นางอัญชนา วิทยาธรรมธัช รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ประเทศไทยในฐานะเป็นสมาชิก AFTA (เขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ AFTA : ASEAN Free Trade Area) มีพันธกรณีจะต้องลดภาษีและยกเลิกมาตรการโควตาภาษี (Tariff Rate Quota:TRQ) สินค้าเกษตร ซึ่งได้ดำเนินการลดภาษีมาตั้งแต่ปี 2536 และจะต้องยกเลิกโควตานำเข้าและลดภาษี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 ซึ่งการปฏิบัติตามพันธกรณีที่ผูกพันไว้ถือเป็นสิ่งสำคัญและเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่เจรจาของไทยรวมถึงเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือของไทยในภูมิภาคอาเซียน
นางอัญชนา กล่าวเพิ่มเติมว่า สินค้าเกษตรที่จะต้องลดภาษี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 จำนวน 7 รายการได้แก่ เมล็ดถั่วเหลือง ชา กาแฟสำเร็จรูป น้ำนมดิบและนมปรุงแต่ง นมผงขาดมันเนย มะพร้าวและน้ำมันมะพร้าว ซึ่งการเปิดตลาดฯดังกล่าวอาจทำให้มีการนำเข้าเพิ่มมากขึ้นจนส่งผลกระทบต่อการผลิตและการค้า ดังนั้น เพื่อให้ประเทศไทยได้ประโยชน์จากการเปิดตลาดสินค้าเกษตรตามพันธกรณีและเกิดผลกระทบน้อยที่สุด หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันหารือเพื่อกำหนดมาตรการและแนวทางรองรับ อาทิ การกำหนดให้เป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตนำเข้า กำหนดปริมาณสารพิษตกค้าง ปลอด GMOs มีแหล่งกำเนิดสินค้า มีมาตรการ SPS ที่เข้มงวด นอกจากนี้ การนำเข้าสินค้าเกษตรดังกล่าวจะต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับนโยบายสินค้าต่าง ๆ จึงมั่นใจได้ว่าการนำเข้าจะเป็นไปโดยมีผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ผลิตสินค้าภายในประเทศน้อยที่สุด
อย่างไรก็ตามเพื่อให้การบริหารจัดการนำเข้ามีความสมบูรณ์ โปร่งใส กรมฯ จึงได้จัดเวทีสาธารณะชี้แจงข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นจากเกษตร ผู้ประกอบการ และผู้มีส่วนได้เสีย ในพื้นที่เป้าหมาย 5 แห่ง ดังนี้
- 13 พฤศจิกายน 2552 ณ จังหวัดนครราชสีมา สินค้าน้ำนมดิบ นมพร้อมดื่ม นมผงขาดมันเนย
- 23 พฤศจิกายน 2552 ณ จังหวัดสุราษฎร์ธานี สินค้ากาแฟ มะพร้าว น้ำมันปาล์ม
- 11 ธันวาคม 2552 ณ จังหวัดอุดรธานี สินค้าข้าวโพด และเมล็ดถั่วเหลือง
- 14 ธันวาคม 2552 ณ จังหวัดเพชรบูรณ์ สินค้าข้าวโพด และเมล็ดถั่วเหลือง
- 18 ธันวาคม 2552 ณ จังหวัดเชียงใหม่ สินค้าเมล็ดถั่วเหลือง ข้าวโพด ชาและกาแฟ
“ ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้จากการเปิดเวทีสาธารณะ ทั้ง 5 ครั้ง จะนำมาประมวลใช้ประกอบการจัดทำแนวทางการปฏิบัติการเปิดตลาดสินค้าเกษตรและออกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรและผู้ประกอบการให้มากที่สุด อย่างไรก็ตามประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบจากการเปิดตลาดสินค้าเกษตรบ้าง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับผลประโยชน์ที่จะได้รับมีมากมายมหาศาล นอกจากการขยายตลาดผู้ซื้อรายใหญ่ ๆในอาเซียนแล้ว ยังจะได้รับประโยชน์ในการเปิดตลาดการค้าและการลงทุนอื่นจาก AFTA อีกมาก ” นางอัญชนากล่าวในตอนท้าย