พม. จัดงานรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว

ศุกร์ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๐๐๙ ๑๓:๓๖
พม. จัดงานรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว 25 พ.ย. นี้ พร้อมเร่งขยายศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชนให้ทั่วถึงยิ่งขึ้น หวังใช้ป้องกันปัญหาครอบครัว

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แถลงข่าวการจัดงานรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ภายใต้แนวคิด “ริบบิ้นขาว...พลังบริสุทธิ์ ยุติความรุนแรง” พร้อมเปิดตัวเคลลี่ (รัฐพงศ์ ธนะพัฒน์) น้ำ (รพีภัทร เอกพันธ์กุล) จอห์น (วิญญู วงศ์สุรวัฒน์) และเปปเปอร์ (รัฐศาสตร์ กรสูต) พรีเซ็นเตอร์ ประจำปี 2552 เผยสถิติจากบ้านพักเด็กและครอบครัวมีผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว ปี 2552 เป็นเด็ก สตรีถูกกระทำความรุนแรงด้านจิตใจ สูงถึงร้อยละ 51.13 และร่างกาย ร้อยละ 34.54 เร่งขยายศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชนให้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นศูนย์ให้ความรู้ป้องกันปัญหาครอบครัว

วันนี้ (19 พ.ย.52) ที่เซ็นทรัลเวิลด์ นางนวลพรรณ ลำซ่ำ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยว่า การรณรงค์เพื่อยุติความรุนแรงต่อสตรี ได้ริเริ่มขึ้นครั้งแรกในประเทศแคนาดา เมื่อปี พ.ศ.2534 โดยกลุ่มผู้ชายอาสาสมัครจำนวน 1,000,000 คน ที่ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาความรุนแรงต่อสตรีและต้องการยุติปัญหาดังกล่าว ได้เรียกร้องให้ผู้ชายทั่วโลกร่วมรับผิดชอบต่อปัญหาความรุนแรงต่อสตรี และแสดงตนว่าจะไม่เป็นผู้กระทำรุนแรงต่อสตรี โดยการติดสัญลักษณ์ริบบิ้นสีขาวที่ปกเสื้อ ซึ่งหมายถึง การยอมรับว่าจะไม่ทำร้ายหรือนิ่งเฉยต่อการใช้ความรุนแรงต่อสตรีในทุกรูปแบบ และในปี พ.ศ.2542 องค์การสหประชาชาติได้รับรองให้วันที่ 25 พฤศจิกายน ของทุกปีเป็น “วันขจัดความรุนแรงต่อสตรีสากล” สำหรับประเทศไทยได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2542 กำหนดให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็น “เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี” เพื่อมุ่งเน้นที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและสตรี โดยดำเนินการรณรงค์ตลอดเดือนพฤศจิกายน ให้สังคมตระหนักและร่วมป้องกันขจัดความรุนแรงต่อเด็ก สตรี

นางนวลพรรณ ลำซ่ำ กล่าวต่อไปว่า จากสภาพสังคมโลกาภิวัตน์ไร้พรมแดนนำมาสู่สังคมที่ซับซ้อน และปัญหาทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง จริยธรรม การระบาดของยาเสพติด การพนัน โรคติดต่อร้ายแรง คนในสังคมปรับตัวไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ทำให้สังคมไทยกลายเป็นสังคมที่เคร่งเครียดและขาดทักษะในการจัดการกับปัญหาชีวิตที่เกิดขึ้น จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวและสังคมอย่างต่อเนื่อง กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จึงได้เร่งดำเนินงานทั้งในรูปแบบของการสร้างมาตรการทางกฎหมาย การสร้างเครือข่ายครอบครัว โดยการสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชนในทุกตำบลทั่วประเทศ เพื่อเป็นศูนย์ให้ความรู้ เตรียมความพร้อมก่อนใช้ชีวิตครอบครัว และให้คำปรึกษาแก่คนในชุมชนด้านปัญหาครอบครัวและการเลี้ยงดูเด็ก ซึ่งในปี 2552 ได้จัดตั้งแล้ว จำนวน 4,252 แห่ง และมีแผนจะจัดตั้งเพิ่มในปี 2553 อีกจำนวนกว่า 1,600 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งสนับสนุนการก่อตั้งศูนย์พึ่งได้ หรือ OSCC ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขอีกกว่า 500 แห่งทั่วประเทศ เป็นต้น เพื่อรณรงค์ให้สังคมตระหนักและร่วมป้องกันขจัดความรุนแรงดังกล่าว

“จากการศึกษาข้อมูลพบว่า มีการกระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยผู้กระทำผิดส่วนใหญ่มักเป็นผู้ชาย ซึ่งจากสถิติข้อมูลผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวที่เข้ารับบริการที่บ้านพักเด็กและครอบครัว ปี 2552 พบว่าเด็กและสตรีถูกกระทำความรุนแรงทางด้านจิตใจมากที่สุดรวมทั้งสิ้น 678 รายจาก 1,326 ราย คิดเป็นร้อยละ 51.13 รองลงมาถูกกระทำความรุนแรงทางด้านร่างกาย ร้อยละ 34.54 และถูกกระทำความรุนแรงทางด้านเพศ ร้อยละ 14.33” นางนวลพรรณ ฯ กล่าว

สำหรับปี 2552 กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ในฐานะเป็นหน่วยงานหลักด้านการประสานการจัดกิจกรรมรณรงค์ เพื่อให้ประชาชนได้เห็นและตระหนักถึงประเด็นปัญหา เกิดกระแสความสนใจ และเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ได้จัดการรณรงค์ตลอดเดือนพฤศจิกายน ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย อาทิ การจัดกิจกรรมรณรงค์ติดริบบิ้นสีขาวให้แก่นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล การจัดงาน “White Ribbon Day รณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ประจำปี 2552” วันที่ 25 พฤศจิกายน 2552 ตั้งแต่เวลา 13.00 น. ณ ลานสแควร์ เอ หน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิร์ล ภายในงานมีกิจกรรมรณรงค์ต่อต้านการใช้ความรุนแรงต่อเด็กและสตรี และความรุนแรงในครอบครัว แบ่งออกเป็นโซนกิจกรรม 8 โซน ประกอบด้วย โซนที่ 1 เวทีริบบิ้นขาว...พลังบริสุทธิ์ ยุติความรุนแรง โซนที่ 2 พลังหนักแน่น...ยับยั้งความรุนแรงทุกรูปแบบ โซนที่ 3 แบ่งปันความห่วงใย...สู่ริบบิ้นสีขาว โซนที่ 4 สุภาพบุรุษตัวจริง...ทิ้งความรุนแรง โซนที่ 5 โซนคลินิกที่พึ่งใจ โซนที่ 6 ความหวังและความอิสระ สู่การยุติความรุนแรง โซนที่ 7 คนรุ่นใหม่...ไม่รับความรุนแรง และโซนที่ 8 ปลดปล่อยจากพันธนาการ...ความรุนแรง ตลอดจนการแสดงบนเวทีจากเหล่าศิลปินดารามากมาย

“ความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ยังเป็นปัญหาที่อยู่ในความเงียบ เพราะผู้ที่ตกอยู่ในสภาพปัญหามีจำนวนไม่มากนักที่จะออกมาเรียกร้องขอความช่วยเหลือหรือขอความเป็นธรรม เด็กและสตรี ที่ถูกกระทำรุนแรงส่วนใหญ่จะต้องจำทนรับสภาพ และหลายรายถูกกระทำซ้ำ ๆ จึงขอเรียกร้องให้ทุกคน ทุกภาคส่วนของสังคม ได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการป้องกันแก้ไขปัญหาโดยการ ไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย และไม่กระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรีและครอบครัว ในทุกรูปแบบ อย่างยั่งยืนตลอดไป และหากพบเห็นการกระทำความรุนแรงในครอบครัว หรือต้องการความช่วยเหลือ ติดต่อได้ที่ศูนย์ประชาบดี โทร. 1300 โทรฟรีทั่วประเทศตลอด 24 ชั่วโมง กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เราพร้อมยินดีให้ความช่วยเหลือ” นางนวลพรรณ ฯ กล่าว

รายละเอียดการจัดกิจกรรม 8 โซน

โซนที่ 1 เวทีริบบิ้นขาว...พลังบริสุทธิ์ ยุติความรุนแรง ซึ่งใช้ในพิธีเปิดงาน เปิดตัวพรีเซ็นเตอร์ และการเสวนาพิเศษ ถึงเวลา...ยุติความรุนแรง โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ และแขกรับเชิญท่านต่างๆ ที่เชิญมาร่วมงาน

โซนที่ 2 พลังหนักแน่น...ยับยั้งความรุนแรงทุกรูปแบบ นำเสนอนิทรรศการ การแสดง และกิจกรรมพิเศษจากหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้อง ที่ดำเนินการประเด็นความรุนแรง

โซนที่ 3 แบ่งปันความห่วงใย...สู่ริบบิ้นสีขาว นำเสนอกิจกรรมสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้ที่มาร่วมกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรีและความรุนแรงในครอบครัว ที่จะร่วมแสดงพลังและเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงเสียงในการร่วมยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะต่อเด็ก สตรีและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัว

โซนที่ 4 สุภาพบุรุษตัวจริง...ทิ้งความรุนแรง นำเสนอนิทรรศการ ที่มีเนื้อหาเป็นข้อคิดเห็นจากปลายปากกาของศิลปิน ดารา คนดังหลากหลายวงการ ที่ร่วมแสดงเจตนารมณ์ และความตั้งใจในการร่วมกันยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรีและความรุนแรงในครอบครัวพร้อมภาพถ่าย และ VDO การสัมภาษณ์ ฉายผ่าน TV Plasma ที่ติดตั้งไว้ในส่วนนี้ และมีพื้นที่สำหรับการร่วมทำกิจกรรมพิเศษจากศิลปิน ดารา ที่มาร่วมงานในรูปแบบต่างๆ ด้วย

โซนที่ 5 โซนคลินิกที่พึ่งใจ พื้นที่ให้คำปรึกษาแนะนำ ให้ความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรีและครอบครัว ซึ่งอาจมีคำถามและข้อสงสัย โดยจัดพื้นที่ให้ข้อมูล ทั้งในรูปแบบเอกสาร และการ บริการปรึกษาแนะนำ จากผู้ที่มีความรู้จากหน่วยงานที่เป็นที่ยอมรับ

โซนที่ 6 ความหวังและความอิสระ สู่การยุติความรุนแรง เวทีสร้างสรรค์ที่เปิดโอกาสให้ทุกๆ คน ได้แสดงออก และความคิดเห็นในการร่วมยุติความรุนแรง โดยนำศิลปะมาเป็นตัวเล่าเรื่อง โดยการร่วมวาดภาพ ที่สื่อถึง การร่วมรณรงค์ยุติความรุนแรง พร้อมการพูดคุยถึงความเห็นระหว่างกัน

โซนที่ 7 คนรุ่นใหม่...ไม่รับความรุนแรง โซนกิจกรรมอิสระจากกลุ่มนักศึกษา เช่น การจำหน่ายสินค้าทำมือ จากกลุ่มนักศึกษา, ซุ้มวาดภาพอิสระ, ดนตรีเปิดหมวกอิสระ ฯลฯ โดยต้องมาในแนวคิดร่วมยุติความรุนแรง และการใส่ใจจากคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้

โซนที่ 8 ปลดปล่อยจากพันธนาการ...ความรุนแรง พื้นที่แสดงนิทรรศการในเชิงมัลติมีเดีย เป็นการแสดงภาพ / ข่าวสาร ที่เป็นการนำเสนอเรื่องราวความรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเด็ก สตรีและคนในครอบครัวต่างๆ ที่จะให้ความรู้สึกสะท้อนสังคม กระตุ้นให้เกิดอารมณ์ร่วมในการเห็นความสำคัญในการยับยั้ง และยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้น และกำลังกลายเป็นภัยเงียบในสังคม

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๑:๑๙ กสิกรไทย คาดยอดผู้ใช้ K PLUS ปี 68 เพิ่มล้านราย เป็น 23.9 ล้านราย
๑๐:๐๗ ร้าน เดอะ คอฟฟี่ อะคาเดมิคส์ ชวนฉลองคริสต์มาสและต้อนรับปีใหม่กับ เมนูเฟสทีฟ หลากหลาย ตั้งแต่ วันนี้ - 31 มกราคม
๑๐:๓๗ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย คว้ารางวัล Best Places to Work
๑๐:๓๒ วว. จับมือพันธมิตร ร่วมผลักดันกิจกรรม CSR สร้างแรงบันดาลใจด้าน วทน. ให้แก่เยาวชน
๑๐:๐๐ กทม. ตรวจเข้มสถานที่ประกอบ-จำหน่ายอาหาร เน้นมาตรการด้านสุขลักษณะ
๑๐:๒๓ ชลิต อินดัสทรีฯ สานต่อภารกิจเพื่อสังคม สร้างโอกาสและความยั่งยืนทางการศึกษาและอาชีพสำหรับผู้พิการ
๑๐:๒๔ บิทคับ กรุ๊ป สุดปัง! คว้ากว่า 20 รางวัล ตลอดปี 2567 ตอกย้ำความเชื่อมั่นองค์กรของคนรุ่นใหม่
๐๙:๕๓ NITMX เผยยอดธุรกรรมพร้อมเพย์พุ่งต่อเนื่อง สะท้อนความเชื่อมั่นในระบบชำระเงินดิจิทัลของไทย
๐๙:๔๖ พฤติกรรมติดหรูคนไทย จะหยุดที่ตรงไหน! ซีเอ็มเอ็มยู พาส่องการตลาดที่คาดไม่ถึงของกลุ่ม ลักซูเมอร์ กับการไปต่อในปี
๑๐:๐๖ เปิดเมนูอาหารวันคริสต์มาส พร้อมอร่อยเพลินกับวันเดอร์พัฟฟ์