ดร.ประยูร ส่งสิริฤทธิกุล หัวหน้าฝ่ายระบบลำเลียงแสง สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์แสงสยามอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้สถาบันฯ ได้ร่วมกับบริษัท ซีเกทเทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด
จัดโครงการ “ค่ายวิทยาศาสตร์แสงสยาม ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 19-23 ตุลาคม 2552 ณ สถาบันวิจัยแสงซินโคร ตรอนจังหวัดนครราชสีมา โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมจากสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ จำนวน 60 คน เข้าร่วมเรียนรู้และสัมผัสงานวิจัยวิทยาศาสตร์ระดับสูงทางด้านเทคโนโลยีซินโครตรอน เพื่อประสบการณ์ในการศึกษาต่อและการพัฒนาตนเองไปสู่การเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยที่มีศักยภาพในอนาคต ทั้งเป็นการส่งเสริมให้นิสิต นักศึกษา เข้าใจถึงบทบาทของวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีต่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศ โดยมุ่งหวังที่จะเพิ่มจำนวนนักวิจัยของประเทศโดยเฉพาะทางด้านเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน และเสริมสร้างความเข้ม แข็งของกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์แสงซินโครตรอน ผ่านความร่วมมืองานวิจัยที่เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ในระดับบัณฑิต ศึกษาของมหาวิทยาลัยไทย
กิจกรรมค่ายวิทยาศาตร์แสงสยาม ครั้งที่ 6 นี้ประกอบด้วย การเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ร่วมปฎิบัติงานวิจัยด้านเทคโนโลยีซินโครตรอน และสัมผัสเทคโนโลยีการผลิตฮาร์ดดิสก์ระดับโลกร่วมกับนักวิจัยพี่เลี้ยง อาทิ เทคโนโลยีเครื่องเร่งอนุภาคเทคโนโลยีสุญญากาศระดับสูง เทคนิคการวิจัยด้านแสงซินโครตรอน และกระบวนการผลิตฮาร์ดดิสก์ พร้อมทั้งรับฟังการบรรยายพิเศษจากนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี 2552 อาทิ ผศ.ดร.อมรชัย อาภรณ์วิชานพ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผศ.ดร.สุรัตน์ ละภูเขียว จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ตลอดจนรับฟังการถ่ายทอดประสบการณ์จากเยาวชนผู้ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการนักศึกษาภาคฤดูร้อนเดซี ปี 2552 การฝึกปฏิบัติการทดลองกลุ่มย่อยภายในห้องปฏิบัติการแสงสยาม และโรงงานซีเกทเทคโนโลยี จังหวัดนครราชสีมา
นายพีระพล วิไลวงศ์เสถียร รองประธานฝ่ายปฏิบัติการโรงงานโคราช บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลา 30 ปี ในการดำเนินธุรกิจ ซีเกทมีนโยบายในด้านการส่งเสริมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่เยาวชน นิสิตนักศึกษาทั่วโลก ผ่านโครงการการเรียนรู้หลายประเภท โดยซีเกทเชื่อว่ากิจกรรมนอกหลักสูตรเปิดโอกาสให้เยาวชนได้เรียนรู้และทดลอง รวมถึงการทดสอบทางห้องปฏิบัติการและภาคสนาม จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ที่ได้ผลดี รวมถึงการพัฒนาศักยภาพในด้านวิทยาศาสตร์แก่เยาวชนไทย
ผมเชื่อมั่นว่ากิจกรรมนี้เสริมสร้างความรู้และความชำนาญทางด้านวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมที่ท้าทายให้แก่นิสิตนักศึกษาและซึ่งนับเป็นโอกาสดีที่เขาจะได้เข้าถึงแหล่งข้อมูลอันมีวิทยากรสูงสุดเช่นที่สถาบันแห่งนี้ และที่สำคัญไปกว่ากิจกรรมคือความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนที่เพิ่มมากขึ้น อันจะนำมาซึ่งการยกระดับความเป็นเลิศในด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ โดยเชื่อมต่อกับนักศึกษาซึ่งเป็นกลุ่มคน รุ่นใหม่ที่มีความสามารถจากสถาบันการศึกษาชั้นนำทั่วประเทศ”
สำหรับสิ่งที่ผู้เข้าร่วมค่ายวิทยาศาสตร์จะได้รับคือ ความรู้จากการบรรยายเกี่ยวกับแสงซินโครตรอน และการใช้ประโยชน์แสงซินโครตรอนในด้านต่างๆ เรียนรู้ถึงขั้นตอนการผลิตแสงซินโครตรอน และได้เข้าร่วมปฏิบัติการวิจัยโดยใช้เทคนิคการวัดต่างๆ ร่วมกับนักวิจัยของสถาบันฯ แยกตามสาขาที่สนใจ และศึกษาดูงานวิจัย ณ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) และบริษัท ซีเกทเทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ตลอดจนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันระหว่างกลุ่มนักศึกษา และนักวิทยาสตร์ชั้นนำของประเทศ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
งานประชาสัมพันธ์ สซ
โทร 0-4421-7040