นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ทิศทางพลังงานในอนาคตโลก (Launch of World Energy Outlook 2009, WEO 2009) ซึ่งจัดโดยกระทรวงพลังงาน และทบวงพลังงานโลก (IEA) โดยมี Mr. Nobuo Tanaka Executive Director, IEA ให้เกียรติปาฐกถาพิเศษ เรื่องทิศทางพลังงานในอนาคตของโลก
นายแพทย์วรรณรัตน์ กล่าวว่า จากรายงานของทบวงพลังงานโลก หรือ IEA ที่ได้มีการจัดทำภาพจำลองของการใช้พลังงานในอนาคต (Base Case Scenario) ซึ่งระบุว่าในอีก 20 ข้างหน้า หรือภายในปี คศ.2030 จะมีการขยายตัวของการใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบัน สูงถึง 40% และกว่า 90% ของการใช้พลังงานดังกล่าว มาจากประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน ที่จะมีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นสูงถึง 76% เพราะฉะนั้นสิ่งที่จำเป็น และควรดำเนินการคือการหาวิธี เพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มาจากการภาคการใช้พลังงาน ซึ่งเป็นผลกระทบให้เกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ที่ทั่วโลกต้องร่วมกันหาทางป้องกัน
ทั้งนี้ IEA ให้ข้อแนะนำว่า ถ้าจะลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ภายในปี คศ.2030 ให้ได้นั้นทั่วโลกจะต้องมีการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งการรณรงค์ประหยัดพลังงาน 50% การใช้พลังงานทดแทน 37% การใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงพลังงานนิวเคลียร์ 18% และการใช้เทคโนโลยีอัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงดิน 5% รวมทั้งรูปแบบการใช้เชื้อเพลิงในรถยนต์ที่เปลี่ยนไป เช่น การใช้เทคโนโลยีไฮบริด เชื้อเพลิงจากไฟฟ้า ซึ่งหากดำเนินการตามที่กล่าวมาได้ทั้งหมด จะสามารถช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่าร้อยละ 60 ภายในปี 2030 เมื่อเปรียบเทียบการใช้พลังงานในปัจจุบัน ที่ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้เพียงร้อยละ 1
โดยจากภารกิจที่ IEA ได้แนะนำไว้นั้น ล้วนตรงกับนโยบายของกระทรวงพลังงานที่ได้วางไว้ทั้งหมด ซึ่งขณะนี้นโยบายต่าง ๆ เหล่านี้ได้มีความคืบหน้าไปมาก ได้แก่ ด้านการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การเร่งรณรงค์ให้ประชาชนประหยัดการใช้พลังงาน ซึ่งกระทรวงพลังงาน ก็ได้มีทั้งมาตรการบังคับตามกฎหมาย และมาตรการทางสังคมที่ได้ออกมาเรื่อย ๆ เพื่อทำให้ประเทศไทยลดการใช้พลังงานลง
นโยบายการส่งเสริมด้านพลังงานทดแทน เราก็ได้มีแผนพลังงานทดแทน 15 ปี ที่ได้กำหนดไว้อย่างเป็นรูปธรรม ในการส่งเสริมพลังงานทดแทนในรูปแบบต่าง ๆ ทั้ง ลม แสงอาทิตย์ พลังงานน้ำขนาดเล็ก พลังงานจากชีวมวล ชีวภาพ เป็นต้น
ด้านการส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก โดยเฉพาะพลังงานนิวเคลียร์นั้น ก็อยู่ระหว่างศึกษาและเตรียมความพร้อมงานทางด้านเทคนิค การพัฒนาบุคลากร รวมทั้งการยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องเฉพาะในการกำกับดูแล มาตรฐานความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมให้แล้วเสร็จ และการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน ซึ่งจะมีเวลาถึงสิ้นปี 2553 ก่อนที่จะสรุปผลการศึกษาทั้งหมด นำเสนอต่อรัฐบาลและประชาชน เพื่อประกอบการตัดสินใจเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือไม่ต่อไป ซึ่งจากนโยบายด้านพลังงานที่กล่าวมา สุดท้ายจะทำให้ประเทศไทย สามารถพึ่งพาตัวเองด้านพลังงาน และส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงานให้เกิดขึ้น โดยการใช้ศักยภาพด้านพลังงานภายในประเทศที่มีอยู่ ตลอดจนการส่งเสริมพลังงานทดแทนในประเทศนั้น จะช่วยยกระดับด้านเกษตรกรภายในประเทศอีกด้วย ที่สำคัญยังเป็นช่วยลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ที่ปัจจุบันเป็นปัญหาที่ทั่วโลกให้ความสนใจ
นายแพทย์วรรณรัตน์ กล่าวเพิ่มว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมนโยบายการพัฒนากลไกที่สะอาด (CDM) ซึ่งมีโครงการด้านพลังงาน ที่สามารถเข้าสู่ระบบการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ให้แก่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วกว่า 100 โครงการ แต่ด้วยปัญหาอุปสรรคจากขั้นตอนที่มีหน่วยงานกลั่นกรองเพื่อรับรองโครงการ (DOE) ทั่วโลกมีเพียง 27 แห่ง จึงทำให้ปัจจุบันมีโครงการด้านพลังงานจากประเทศไทย ที่ได้รับการรับรองให้ซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้เพียง 2 โครงการ กระทรวงพลังงานจึงมีความคิดที่จะทำให้ประเทศไทย มีหน่วยงานด้าน DOE เกิดขึ้น โดยจะเร่งเตรียมการฝึกอบรมบุคลากร เพื่อเป็นผลักดันโครงการ CDM ในไทย และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอีกทางหนึ่งด้วย