กระทรวงฯ ได้จัดกิจกรรมขึ้น 2 กิจกรรมภายใต้แผนฝึกซ้อมดังกล่าว ได้แก่ การจัดงานนิทรรศการย้อนรำลึกครบรอบ 20 ปีความสูญเสียจากพายุเกย์ ณ จังหวัดชุมพร โดยจัดกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์ไต้ฝุ่นเกย์ ปี 2532 การให้ความรู้เกี่ยวกับพายุ การจัดแสดงห้องจำลองพายุเสมือนจริง การให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการเอาตัวรอดเวลาเผชิญหน้ากับพายุ และการนำเสนอภารกิจศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ
“ส่วนอีกกิจกรรม คือ การฝึกซ้อมแผนอพยพหลบภัยจากพายุไต้ฝุ่น ABC ซึ่งจัดขึ้นที่ หาดทุ่งวัวแล่น ต.สะพลี อ.ปะทิว บ้านเกาะเสม็ด บ้านบน ต.ปากน้ำ อ.เมือง บ้านบ่อคา บ้านในไร่ ต.ด่านสวี อ.สวี และอ.ท่าแซะ โดยได้สมมติเหตุการณ์ให้เกิดพายุขึ้นฝั่งในช่วงเวลา 10.00 น. และได้กำหนดให้มีการซ้อมอพยพประชาชน การช่วยเหลือเรือประมง การค้นหากู้ภัย ผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิต การจำลองเหตุการณ์เส้นทางถูกตัดขาด และหน่วยงานต่างๆ เข้าเปิดเส้นทางให้ความช่วยเหลือ การจัดเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองให้กับหน่วยงานราชการ โรงพยาบาล และศาลากลางจังหวัด ในกรณีเกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับ การจัดรถถ่ายทอดสัญญาณเคลื่อนที่เครือข่ายวิทยุ V ของหน่วยงานราชการ และเครือข่ายวิทยุสมัครเล่น VR รองรับเหตุการณ์ระบบสื่อสารถูกตัดขาด” นายนิมิตร กล่าว
นอกจากนี้ยังได้มีการฝึกซ้อมการกู้ภัยจากอาคารถล่ม การจัดหารถกู้ภัย การใช้สุนัขดมกลิ่นของตำรวจ การจัดหารถผลิต น้ำดื่มสะอาดเคลื่อนที่รองรับเหตุการณ์ขาดแคลนน้ำดื่ม การให้ความช่วยเหลือราษฎรผู้ประสบภัยโดยแจกจ่ายอาหารสำเร็จรูปที่รับประทานได้ทันที เช่น น้ำดื่มบรรจุขวด เครื่องอุปโภค — บริโภค ถุงยังชีพ ฯ การจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในกรณีที่เกิดโรคระบาดหรือแจกจ่ายยาสามัญประจำบ้าน
“ในแผนการฝึกซ้อม เราได้สมมติเหตุการณ์เมื่อพายุขึ้นฝั่งแล้วทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามกิจกรรมที่กำหนดไว้ ซึ่งส่งผลให้การติดต่อสื่อสาร และการสั่งการความช่วยเหลือจากทางส่วนกลางลงมายังจังหวัด รวมไปถึงท้องถิ่นถูกตัดขาดหมด เช่น โทรศัพท์โทรออกไม่ได้เครือข่ายล่ม ไฟฟ้าดับ เป็นต้น ดังนั้น ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติจึงได้กำหนดความถี่กลางร่วมเพื่อใช้ในภาวะวิกฤต คือ ใช้ในการติดต่อ สื่อสาร ประสานงาน และการสั่งการ โดยจะมีทั้งความถี่วิทยุกลางร่วมภาครัฐ และความถี่วิทยุกลางร่วมระหว่างภาครัฐกับประชาชน เพื่อใช้ในกรณีประเทศเกิดภัยพิบัติ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากสมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศไทย สมาคมวิทยุสมัครเล่น จ.ชุมพร และ 14 จังหวัดภาคใต้ อาสาสมัครเครือข่าย “เพื่อนเตือนภัย” “มิสเตอร์เตือนภัย” เข้ามาช่วยในการประสานงาน การแจ้งเตือนภัย การขอความช่วยเหลือ ซึ่งทำให้การฝึกซ้อมแผนการบริหารจัดการวิกฤตการณ์ด้านการสื่อสารและโทรคมนาคม ประจำปี 2552 ของกระทรวงฯ ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้” นายนิมิตร กล่าว