ทช.ร่วมมือในโครงการ CalMarO ระหว่างประเทศ ศึกษาการสะสมหินปูนของสัตว์ทะเล

อังคาร ๒๐ ตุลาคม ๒๐๐๙ ๑๗:๕๗
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศ “Calcification by Marine Organisms : CalMarO” หรือโครงการศึกษาการสะสมหินปูนของสิ่งมีชีวิตในทะเล เพื่อพัฒนาเป็นฐานความรู้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาระบบนิเวศทางทะเล

นายวรรณเกียรติ ทับทิมแสง ผู้อำนวยสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน (สวพ.) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวถึงที่มาของโครงการ“Calcification by Marine Organisms : CalMarO” หรือโครงการศึกษาการสะสมหินปูนของสิ่งมีชีวิตในทะเล ว่า จากการปรากฏการณ์สภาวะโลกร้อนที่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจก ทำให้ ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์บนโลกเพิ่มขึ้น ซึ่งนอกจากจะสะสมอยู่ในอากาศแล้ว ยังได้ละลายลงไปในน้ำ ทำให้ค่าความเป็นกรดด่างของน้ำทะเลเปลี่ยนไป เมื่อน้ำทะเลมีความเป็นกรดเพิ่มขึ้น ได้ส่งผลให้การสะสมของหินปูนในสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลช้าลง การละลายหินปูนมีมากขึ้น สิ่งมีชีวิตใต้ทะเลโดยเฉพาะสัตว์ที่สร้างหินปูนขึ้นมาในการดำรงชีวิตจะได้รับผลกระทบ เนื่องจากการสร้างหินปูนเกิดได้ดีในภาวะน้ำทะเลปกติที่มีค่าความเป็นด่างเล็กน้อย ผลจากการเปลี่ยนแปลงการสะสมหินปูนนี้ จะทำให้สัตว์ใต้น้ำจำพวกหอย ปะการัง ดาวทะเล เม่นทะเล ตัวอ่อนของสัตว์ทะเลหลายชนิดเติบโตได้ช้า สัตว์ที่ลอกคราบเพื่อเจริญเติบโตก็จะใช้เวลาในการลอกคราบนานขึ้น นอกจากนี้แพลงก์ตอนและสัตว์เล็ก ๆ ซึ่งเป็นอาหารสำคัญของสัตว์ใต้ทะเลมีจำนวนลดน้อยลง ส่งผลให้ระบบนิเวศทางทะเลเสียสมดุล เพราะห่วงโซ่อาหารถูกทำลายลง นับเป็นปัญหาสำคัญที่จะส่งผลไปในวงกว้างและรุนแรงมากขึ้นหากยังไม่มีการแก้ไข ซึ่งกระทบมาถึงการดำรงชีวิตมนุษย์ในอนาคตด้วย

ด้วยตระหนักถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงการสะสมหินปูนของสิ่งมีชีวิตในทะเลที่จะทำให้ระบบนิเวศตามธรรมชาติของโลกเปลี่ยนแปลงไป จึงเกิดโครงการ “Calcification by Marine Organisms : CalMarO” หรือโครงการศึกษาการสะสมหินปูนของสิ่งมีชีวิตในทะเล ขึ้น ซึ่งเป็นความร่วมมือขององค์กร หน่วยงานจาก 8 ประเทศ ได้แก่ เยอรมันนี นอร์เวย์ อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส ออสเตรีย อิสราเอล และไทย รวมทั้งสิ้น 13 สถาบันวิจัย และ 4 บริษัท ประกอบไปด้วยคณะกรรมการ 2 ส่วน คือ คณะกรรมการบริหารและคณะกรรมการที่ปรึกษา โดยทุนสนับสนุนส่วนหนึ่งมาจากคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission : EU) โดยระยะแรกจะเลือกหานักวิจัย 12 คน มาฝึกอบรมและร่วมศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการสะสมหินปูนสิ่งมีชีวิตในทะเลโดยเฉพาะ โดยมีองค์กร สถาบันเครือข่ายร่วมสนับสนุนการดำเนินการ

ผอ.สวพ. ยังกล่าวต่อว่า ในส่วนของกรมฯ ดร.สมเกียรติ ขอเกียรติวงศ์ นักวิชาการประมง ระดับชำนาญการพิเศษ สวพ. ได้เป็นตัวแทนคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านวิชาการของโครงการ ทั้งดูแลการดำเนินการกิจกรรมโครงการเฉพาะในส่วนที่กรมฯ รับผิดชอบ ซึ่งได้ร่วมศึกษากับสถาบันในโครงการ CalMarO อีก 2 แห่ง ได้แก่ NIOO-KNAW ประเทศเนเธอร์แลนด์ และ AWI ประเทศเยอรมันนี เพื่อศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงค่า pH ในตัวอ่อนปะการังและการเจริญเติบโตของโคโลนี นอกจากนี้กรมฯ ยังได้ร่วมมือกับสถาบันมหาวิทยาลัยหลายแห่งในประเทศ เพื่อร่วมกันศึกษาวิจัย พร้อมทั้งขยายผลการศึกษาให้การทำงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จากการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศครั้งนี้ จะเอื้อต่อการศึกษา ค้นคว้าวิจัย และเก็บข้อมูลที่เป็นประโยชน์ อันจะนำไปพัฒนาเป็นฐานความรู้ในการป้องกัน แก้ไขปัญหาระบบนิเวศทางทะเลต่อไป

“การร่วมมือครั้งนี้ช่วยขยายเครือข่ายความร่วมมือทางด้านสมุทรศาสตร์ในวงกว้าง รวมทั้งยังช่วยให้หลายฝ่ายตื่นตัว หันมาตระหนักและเห็นความสำคัญของทรัพยากรและระบบนิเวศทางทะเล ที่ถูกคุกคามอยู่ในปัจจุบัน หากไม่เห็นความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังในวันนี้ วันข้างหน้าสัตว์น้ำในท้องทะเล ซึ่งเป็นแหล่งอาหารแหล่งใหญ่ของมนุษย์อาจไม่มีเหลือ ปะการังอันงดงามก็จะหายไปเหลือเพียงความทรงจำ” นายวรรณเกียรติ กล่าวในที่สุด

กลุ่มสื่อสารองค์กร กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 120 หมู่ 3 ชั้น 5 อาคารรวมหน่วยราชการ (อาคารบี) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210 โทรศัพท์ 0-2141-1299 โทรสาร 0-2143-9249

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๑ ม.ค. รู้จักโรคอ้วนดีแล้ว.จริงหรือ?
๓๑ ม.ค. บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ MBK ส่งมอบปฏิทินในกิจกรรม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ
๓๑ ม.ค. BSRC ออกหุ้นกู้รอบใหม่ 8,000 ล้านบาท ยอดจองเกินเป้า ตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน
๓๑ ม.ค. คปภ. ร่วมสัมมนาประกันภัย ครั้งที่ 29 เตรียมรับมือความเสี่ยงอุบัติใหม่ พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยสู่ความท้าทายในอนาคต
๓๑ ม.ค. มอบของขวัญให้กับครอบครัวของคุณช่วงวันหยุดพิเศษที่ สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๓๑ ม.ค. OR เปิดตัว CEO คนใหม่ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ มุ่งผลักดันไทยสู่ Oil Hub แห่งภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล-นวัตกรรม
๓๑ ม.ค. เดลต้า ประเทศไทย คว้ารางวัล ASEAN's Top Corporate Brand ประจำปี 2567
๓๑ ม.ค. โรงแรมอลอฟท์ กรุงเทพ สุขุมวิท 11 พลิกโฉมใหม่ สุดโมเดิร์น! พร้อมเปิดตัว w xyz bar ตอกย้ำความสนุกในแบบฉบับ
๓๑ ม.ค. PAUL JOE เปิดตัว GLOSSY ROUGE ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ 2025
๓๑ ม.ค. บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้รับเกียรติบัตรศูนย์ รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคระดับดีเด่น จาก สคบ. และการรับรองมาตรฐาน ISO