นางอัมพร นิติสิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยว่า จากข้อมูลของกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม ตั้งแต่เดือนมกราคม-ธันวาคม 2551 ปรากฏว่ามีลูกจ้างประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานรวมจำนวนทั้งสิ้น 176,502 ราย โดยจำแนกตามประเภทของความร้ายแรงดังนี้ ตาย จำนวน 613 ราย ทุพพลภาพ จำนวน 15 ราย สูญเสียอวัยวะบางส่วน จำนวน 3,096 ราย หยุดงานเกิน 3 วัน จำนวน 45,719 และหยุดงานไม่เกิน 3 วัน จำนวน 127,059 ราย
นางอัมพร กล่าวต่ออีกว่า ในรอบ 9 เดือน ของปี 2552 ตั้งแต่ มกราคม-กันยายน ทางกรมฯ สามารถดำเนินการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยในการทำงานประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรม โดยสามารถลดการประสบอันตรายจากการทำงานต่อลูกจ้าง 1,000 ราย เมื่อเทียบกับในรอบ 9 เดือน ตั้งแต่ เดือนมกราคม-กันยายนปี 2551 ลดลงจาก 4.59 เป็น 3.93 ซึ่งเทียบจากลูกจ้าง 1,000ราย ลดลงจากปีที่แล้วคิดเป็นร้อยละ 14.37 โดยเฉพาะกรณีอัตราการตายเนื่องจากการทำงานต่อ 100,000 ราย เมื่อเทียบกับในรอบ 9 เดือน ตั้งแต่ เดือนมกราคม-กันยายนปี 2551 ลดลงจาก5.59 เป็น 5.48 ซึ่งเทียบจากอัตราการตายเนื่องจากการทำงานต่อ 100,000 ราย ลดลงจากปีที่แล้วคิดเป็นร้อยละ1.97 ทั้งนี้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมุ่งเน้นการป้องกันเฝ้าระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุกับลูกจ้าง และให้สถานประกอบกิจการได้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด หากเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตหรือทุพพลภาพ ให้ดำเนินคดีตามกฎหมายทันที โดยในรอบปี 2552 ที่ผ่านมากรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ดำเนินคดีกับนายจ้าง ผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัยในการทำงาน จำนวนทั้งสิ้น 88 คดีแบ่งเป็นส่วนกลาง 8 คดี ส่วนภูมิภาค 80 คดี โดยคดีที่มีมากเป็นอันดับหนึ่งได้แก่ กิจการก่อสร้าง รองลงมาคือ เกี่ยวกับเครื่องจักรกล
อย่างไรก็ตามในเรื่องบทลงโทษ หากสถานประกอบกิจการใดฝ่าฝืนจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 022459133 ภูริยา