ดร.อธิคม บางวิวัฒน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการบัณฑิตวิทยาลัยด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) กล่าวว่า การจัดกิจกรรม ค่ายอัจฉริยะพิทักษ์โลก มีวัตถุประสงค์เพื่อดึงนักศึกษาจากทุกสาขาวิชาในสายวิทยาศาสตร์ ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการรับรู้ถึงสถานการณ์ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย และรับทราบถึงผลกระทบที่อาจตามมา ไม่ว่าจะเป็นภาวะขาดแคลนพลังงาน หรือภัยพิบัติทางธรรมชาติอันเป็นผลพวงจากภาวะโลกร้อน ซึ่งการรับมือกับปัญหาดังกล่าวมิอาจทำได้โดยใครเพียงคนเดียว แต่จะต้องเกิดจากความร่วมมือในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลังงานของทุกภาคส่วนของสังคม ยิ่งเฉพาะเยาวชนหากเราสามารถปลูกฝังวินัยการใช้พลังงานได้ตั้งแต่วันนี้ ก็จะช่วยให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเยาวชนกลุ่มนี้จะทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์โลก ด้วยการเป็นสื่อกลางในการเผยแพร่ความรู้ สร้างเครือข่ายรู้รักษ์พลังงาน เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่าให้กับเพื่อนๆ และคนรอบข้างต่อไปด้วย นอกจากนี้การที่นักศึกษาได้เข้ามาร่วมทำกิจกรรมกับนักวิชาการด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ก็เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้ได้เห็นช่องทางในการศึกษาต่อด้านนี้มากขึ้น อันจะช่วยให้มีบุคลากรทางด้านนี้เพิ่มมากยิ่งขึ้นด้วย
โดยกิจกรรมภายในค่ายจะเริ่มต้นด้วยการให้นักศึกษาได้สะท้อนมุมมองความคิดต่อภาวะโลกร้อนและวิกฤตพลังงาน ผ่านกิจกรรม GEEEN MONITO ก่อนจะเข้าร่วมรับฟังการเปิดฉาก วิกฤตโลก วิกฤติพลังงานในประเทศไทย โดยวิทยากร ดร.อธิคม บางวิวัฒน์ และ ดร.บุญรอด สัจกุลนุกิจ ที่ไม่เพียงออกมาเล่าว่าในไม่ช้าทั่วโลกอาจต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนพลังงาน แต่ยังเผยโฉมพลังงานทางเลือกล้ำยุคที่ทั่วโลกต่างให้ความสนใจ และการเตรียมรับกับระบบเศรษฐกิจแนวใหม่บนฐานทรัพยากรชีวภาพในอีก 30 ปีข้างหน้า จากนั้นมาสำรวจพฤติกรรมการใช้พลังงานด้วยการให้นักศึกษา คำนวณการใช้พลังงานและอัตราค่าไฟฟ้าของตนเองในแต่ละวันที่อยู่ในค่าย นอกจากยังนี้ยังสนุกกับกิจกรรม ปฏิบัติการ "Power Green" ตามหาวิธีลดโลกร้อน ก่อนจะปิดท้ายด้วยกิจกรรม "รวมพลังสานฝันให้โลก" โดยให้นักศึกษาร่วมระดมความคิดถึงแนวทางการประหยัดพลังงาน เพื่อนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน
“น้องนุ” หรือ นายกฤษฎา ท่าพระเจริญ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 จากคณะวิศวกรรมศาสตร์เครื่องกล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวว่า การได้เข้ามาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ทำให้มุมมองต่อเรื่องโลกร้อนเปลี่ยนไป จากเดิมคิดว่าเป็นเพียงกระแส แต่ตอนนี้เชื่อแล้วว่าเป็นวิกฤตโลกที่เกิดขึ้นจริง และเกิดขึ้นจากน้ำมือของมนุษย์เอง ฉะนั้นเราทุกคนก็ต้องมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
“ผมประทับใจในส่วนของการเสวนาจากนักวิชาการมาก เพราะทำให้ได้รับทราบข้อมูลทั้งการใช้พลังงานของโลก และประเทศไทย ซึ่งไม่เคยทราบมาก่อน โดยประเทศไทยมีอัตราการใช้พลังงานเพิ่มมากขึ้นเกือบ 3 เท่าของ GDP จากข้อมูลเหล่านี้ทำให้ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่พวกเราทุกคนต้องร่วมมือกันลดการใช้พลังงาน อีกทั้งผมยังมีความสนใจเป็นพิเศษเกี่ยวกับพลังงานทางเลือก ซึ่งจากการบรรยายได้ชี้ให้เห็นถึงพลังงานทางเลือกแนวใหม่ เช่น กังหันลมลอยฟ้า จุลินทรีย์สังเคราะห์พลังงาน และพลังงานนิวเคลียร์แบบฟิวชั่น เป็นต้น จากข้อมูลดังกล่าวเป็นแรงบันดาลใจให้ผมมุ่งมั่นในการศึกษาต่อด้านพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นพลังงานทางเลือกที่ปราศจากคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เป็นต้นเหตุของภาวะโลกร้อน” น้องนุ กล่าว
ด้าน “น้องฝ้าย” หรือ นางสาวศศิธร บูรณะศรีเวช นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิศวกรรมเคมี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า พลังงานและสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใกล้ตัวของเราทุกคน จึงมีความสนใจด้านนี้เป็นพิเศษ การเข้าร่วมกิจกรรมทำให้ได้ทราบข้อมูลพลังงานและสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมจากที่เคยรู้ โดยเฉพาะภาวะโลกร้อน ที่หากอุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นเพียงแค่ 1 องศาเซลเซียส ก็ส่งผลให้น้ำแข็งขั้วโลกละลายและส่งผลกระทบต่อทุกชีวิตบนโลกได้แล้ว จากข้อมูลนี้ทำให้เราต้องหันกลับมามองตัวเองว่าจะมีส่วนช่วยโลกได้อย่างไรบ้าง โดยสิ่งที่คิดว่าจะเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากตัวเองตั้งแต่วันนี้ คือ เวลาใช้ไฟใช้น้ำก็ต้องปิดทันที ใช้ไฟเท่าที่จำเป็น และบอกต่อกับเพื่อนๆ ว่าพวกเราสามารถ..ช่วยโลก ด้วยการสร้างวินัยการใช้พลังงานง่ายๆ เริ่มได้ที่ตัวเราค่ะ