ดร.ประยูร ส่งสิริฤทธิกุล หัวหน้าฝ่ายระบบลำเลียงแสง สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า ในปีนี้ค่ายวิทยาแสงสยาม ของสถาบันได้รับการตอบรับที่ดีจากนักศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ จำนวน 61 คน จากสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ อาทิ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นต้น ในการเข้าร่วมโครงการ “ค่ายวิทยาศาสตร์แสงสยาม” ครั้งที่ 6 ณ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน จังหวัดนครราชสีมา ที่ผ่านมานี้ โดยนักศึกษาได้มีโอกาสเรียนรู้และสัมผัสงานวิจัยทางด้านเทคโนโลยีซินโครตรอน เรียนรู้กระบวนการผลิตอาร์ดดิสก์ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาตนเองไปสู่การเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยที่มีศักยภาพในอนาคต ทั้งเป็นการส่งเสริมให้นิสิต นักศึกษา เข้าใจถึงบทบาทของวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีต่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศ โดยมุ่งหวังที่จะเพิ่มจำนวนนักวิจัยของประเทศ และเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์แสงซินโครตรอน ผ่านความร่วมมืองานวิจัยที่เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ในระดับบัณฑิตศึกษาของมหาวิทยาลัยไทยในอนาคต
นางสาวมารีนี บือซา นักศึกษาปริญญาตรี คณะวิทยาศาตร์ สาขาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง หนึ่งในตัวแทนนักศึกษาจากภาคใต้ที่เดินทางมาเข้าค่ายวิทยาศาสตร์แสงสยามครั้งนี้ ได้ถ่ายทอดประสบการณ์การคัดเลือกเข้าค่ายฯ ว่า “ทราบข่าวการเข้าร่วมค่ายวิทยาศาสตร์แสงสยาม ครั้งที่ 6 จากรุ่นพี่ที่เคยมาค่ายฯ เมื่อปีที่แล้ว จึงได้ชักชวนเพื่อนมาสมัครด้วยกันทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งตนได้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมค่ายวิทยาศาสตร์เพียงคนเดียว ซึ่งนับเป็นประสบการณ์ที่ดีที่มีโอกาสได้มาเข้ากิจกรรมครั้งนี้ ทำให้ได้ความรู้ใหม่ๆ ได้ศึกษาเครื่องเร่งอนุภาค ซึ่งเคยมีความฝันว่าอยากที่จะมีโอกาสมาสัมผัสของจริง”
ด้านนายนครา ภระเวส นักศึกษาปริญญาโท คณะวิทยาศาสตร์ สาขาเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า เมื่อเห็นโปสเตอร์การรับสมัครโครงการค่ายวิทยาศาสตร์ในมหาวิทยาลัย จึงสนใจและสมัครเข้าร่วมทันที การเข้าร่วมค่ายวิทยาศาสตร์ครั้งนี้ ทำให้ได้รับประสบการณ์ความรู้ที่ดีทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ซึ่งจะหาความรู้เหล่านี้ไม่ได้ในห้องเรียน ถ้าไม่ได้มีโอกาสเดินทางมาสัมผัสด้วยตนเอง นอกจากนี้ทำให้ได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน และได้เพื่อนใหม่จากหลายสถาบัน
สำหรับนางสาวสินีนาฏ อันบุรี นักศึกษาปริญญาโท คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวทิ้งท้ายว่า ได้รับความรู้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ทั้งด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ไม่เคยรู้มาก่อนในห้องเรียน ได้สัมผัสเทคโนโลยีการผลิตแสงซินโครตรอน และเรียนรู้เทคนิคการวิเคราะห์ที่มีชื่อว่า XAS (X-ray absorption Spctroscopy) ที่ไม่เคยได้รู้มาก่อน ทำให้รู้สึกตื่นเต้น และสนใจกิจกรรมนี้เป็นอย่างมาก คิดว่าทางสถาบันน่าจะจัดโครงการค่ายวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้น้องๆ ได้มีโอกาสมาสัมผัสได้เพิ่มมากขึ้น
ท้ายสุดนี้ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน หวังว่าโครงการ “ค่ายวิทยาศาสตร์แสงสยาม” จะเป็นอีกโครงการหนึ่งที่สร้างสรรค์เพื่อการพัฒนากำลังคนของประเทศ ช่วยจุดประกายความคิดให้เยาวชนได้มีโอกาสพัฒนาศักยภาพของตนเอง เพื่อเป็นนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีคุณภาพต่อไปในอนาคต
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
Utsanee Ua-ariyasup
Public Relations Manager
Mind PR Co.,Ltd.
Tel /Fax: (+66) 0 2672-3173
Email: [email protected]