1. การขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุน
1) สาขาชิ้นส่วนอะไหล่ เครื่องจักรและชิ้นส่วนยานยนต์ ได้มีการหารือกับภาคชิ้นส่วนยานยนต์ ดังนี้
ไทย-บราซิล -โดยฝ่ายบราซิลแสดงความสนใจจะร่วมลงทุนกับฝ่ายไทย ในการผลิตรายชิ้นส่วนรถยนต์ สำหรับรถยนต์รุ่นที่ไทยเลิกผลิตไปแล้วแต่ยังได้รับความนิยมที่บราซิลอยู่ไปผลิตที่บราซิลแทน ซึ่งการผลิตนี้สามารถนำเข้าไปขายในประเทศไทยที่ยังคงมีความต้องการใช้อะไหล่รถยนต์รุ่นที่เลิกผลิตไปแล้วอยู่เช่นกัน ไทย-ชิลี -โดยผู้แทนชิ้นส่วนยานยนต์ฝ่ายไทยได้เข้าพบกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัท Full Diesel ที่ทำธุรกิจด้านการให้บริการซ่อมบำรุงเครื่องจักรกลหนัก โดยเฉพาะเครื่องจักรที่ใช้ในเหมืองแร่ โดยทั้งสองฝ่ายได้ตกลงแลกเปลี่ยนข้อมูล ในการนี้ ฝ่ายชิลีได้แสดงความประสงค์จะสั่งซื้อยางรถแทรกเตอร์จากไทย รวมถึงเหล็กหล่อสำหรับรถแทรกเตอร์ โดยได้แจ้งฝ่ายไทยรับทราบข้อมูล spec ที่ต้องการ ทั้งนี้คาดการณ์ว่าน่าจะได้ยอดขายประมาณ 50-100 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2553 ผู้แทนเอกชนแจ้งว่าทั้ง 3 ประเทศขอเป็นตัวแทนจัดจำหน่ายชิ้นส่วนยานยนต์ทุกตัวที่ผลิตในไทยเนื่องจากมีการออกแบบและการผลิตที่ทันสมัยได้มาตรฐาน ในการนี้ได้คาดการณ์ยอดขายของปี 2553 ใน 3 ประเทศรวมกันว่าการส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานพาหนะ น่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 10% หรือ ไม่น้อยกว่า 17,487 ล้านบาท
2) สาขาอาหารกระป๋อง ภาคอุตสาหกรรมอาหารกระป๋องที่แต่เดิมมียอดขายปีละ 1,500 ล้านบาท ได้รับยอดสั่งซื้อจากการเดินทางมาโรดโชว์ครั้งนี้มากขึ้น โดยคาดการณ์ว่าในไตรมาสแรกของปี 2553 จะมียอดสั่งซื้อไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท หากมีข้อตกลงเสรีทางการค้าระหว่างไทยและชิลีจะส่งผลให้มียอดขายไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท ภายใน 3 ปี
3) สาขาอาหารทะเลและประมง คาดว่าจะมีการนำเข้าอาหารทะเล ได้แก่ ปลาหิมะ (Chilean Sea Bass) และปลาแซลมอน ในปี 2553 ประมาณ 1,000 ตัน และ คาดการณ์ว่าปริมาณการนำเข้าในอีก 5 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 15 % ต่อปี (2 เท่าภายใน 5ปี)
4)สาขาอาหารแปรรูป/อาหารสัตว์และยารักษาสัตว์ ผู้แทนภาคเอกชนไทยได้พบผู้ผลิต ผู้ส่งออกและผู้ขายวัตถุดิบที่ใช้ผลิตอาหารสัตว์และเยี่ยมชมโรงงานผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่ที่บราซิล และคาดว่าจะเกิดการซื้อขายประมาณ 103 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 3,450 ล้านบาทในช่วงต้นปี 2553 นอกจากนี้ยังได้รู้จักผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสำหรับสัตว์ที่ช่วยลดต้นทุนในการผลิตโดยในขั้นต้นจะนำผลิตภัณฑ์นี้ไปทำการศึกษาก่อน
5) สาขาอัญมณีและเครื่องประดับ TGTA คาดการณ์ว่า ยอดขายในปี 2553 ระหว่างไทยกับบราซิล อาร์เจนติน่า และชิลีว่าน่าจะมีมูลค่าประมาณ 4,000 ล้านบาท 2,000 ล้านบาทและ 1,000 ล้านบาทตามลำดับ
6) สาขาเครื่องจักรกล อะไหล่อุปกรณ์ไฟฟ้าและอุปกรณ์ก่อสร้าง จะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างสมาคมหล่อโลหะของไทยและบราซิล โดยจะมีการเชิญมาจัดประชุมเรื่องการหล่อโลหะร่วมกันที่ประเทศไทย โดยคาดการณ์ว่าในปี 2553 จะมีการค้าขายกับทางประเทศกลุ่มลาตินอเมริกาประมาณ 1,000 ล้านบาท
7) สาขาโลจิสติกส์ ตัวแทนโลจิสติกส์ ไทยได้มีการหารือและเห็นชอบในหลักการกับบริษัทโลจิสติกส์ขนาดใหญ่ของชิลีในการที่จะเป็นตัวแทนด้านโลจิสติกส์ในระดับภูมิภาคอาเซียน ซึ่งในขั้นต้นนี้จะมีการจัดตั้งศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารด้านการลงทุนระหว่างกัน การตกลงครั้งนี้คาดว่าจะเพิ่มสัดส่วนการค้าระหว่างไทยและภูมิภาคลาตินอเมริกา ได้ถึง 70 % ภายใน 2 ปีร่วมถึงเปิดโอกาสให้นักธุรกิจลาตินอเมริกามาใช้บริการสำนักงานในไทยมากขึ้นเพื่อให้เกิดการซื้อขายโดยตรงระหว่างกันไม่ต้องผ่านบริษัทการค้า (trading firm)
2. ความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน
1) การลงนามสัญญาความร่วมมือในการซื้อขายและลงทุน 2 ฉบับ ระหว่าง TGTA กับสมาคมอัญมณีและเครื่องประดับบราซิล และระหว่าง TGTA กับ สมาคมอัญมณีอาร์เจนติน่า
2) การริเริ่มจัดตั้งสภาธุรกิจไทย-ลาตินอเมริกาเพื่อประสานและอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและลาตินอเมริกา
3) Memorandum of Understanding Board of Trade of Thailand & Chilean National Chamber of Commerce,Service and Tourism เมื่อวันที่ 4 พย.52 เพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุนและความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ
ท้ายสุดได้มีการหารือระหว่างสำนักผู้แทนการค้าไทย กระทรวงการต่างประเทศ และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เห็นควรให้มีการตั้งเป้าการค้าระหว่างไทยและภูมิภาคลาตินอเมริกาเฉพาะ บราซิล อาร์เจนติน่า ชิลี เพิ่มขึ้นจาก 160,000 ล้านบาท อย่างน้อย 2 เท่าภายใน5 ปีนี้ เป็น 320,000 ล้านบาท(15% ต่อปี) โดยสรุป การเยือนฯในครั้งนี้ประสบความสำเร็จเกินคาดหมาย กล่าวคือ ไม่เพียงแต่จะทำให้ไทยและประเทศที่ไปเยือนได้รับทราบข้อมูลและสร้างการติดต่อในหลายระดับ แต่ยังเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ในด้านการเมือง เศรษฐกิจ การลงทุนและวิชาการรวมทั้งเพิ่มความเข้าใจอันดีระหว่างไทยกับประเทศเหล่านี้ ทั้งในระดับรัฐและเอกชนซึ่งถือเป็นความร่วมมือแสวงหาลู่ทางและขยายโอกาสใหม่ๆซึ่งจะต้องมีการสานต่อและติดตามประเมินผลอย่างเป็นระบบและเป็นระยะในอนาคตต่อไป