- หุ้นกู้ชุด DAD12NA มูลค่า 1.5 พันล้านบาท ที่ระดับ ‘AAA(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ ครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนพฤศจิกายน 2555
- หุ้นกู้ชุด DAD15NA มูลค่า 2.0 พันล้านบาท ที่ระดับ ‘AAA(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ ครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนพฤศจิกายน 2558
- หุ้นกู้ชุด DAD20NA มูลค่า 1.8 พันล้านบาท ที่ระดับ ‘AAA(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ ครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนพฤศจิกายน 2563
- หุ้นกู้ชุด DAD25NA มูลค่า 5.0 พันล้านบาท ที่ระดับ ‘AAA(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ ครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนพฤศจิกายน 2568
- หุ้นกู้ชุด DAD20NB มูลค่า 2.2 พันล้านบาท ที่ระดับ ‘AAA(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ ครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนพฤศจิกายน 2563
- หุ้นกู้ชุด DAD25NB มูลค่า 6.0 พันล้านบาท ที่ระดับ ‘AAA(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ ครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนพฤศจิกายน 2568
- หุ้นกู้ชุด DAD25NC มูลค่า 5.5 พันล้านบาท ที่ระดับ ‘AAA(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ ครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนพฤศจิกายน 2568
การประกาศคงอันดับเครดิตของหุ้นกู้พิจารณาถึงกระแสเงินสดรับที่ผูกพันตามสัญญาจากกรมธนารักษ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานสังกัดภายใต้กระทรวงการคลัง และโครงสร้างของโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์นี้ ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพสะท้อนถึงการคาดการว่าโครงการจะสามารถรักษาระดับความสามารถในการชำระหนี้ (debt service coverage ratio) ได้ที่ไม่ต่ำกว่า 1 เท่าและสามารถรองรับอัตราดอกเบี้ยของเงินกู้ใหม่ (refinancing rate) ได้สูงกว่าระดับ 15% ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยตามสมมติฐานของฟิทช์ ในขณะที่หุ้นกู้ชุดที่ครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2568 มีความเสี่ยงจากการที่ดีเอดี เอสพีวี ต้องหาแหล่งเงินกู้ใหม่มาชำระคืน ความเสี่ยงดังกล่าวได้ถูกลดทอนลงจากการที่โครงการมีเงินสำรองเพื่อชำระคืนเงินต้นและมีกระแสเงินสดรับใน 12 ปีสุดท้ายของสัญญาคือปี 2569 ถึง 2581 อันดับเครดิตแสดงถึงความสามารถในการชำระดอกเบี้ยตามที่กำหนดและชำระคืนเงินต้นได้ครบภายในวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้
โครงการนี้เป็นโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ที่ริเริ่มโดยรัฐบาลไทย โดยใช้กระแสเงินสดตลอดระยะเวลา 30 ปีที่จะได้รับจากค่าเช่าและค่าบริการต่างๆ จากอาคารศูนย์ราชการแห่งใหม่บนถนนแจ้งวัฒนะมาชำระคืนหุ้นกู้ โครงสร้างของโครงการนี้สะท้อนถึงความน่าเชื่อถือของกรมธนารักษ์ซึ่งเป็นผู้เช่าเพียงรายเดียวของโครงการ โดยดีเอดี เอสพีวี จะได้รับกระแสเงินสดรับค่าเช่าและค่าบริการต่างๆ ที่ผูกพันตามสัญญาจากกรมธนารักษ์ ทั้งนี้มีบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด หรือ ธพส. ซึ่งถือหุ้นโดยกระทรวงการคลัง 100% เป็นผู้รับผิดชอบพัฒนาและบริหารโครงการอาคารศูนย์ราชการ
โครงการศูนย์ราชการได้เริ่มดำเนินการในส่วนของแผนงานรวมและการออกแบบตั้งแต่ปี 2547 โดยการก่อสร้างเดิมมีกำหนดการแล้วเสร็จในไตรมาส 3 ปี 2551 อย่างไรก็ตาม จากความล่าช้าในการก่อสร้างประกอบกับมีการเปลี่ยนแบบตกแต่งภายในตามคำร้องขอของผู้เช่าบางราย ทำให้กำหนดการแล้วเสร็จของโครงการได้ถูกเลื่อนไปเป็นไตรมาส 1 ปี 2553 จากรายงานความก้าวหน้างานก่อสร้างของโครงการ ณ เดือนกันยายน 2552 งานก่อสร้างอาคารและการตกแต่งภายในของอาคารที่ทำการศาลปกครองได้แล้วเสร็จและมีการส่งมอบพื้นที่เช่าให้ศาลปกครองแล้ว ในขณะที่งานก่อสร้างของอาคาร B ได้เสร็จสมบูรณ์แล้วแต่ยังมีการดำเนินการตกแต่งภายในสำหรับพื้นที่บางส่วน ในส่วนของอาคาร A งานก่อสร้างได้แล้วเสร็จประมาณ 96.5% และพื้นที่ส่วนใหญ่ยังมีการดำเนินการตกแต่งภายใน ดีเอดี เอสพีวี ได้ทำการส่งมอบพื้นที่เช่าให้แก่ผู้เช่าแล้วประมาณ 60.3% ของพื้นที่เช่าทั้งหมดที่อยู่ภายใต้โครงการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ โดยการส่งมอบพื้นที่เช่าส่วนที่เหลือคาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 1 ปี 2553
แม้ว่าการก่อสร้างและการตกแต่งภายในของโครงการศูนย์ราชการยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ ดีเอดี เอสพีวี ได้รับชำระค่าเช่าและค่าบริการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2551 ตามที่ระบุไว้ในสัญญาว่าการชำระค่าเช่าและค่าบริการจะไม่คำนึงถึงความเสร็จสมบูรณ์ในการก่อสร้างโครงการศูนย์ราชการ โดยในปีนี้ ดีเอดี เอสพีวี ได้รับชำระค่าเช่าและค่าบริการรายปีในปลายเดือนตุลาคมตามที่ระบุไว้ในสัญญา ทั้งนี้หลังจากได้รับชำระค่าเช่าและค่าบริการแล้ว ดีเอดี เอสพีวีได้ทำการกันสำรองกระแสเงินสดสำหรับภาษีหัก ณ ที่จ่าย ดอกเบี้ยหุ้นกู้ตามโครงการและค่าใช้จ่ายบุคคลที่เกี่ยวข้องในโครงการครอบคลุมระยะเวลา 12 เดือนข้างหน้า รวมถึงการกันสำรองเพื่อรักษาสภาพคล่องและการกันสำรองเพื่อการสะสมชำระคืนเงินต้นตามจำนวนที่ได้ระบุไว้ในสัญญาป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน
สำหรับรายงานฉบับสมบูรณ์จะถูกจัดทำภายหลังและสามารถหาได้จากเว็บไซต์ของฟิทช์ www.fitchratings.com
ฟิทช์ได้มีการประกาศให้แนวโน้มอันดับเครดิตสำหรับโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2551 โดยแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นตัวบ่งชี้ถึงทิศทางการเปลี่ยนแปลงของอันดับเครดิตในระยะ 1 — 2 ปีข้างหน้า ซึ่งต่างจากเครดิตพินิจ (rating watch) ที่เป็นตัวบ่งชี้ถึงการมีความเป็นไปได้ที่อันดับเครดิตจะมีการเปลี่ยนแปลงในระยะสั้นสืบเนื่องจากเหตุการณ์บางอย่าง
รายละเอียดของหลักเกณฑ์ในการจัดอันดับเครดิตสามารถหาได้จาก www.fitchratings.com ข้อมูลเพิ่มเติมหาได้จากรายงาน ‘Global Structured Finance Rating Criteria’ วันที่ 30 กันยายน 2552
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) เป็นการวัดระดับความน่าเชื่อถือในเชิงเปรียบเทียบกันระหว่างองค์กรในประเทศนั้นๆ โดยจะใช้ในประเทศที่อันดับเครดิตแบบสากลของรัฐบาลในประเทศนั้นอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ อันดับเครดิตขององค์กรที่ดีที่สุดของประเทศได้จัดไว้ที่ระดับ ‘AAA’ และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับองค์กรที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศได้ถูกจัดทำขึ้นเพื่อใช้ในตลาดในประเทศเป็นหลักและจะมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับประเทศนั้นๆ เช่น ‘AAA(tha)’ ในกรณีของประเทศไทย ดังนั้นอันดับเครดิตภายในประเทศจึงไม่สามารถใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
ติดต่อ: อรวรรณ การุณกรสกุล, ประมุข มาลาสิทธิ์, Vincent Milton + 662 655 4755
ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถหาได้จาก www.fitchratings.com
การใช้อันดับเครดิตที่จัดทำโดยฟิทช์เรทติ้งส์มีข้อจำกัดและขอบเขตการใช้ ซึ่งข้อจำกัดและขอบเขตของการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวสามารถหาได้จาก HTTP://FITCHRATINGS.COM/UNDERSTANDINGCREDITRATINGS นอกจากนี้คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฎข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน ผู้ออกตราสารไม่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการจัดอันดับเครดิต นอกเหนือจากการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะของบริษัทเท่านั้น