ความตกลงอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) เริ่มมีผลใช้บังคับเมื่อ 1 มิถุนายน 2552 ซึ่งเป็นแต้มต่ออีกช่องทางหนึ่งให้ผู้ส่งออกไทยได้เลือกใช้สิทธิประโยชน์ในการส่งออกไปตลาดญี่ปุ่น จากเดิมที่ไทยได้ประโยชน์จากความตกลง FTA ไทย — ญี่ปุ่น (JTEPA) โดยญี่ปุ่นได้เปิดตลาดให้กับสินค้าไทยภายใต้ AJCEP เพิ่มขึ้น จำนวน 70 รายการ เช่น ผลิตภัณฑ์จากปลา กล้วย ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ไม้อัด และไม้แปรรูป เป็นต้น นอกจากนี้ AJCEPยังได้ผ่อนปรนกฎแหล่งกำเนิดสินค้าให้ ยืดหยุ่นกว่า JTEPA โดยอนุญาตให้นำวัตถุดิบที่ได้แหล่งกำเนิดจากประเทศสมาชิกอาเซียน (10 ประเทศ) และญี่ปุ่น มาสะสมได้กับทุกสินค้า จากเดิมต้องใช้วัตถุดิบจากไทยและญี่ปุ่นเท่านั้น
ในปี 2551 ประเทศไทยและญี่ปุ่น มีมูลค่าการค้าระหว่างกันสูงถึง 53,850.81 ล้านเหรียญสหรัฐ อัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 7.59 เมื่อเทียบกับปี 2550 (มูลค่า 50,053.30 ล้านเหรียญสหรัฐ) โดยไทยส่งออกไปญี่ปุ่นเป็นมูลค่า 20,085.12 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะเดียวกันไทยนำเข้าจากญี่ปุ่นคิดเป็นมูลค่า 33,765.69 ล้านเหรียญสหรัฐส่งผลให้ไทยขาดดุลทางการค้าเป็นมูลค่า 13,680.57 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าความตกลง AJCEP จะกระตุ้นมูลค่าการค้าและการส่งออกระหว่างไทยกับญี่ปุ่นให้ขยายตัวไม่น้อยกว่าร้อยละ 10
นางอัญชนาฯ ได้กล่าวต่อไปว่า นอกจากความตกลง AJCEP แล้ว ประเทศไทยยังได้เข้าร่วมความตกลงอาเซียน — เกาหลี ซึ่งได้มีผลบังคับใช้เมื่อ 1 ตุลาคม 2552 โดยลด/เลิกภาษีนำเข้าและอุปสรรคทางการค้าต่างๆ นับเป็นโอกาสอันดีที่จะช่วยขยายการค้าระหว่างไทยกับเกาหลีให้มากยิ่งขึ้น โดยในปี 2551 การค้าระหว่างไทย — เกาหลี มีมูลค่า 10,567.55 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ในปี 2553 สินค้าส่งออกจากไทยไปเกาหลีกว่าร้อยละ 90 จะได้รับสิทธิพิเศษจากการที่เกาหลีจะลดภาษีนำเข้าเป็นศูนย์ สินค้าสำคัญที่ไทยจะได้ประโยชน์จากการเปิดตลาดเสรีของเกาหลีได้แก่สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ สิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม ยางรถยนต์ มอเตอร์ไฟฟ้า กากน้ำตาล ปลาแช่แข็ง แผ่นชิ้นไม้อัด รองเท้ากีฬา เป็นต้น
การสัมมนาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ประกอบการได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีศุลกากรจากความตกลง FTA ทั้งสองโดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า หรือพูดง่ายๆ คือผลิตอย่างไรที่แสดงว่าสินค้าที่ผลิตได้เป็นสินค้าสัญชาติไทย เพราะแหล่งกำเนิดสินค้าจะเป็นหัวใจสำคัญของการใช้สิทธิ FTA ได้ลดภาษีนำเข้าเป็นศูนย์ผู้ประกอบการจึงต้องให้ความสำคัญ ให้สามารถใช้ประโยชน์จากความตกลง FTA ได้อย่างเต็มที่
นางอัญชนาฯ กล่าวเพิ่มเติมว่าในปี 2553 กรมการค้าต่างประเทศมีโครงการที่จะเผยแพร่ประชาสัมพันธ์โดยการจัดสัมมนาเพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการในการใช้สิทธิประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการที่ประเทศคู่ค้าได้เปิดตลาดภายใต้ความตกลง FTA ต่างๆ ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคทั่วประเทศรวม 12 ครั้ง โดยได้เริ่มที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นจังหวัดแรก ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดการสัมมนา ได้ที่ www.dft.moc.go.th หรือสอบถามที่สำนักสิทธิประโยชน์ทางการค้า กรมการค้าต่างประเทศ ผ่านทางสายด่วน 1385