั้งผู้บริหารของบริษัทฯ และพนักงานที่เข้าร่วมโครงการฯ จะต้องทำการศึกษาให้เข้าใจถึงรายละเอียดรูปแบบการดำเนินงานและโครงสร้างของ EJIP ซึ่งเมื่อทั้งสองฝ่ายมีความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกันแล้ว บริษัทฯ และพนักงานก็จะได้รับผลประโยชน์จากโครงการฯ ร่วมกัน และร่วมกันทำงานภายใต้แนวคิดและเป้าหมายเดียวกัน ตามสโลแกนที่ทางบริษัทฯ ได้ตั้งไว้กับโครงการ EJIP นี้ว่า... ร่วมแรง ร่วมลงทุน รวมเป้าหมาย” นายสุเทพสรุปทิ้งท้าย
Mr. Takeshi Nishida กรรมการอำนวยการและประธานคณะกรรมการ บล.พัฒนสินฯ ได้เล่าถึงที่มาของธุรกรรม EJIP ว่า ในปี 2007 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้รับเกียรติจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการนำกลุ่มผู้บริหารระดับสูงของทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ไปศึกษารูปแบบดำเนินงานโครงการ EJIP ณ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีการจัดทำโครงการ EJIP มายาวนาวตั้งแต่ปี 1968 และเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการจัดทำโครงการ EJIP เพื่อพนักงานเป็นอย่างมาก มีบริษัทจดทะเบียนเข้าร่วมโครงการ EJIP ถึง 1,844 บริษัท จากจำนวนบริษัทจดทะเบียนทั้งสิ้น 2,373 บริษัท และมีจำนวนพนักงานที่อยู่ภายใต้โครงการ EJIP นี้ กว่า 1.91 ล้านคน ด้วยเหตุนี้ ทำให้กลุ่มผู้บริหารฯ เกิดแนวคิดในการนำรูปแบบธุรกรรม EJIP ที่มีโครงสร้างอันเป็นประโยชน์ต่อบริษัทจดทะเบียนและพนักงานของบริษัทจดทะเบียน มาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาตลาดทุนของประเทศไทย
สำหรับโครงการ EJIP นี้ ถือเป็นโครงการลงทุนแบบระยะกลางถึงยาวร่วมกันระหว่างบริษัทฯ กับพนักงานที่สมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิก ที่เราต่างก็มีจุดมุ่งหมายในสิ่งเดียวกัน นั่นคือความต้องการที่จะสร้างผลการดำเนินงานที่ดี โดยมุ่งหวังให้บริษัทฯ สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นคง นอกจากนั้น โครงการ EJIP ยังถือเป็นเครื่องมือที่ช่วยผลักดันให้เกิดมูลค่าเพิ่มและผลประโยชน์มากมายในส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ
โครงการ EJIP นี้ จะเป็นผลประโยชน์อีกรูปแบบหนึ่งที่บริษัทฯ สามารถมอบให้กับพนักงานทุกๆ คนที่เข้าร่วมในโครงการ EJIP นี้ โดยพนักงานจะได้รับผลตอบแทนจากโครงการร่วมลงทุนในรูปแบบใหม่นี้ ในขณะที่ผู้ถือหุ้นก็จะได้ประโยชน์จากสภาพคล่องของหุ้นที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ EJIP ยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งจะที่ช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับตลาดทุนไทย โดยจะมีจำนวนบัญชีซื้อ/ขายหุ้นที่เปิดเพิ่มมากขึ้นจากพนักงานที่เข้าร่วมโครงการฯ จะเห็นได้ว่า ผู้บริหารของบริษัทฯ และผู้ถือหุ้นต่างก็ได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งก็เปรียบเสมือนอยู่บนเรือลำเดียวกันนั่นเอง
ทางบริษัทฯ ได้เริ่มนำโครงการ EJIP มาใช้กับพนักงานของเราเป็นแห่งแรกตั้งแต่ 1 ต.ค. 2552 ที่ผ่านมา โดยมีข้อกำหนดและเงื่อนไขของโครงการที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างจากโครงการฯ ของ CPALL และ BCP ที่มีในขณะนี้
โครงการ EJIP ของ บล. พัฒนสิน เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2552 โดยไม่กำหนดวันสิ้นสุดโครงการ นั่นหมายถึงเป็นแผนการลงทุนระยะยาวและเป็นผลประโยชน์ของพนักงานโดยตรง พนักงานทุกคนของบริษัทฯ มีสิทธิที่จะเข้าร่วมโครงการ ยกเว้นคณะกรรมการบริษัทฯ ที่จะไม่มีสิทธิเข้าร่วมในโครงการนี้ สำหรับอัตราการจ่ายเงินลงทุนของพนักงานนั้น พนักงานสามารถเลือกกำหนดจำนวนเงินลงทุนเพื่อซื้อหุ้นของบริษัทฯ ได้ตามความสมัครใจ โดยขั้นต่ำต้องไม่น้อยกว่า 500 บาท แต่ไม่เกิน 10% ของเงินเดือน และบริษัทฯ จะให้เงินสมทบแก่พนักงานอีก 10% ของจำนวนเงินลงทุนของพนักงาน เพื่อสมทบซื้อหุ้นของบริษัทฯ
อย่างไรก็ดี บริษัทฯ ให้สิทธิพนักงานสามารถขายหุ้นที่ซื้อภายใต้โครงการ EJIP นี้ได้ทุกเดือน โดยค่าขายหุ้นจะเข้าบัญชีธนาคารของพนักงานเอง นอกจากนี้ พนักงานยังมีสิทธิที่จะขอเปลี่ยนแปลงจำนวนเงินลงทุนของพนักงานได้ปีละ 2 ครั้ง หรือขอระงับการจ่ายเงินลงทุนเป็นการชั่วคราวได้ โดยยังคงสมาชิกภาพของโครงการอยู่ หรือจะขอลาออกจากการเป็นสมาชิกโครงการก็ได้เช่นกัน
ทั้งนี้ เมื่อโครงการ EJIP ของบริษัทฯ ดำเนินงานครบรอบ 1 ปี บริษัทฯ จะมีเงินสมทบพิเศษให้แก่พนักงานที่เข้าร่วมโครงการอีก 2 เท่าของจำนวนเงินสมทบที่บริษัทฯ ได้จ่ายให้แก่พนักงานในรอบปีด้วย
ผมถือว่า บริษัทฯ เราเป็นโบรกเกอร์รายแรกที่จัดทำโครงการ EJIP ให้กับพนักงานของเรา โดยเป็นโครงการที่มีหลักการและโครงสร้างที่เหมือนกับต้นแบบในญี่ปุ่น แตกต่างจากโครงการ EJIP อื่นที่มีในประเทศไทย ณ ขณะนี้ เราจึงเป็นโบรกเกอร์เดียวที่นำเสนอโครงการ EJIP ในลักษณะโครงสร้างแบบนี้ และเราพร้อมที่จะให้บริการจัดทำโครงการ EJIP แก่บริษัทจดทะเทียนในประเทศไทยด้วยเช่นกัน และน่าจะได้รับการตอบรับที่ดีเช่นเดียวกับความสำเร็จของโครการ EJIP ที่ได้เกิดขึ้นแล้วในประเทศญี่ปุ่น” Mr. Nishida กล่าวทิ้งท้ายอย่างมั่นใจ
นายนิมิต วงศ์จริยกุล กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บล. พัฒนสิน กล่าวถึงแผนการตลาดของบริษัทฯ เกี่ยวกับธุรกรรม EJIP ว่า การที่บริษัทจดทะเบียนในประเทศไทยจัดทำโครงการ EJIP จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยขยายฐานผู้ลงทุนไทยที่มีคุณภาพให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยเป็นการขยายฐานนักลงทุนผ่านพนักงานของบริษัทจดทะเบียน ให้เข้ามาลงทุนในหุ้นของบริษัทที่ตนเองคุ้นเคย หรืออีกนัยหนึ่งคือ ลงทุนในหุ้นของบริษัทที่ตนเองทำงานอยู่ จะช่วยให้นักลงทุนมีความมั่นใจในการลงทุน เนื่องจากนักลงทุนรับรู้ถึงปัจจัยพื้นฐานของบริษัทเป็นอย่างดี เมื่อคุ้นเคยกับการลงทุนก็จะสามารถขยับไปลงทุนในหลักทรัพย์อื่นได้ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อตลาดเงินและตลาดทุนของประเทศ
ในปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียนไทยทั้งหมด 3 บริษัท ที่จัดตั้งโครงการ EJIP ให้กับพนักงาน คือ CPALL, BCP และ CNS โดยแนวคิดและหลักการของโครงการ EJIP ที่จะสร้างแรงจูงใจให้พนักงานทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีจุดยืนในการทำงานร่วมกัน อันจะนำมาซึ่งความสำเร็จขององค์กร ถือเป็นแรงจูงใจสำคัญที่จะทำให้ผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทยให้ความสนใจในการจัดทำโครงการ EJIP เพื่อพนักงานของตนเพิ่มมากขึ้น
EJIP ถือเป็นโครงการแบบใหม่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ของประเทศไทย ฉะนั้น ในฐานะโบรกเกอร์ที่จะให้คำแนะนำในการจัดทำโครงการ EJIP แก่บริษัทจดทะเบียนแล้ว เราสามารถใช้ record ของโครงการ EJIP ของเรา เป็นตัวอย่างให้แก่ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนที่สนใจโครงการ EJIP เกิดความมั่นใจในการเริ่มต้นโครงการ
“วันนี้ บริษัทฯ มีความมั่นใจที่จะนำเสนอโครงการ EJIP ในรูปแบบและโครงสร้างเดียวกับโครงการ EJIP ในประเทศญี่ปุ่นให้แก่บริษัทจดทะเบียนในประเทศไทย แต่จะมีการปรับให้เข้ากันได้กับนโยบายของบริษัทแต่ละแห่ง ซึ่งในปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียนทั้งสิ้น 476 บริษัท จึงมีความเป็นไปได้ว่า แต่ละแห่งจะมีนโยบายการลงทุนระยะสั้น หรือมีรูปแบบการลงทุนระยะยาวแตกต่างกันออกไป
ในปัจจุบัน Broker House แต่ละแห่ง ต่างมีความเชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาด้านการลงทุน มีระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยคอยให้บริการแก่ลูกค้า ซึ่งถ้านำปัจจัยเหล่านี้มาใช้เป็นจุดขายก็อาจจะไม่มีความแตกต่างกันระหว่าง Broker แต่ละแห่งมากนัก แต่ปัจจัยหลักที่ CNS เราต่างจาก House อื่น ๆ และน่าจะเป็นจุดขายสำคัญที่ทำให้บริษัทจดทะเบียนต่าง ๆ พิจารณาเลือก CNS เป็นตัวแทนดำเนินโครงการ EJIP คือ
บริษัทไม่มีบัญชีซื้อขายหุ้นเพื่อการลงทุนของบริษัท (Proprietary Trading Account) ทั้งนี้ เนื่องจาก Broker ตัวแทนจะทราบข้อมูลเกี่ยวกับวันซื้อ/ขายหุ้นของโครงการ เมื่อบริษัทฯ ไม่มี Prop. Trade ทำให้บริษัทจดทะเบียนที่จะเข้ามาเป็นลูกค้าของบริษัทฯ ไม่มีความกังวลใจเกี่ยวกับการทำ Front Run หุ้นของบริษัทลูกค้าอย่างแน่นอน นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้เรียนรู้จากประสบการณ์การทำโครงการ EJIP ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทำให้บริษัทฯ สามารถให้คำแนะนำที่ดีแก่บริษัทจดทะเบียนในการจัดทำโครงการ EJIP ในทุกแง่มุม และสานประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
ในส่วนของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่จะใช้รองรับโครงการ EJIP บริษัทฯ ใช้ระบบ EJIP ที่พัฒนาขึ้นเองโดยโปรแกรมเมอร์ของบริษัทฯ ทำให้มีความยืดหยุ่นสูง สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามนโยบายของบริษัทจดทะเบียนแต่ละแห่ง และลดภาระงานบริหารบุคคลได้ สำหรับทีมงาน Back Office ของบริษัทฯ ก็มีศักยภาพมากพอที่จะรองรับปริมาณบัญชีซื้อขายหุ้นในโครงการ EJIP ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างที่ผ่านมา เช่น การทำ IPO หุ้นที่เข้าซื้อ/ขายในตลาดฯ ซึ่งทีมงานจะต้องรองรับทั้งการกระจายหุ้นที่จัดสรรให้กับลูกค้า และการเปิดบัญชีซื้อ/ขายหุ้นให้กับลูกค้าใหม่ ๆ ซึ่งรวมถึงพนักงานของบริษัทที่ทำ IPO ด้วย นอกจากนั้น บริษัทฯ มีระบบอินเตอร์เน็ต ที่จะอำนวยความสะดวกให้แก่พนักงานที่เข้าร่วมโครงการ EJIP ของบริษัทจดทะเบียนแต่ละแห่ง เพื่อใช้ในการตรวจสอบสถานะการลงทุนของตนเอง ดูจำนวนหุ้นคงเหลือในบัญชี และข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้องได้ตลอดเวลา
จากปัจจัยต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมา บริษัทฯ จึงเชื่อมั่นว่า บริษัทฯ มีความพร้อมที่จะให้บริการและแน่นอนว่า จะเป็นบริการที่ดีมีประสิทธิภาพในจัดทำโครงการ EJIP ให้แก่บริษัทจดทะเบียนในประเทศไทย” นายนิมิตสรุปในตอนท้าย
Chaweewan Nojit
Corporate & Marketing Communications Officer
Capital Nomura Securities Public Company Limited
Tel.02-6385622 Fax.02-2876008