ฟิทช์ปรับเพิ่มอันดับเครดิตสนับสนุนของธนาคารซีไอเอ็มบีไทยเป็น ‘2’ และให้อันดับเครดิตในประเทศระยะยาวที่ ‘A+(tha)’

ศุกร์ ๓๐ ตุลาคม ๒๐๐๙ ๑๑:๑๔
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศให้อันดับเครดิตแก่ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT ดังต่อไปนี้ อันดับเครดิตในประเทศระยะยาวที่ ‘A+(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1(tha)’ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่ ‘BBB-’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ ‘F3’ และอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ ‘D’ นอกจากนี้ ฟิทช์ได้ปรับเพิ่มอันดับเครดิตสนับสนุน (Support Rating) ของธนาคาร เป็น ‘2’ จาก ‘3’ และยังได้ให้อันดับเครดิตในประเทศสำหรับตราสารหนี้ด้อยสิทธิระยะยาวที่นับเป็นกองทุนชั้นที่ 2 (Upper Tier 2) ของ CIMBT ซึ่งได้ออกไปแล้วในเดือนมีนาคม 2552 จำนวน 2.5 พันล้านบาทและมีอายุ 10 ปี ที่ระดับ ‘A-(tha)’

การปรับเพิ่มอันดับเครดิตสนับสนุนสะท้อนถึงระดับการสนับสนุนที่เพิ่มขึ้นจากผู้ถือหุ้นหลักรายใหม่คือ CIMB Bank Berhad หรือ CIMB (ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่ BBB+ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) โดย CIMB ได้ทำการเพิ่มทุนและเข้าควบคุมด้านการบริหารของธนาคาร รวมทั้งให้ CIMBT ใช้ชื่อร่วมหลังจากที่เข้าซื้อหุ้นในเดือนมกราคม 2552 การให้การสนับสนุนด้านการดำเนินงานและการเงินดังกล่าว น่าจะช่วยส่งผลให้ผลประกอบการและระดับเงินกองทุนของ CIMBT มีการปรับตัวดีขึ้นในระยะกลาง จากการที่ CIMB เข้าถือหุ้นเกือบทั้งหมด รวมถึงการเข้าควบคุมด้านการบริหารและมีการใช้ชื่อร่วมกัน ฟิทช์คาดว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ CIMBT จะได้รับการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นหากมีความจำเป็น ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างผู้ถือหุ้นที่มีผลทำให้ระดับการสนับสนุนลดลง อาจจะมีผลต่ออันดับเครดิตของธนาคาร แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพของธนาคารสะท้อนถึงแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพของ CIMB และการสนับสนุนจาก CIMB ที่คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง อันดับเครดิตในประเทศสำหรับตราสารหนี้ด้อยสิทธิระยะยาวที่นับเป็นกองทุนชั้นที่ 2 ของ CIMBT อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าอันดับเครดิตในประเทศระยะยาวของธนาคารอยู่ 2 ระดับ เนื่องจากการสนับสนุนที่แข็งแกร่งจาก CIMB ในการที่ให้ธนาคารสามารถชำระดอกเบี้ยของตราสารหนี้ด้อยสิทธิดังกล่าวได้ แม้ในกรณีที่ธนาคารมีผลการดำเนินงานขาดทุน

CIMBT ประกาศผลประกอบการที่เริ่มแสดงผลกำไรในไตรมาส 3 ปี 2552 หลังจากที่ประสบผลขาดทุนจำนวนมากในสองปีที่ผ่านมา เนื่องจากการตัดขาดทุนของเงินลงทุนในตราสารประเภท CDO และจากค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ แม้ว่าผลประกอบการในปี 2552 น่าจะยังคงอยู่ในระดับที่อ่อนแอ แต่ผลประกอบการของธนาคารคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นในอีก 1 ถึง 2 ปี ข้างหน้าจากการขยายตัวของสินเชื่อและการเสร็จสิ้นของการรวมกิจการเข้ากับ CIMB

คุณภาพสินทรัพย์ของ CIMBT ยังคงอ่อนแอเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ไทยรายอื่น โดย CIMBT มีอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่ 16.5% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552 (เทียบกับ 14.4% ณ สิ้นปี 2551) ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากสินเชื่อที่ลดลง ในขณะที่ตัวเลขรวมของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ในระดับคงที่ที่ 13.4 พันล้านบาท อัตราส่วนการตั้งสำรอง ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552 อยู่ที่ 60% ของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยของอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตามคาดว่าอัตราส่วนการตั้งสำรองน่าจะมีการปรับตัวแข็งแกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต

อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากยังอยู่ในระดับที่ต่ำ เนื่องจากการขยายสินเชื่อในช่วงที่ผ่านมาถูกจำกัดโดยเงินกองทุนของธนาคารที่อยู่ในระดับต่ำ ความเสี่ยงทางด้านเงินทุนและสภาพคล่องน่าจะลดลงจากการสนับสนุนของ CIMB ในส่วนของ CIMBT เองได้มีการปรับลดฐานเงินฝากและมีแผนที่จะปรับเปลี่ยนโครงสร้างของเงินฝากเพื่อลดต้นทุนทางการเงิน

หลังจากที่ CIMB เข้าซื้อกิจการในเดือนมกราคม 2552 CIMBT ได้เพิ่มทุนจำนวน 2.5 พันล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่มาจาก CIMB โดยผ่านการออกหุ้นเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิม และการออกตราสารหนี้ด้อยสิทธิระยะยาวที่นับเป็นกองทุนชั้นที่ 2 อีกจำนวน 2.5 พันล้านบาทในเดือนมีนาคมเพื่อเพิ่มระดับเงินกองทุน อย่างไรก็ตามอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของ CIMBT ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552 ยังคงอยู่ที่ระดับ 6.7% ซึ่งต่ำกว่าระดับเฉลี่ยของอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ที่ประมาณ 11% ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนรวมอยู่ที่ 13.2%

CIMBT เดิมชื่อธนาคารไทยธนาคาร (Bank Thai หรือ BT) ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 2541 จากการควบรวมกิจการของสถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการหลายแห่งโดยคำสั่งของรัฐบาล กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ได้เข้าซื้อหุ้นส่วนใหญ่ใน BT หลังการควบรวม โดยถือหุ้นในสัดส่วน 96.32% ในปี 2543 ซึ่งได้มีการขายหุ้นเพื่อลดสัดส่วนลงเหลือ 48.98% ในภายหลัง ในเดือนพฤศจิกายน 2551 CIMB ได้ทำการซื้อหุ้น BT จาก FIDF และต่อมาได้ทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดจากผู้ถือหุ้นส่วนน้อยรวมทั้ง TPG Newbridge โดยในปัจุบัน CIMB ถือหุ้นในธนาคารคิดเป็นสัดส่วน 93.15%

ติดต่อ นฤมล ชาญชนะวิวัฒน์, Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4763/4759

หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุน หรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้

ข้อมูลเพิ่มเติมหาได้ที่ www.fitchratings.com

การใช้อันดับเครดิตที่จัดทำโดยฟิทช์เรทติ้งส์มีข้อจำกัดและขอบเขตการใช้ ซึ่งข้อจำกัดและขอบเขตของการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวสามารถหาได้จาก HTTP://FITCHRATINGS.COM/UNDERSTANDINGCREDITRATINGS นอกจากนี้คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฎข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน ผู้ออกตราสารไม่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการจัดอันดับเครดิต นอกเหนือจากการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะของบริษัทเท่านั้น

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๓๘ บางจากฯ ร่วมสร้างสีสัน ส่งต่อสุขภาพดี ชวน เมย์ รัชนก ร่วมแข่งกีฬา Econmass Sport Day 2024
๑๖:๐๐ จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม เอิ้นหาพี่น้องโค้งสุดท้าย! ชวนมาม่วนซื่นส่งท้ายปี สูดอากาศดีกลางทุ่งดอกไม้บาน ชมงานศิลป์สุดอลัง พร้อมกิจกรรมม่วน ๆ ทั้งครอบครัว 2 สัปดาห์สุดท้าย
๑๕:๓๘ MediaTek เปิดตัว Dimensity 8400 ชิป All Big Core รุ่นแรกสำหรับสมาร์ทโฟนพรีเมียม
๑๕:๕๔ เปิด 10 เทรนด์ฮิตชีวิตดิจิทัลปี 2024 ปีแห่งความหลากหลายด้านป๊อปคัลเจอร์ โดย LINE ประเทศไทย
๑๕:๒๕ สุรพงษ์ ส่งมอบความสุข ขยายเวลาให้บริการสายสีแดง ถึง ตี 2 ในคืนเคานต์ดาวน์ เป็นของขวัญปีใหม่มอบให้แก่ประชาชน
๑๕:๐๗ เอ็นไอเอคัด 8 ผู้ประกอบการไทยสายการแพทย์ - สุขภาพ คว้าโอกาสบุกตลาดเยอรมนี - ยุโรป พร้อมโชว์จุดแข็งในงาน Medica 2024 ตอกย้ำไทย
๑๕:๒๖ EGCO Group คว้าหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ปี 2567 ระดับ AA ตอกย้ำความมั่นใจนักลงทุนต่อการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน
๑๕:๕๖ เมืองไทยประกันชีวิต จับมือ แมกซ์ โซลูชัน ส่งมอบความสุขและความอุ่นใจ ต้อนรับเทศกาลปีใหม่แก่สมาชิก Max Card ผ่าน กรมธรรม์ประกันภัยปีใหม่สุขกายสุขใจ
๑๕:๔๘ แอสตร้าเซนเนก้า ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) กับ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เพื่อขับเคลื่อนการวิจัยทางคลินิกในไทย
๑๕:๓๒ ซีเอ็มเอ็มยู มุ่งผลิตบุคลากรชั้นนำผ่านนวัตกรรมการศึกษาและงานวิจัยระดับโลก พร้อมจุดประกายภาคเศรษฐกิจ - สังคม เปลี่ยนแหล่งเรียนรู้สู่ พาร์ทเนอร์การเรียนรู้