นางอัญชนา วิทยาธรรมธัช รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เป็นประธานเปิดเวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็นเรื่องการเปิดตลาดสินค้าเกษตรภายใต้พันธกรณี AFTA เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2552 ณ ห้องโกเมน โรงแรมไดมอนด์พลาซ่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีเกษตรกร ผู้ประกอบการ ผู้แทนชุมนุมสหกรณ์ สินค้ากาแฟ มะพร้าวและน้ำมันปาล์ม จาก 11 จังหวัดภาคใต้ อาทิ สุราษฎร์ธานี ชุมพร กระบี่ พังงา นครศรีธรรมราช ระนอง สงขลา ตรัง พัทลุง ปัตตานี และสตูล เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างคับคั่ง
นางอัญชนา เปิดเผยว่าประเทศไทยมีข้อผูกพันภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน(AFTA)ซึ่งจะต้องลดภาษีนำเข้าระหว่างกันจนเหลืออัตราร้อยละ 0 ในปี 2553 รวมทั้งต้องยกเลิกโควตานำเข้าสินค้า นั้น ๆ ด้วย ซึ่งในวันที่ 1 มกราคม 2553 ไทยต้องยกเลิกโควตานำเข้าสินค้า 10 รายการได้แก่ เมล็ด ถั่วเหลือง ข้าว เมล็ดกาแฟ ชา กาแฟสำเร็จรูป น้ำนมดิบและนมปรุงแต่ง นมผงขาดมันเนย มะพร้าว เนื้อมะพร้าวแห้งและน้ำมันมะพร้าว โดยไทยต้องลดภาษีนำเข้าเหลือร้อยละ 0 สำหรับสินค้า 8 รายการ และ เหลือร้อยละ 5 สำหรับสินค้าเมล็ดกาแฟและเนื้อมะพร้าวแห้ง ซึ่งเกษตรกร ผู้ประกอบการผลิตและส่งออกสินค้ามีความกังวลว่า การลดภาษีและการยกเลิกโควตานำเข้าดังกล่าวอาจทำให้มีการนำเข้าเพิ่มมากขึ้นจนส่งผลกระทบต่อการผลิตและการค้า ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องตั้งแต่กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงสาธารณสุข จึงได้ร่วมกันกำหนดแนวทางรองรับการเปิดตลาดเพื่อให้สามารถกำกับดูแลการนำเข้าอย่างใกล้ชิด และมีการนำเข้าเฉพาะสินค้าที่มีคุณภาพดีเท่านั้นโดยแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่ การจัดระบบบริหารการนำเข้า อาทิ กำหนดให้เป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตนำเข้า กำหนดมาตรการด้านสุขอนามัยเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค เช่น ข้อกำหนดปริมาณสารพิษตกค้าง ใบรับรองสุขอนามัยพืช ปลอดGMOs และมีแหล่งกำเนิดสินค้าเป็นต้น การจัดทำระบบติดตามการนำเข้าและการติดตามตรวจสอบและประเมินผล
สำหรับการจัดเวทีสาธารณะฯ ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้รับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเปิดตลาดสินค้าเกษตรภายใต้พันธกรณีAFTAอย่างทั่วถึง และประมวลข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนสำหรับการกำหนดแนวทางและวิธีการเปิดตลาดสินค้าเกษตรที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยมากที่สุด
นางอัญชนา กล่าวเพิ่มเติมว่าขณะนี้ผลผลิตเมล็ดกาแฟเริ่มออกสู่ตลาดแล้ว ดังนั้นเพื่อรับมือกับการนำเข้าเมล็ดกาแฟจากกลุ่มประเทศอาเซียนภายใต้พันธกรณีดังกล่าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์จัดทำมาตรการรองรับการนำเข้าเสนอคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีมติกำหนดให้กาแฟเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตนำเข้า และต้องมีใบรับรองต่าง ๆ ได้แก่ ใบรับรองมาตรฐานสุขอนามัยพืช สารพิษตกค้าง ปลอด GMOs เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคภายในประเทศ รวมทั้ง กำหนดให้ อคส. หรือผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคลและ จดทะเบียนกับกรมการค้าต่างประเทศนำเข้าภายใต้การกำกับดูแลของคณะอนุกรรมการพืชสวน โดยอนุญาตให้นำเข้ามาเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการแปรรูป ห้ามจำหน่ายแจกจ่ายเป็นวัตถุดิบภายในประเทศและกำหนดให้นำเข้าเฉพาะด่านที่มีเจ้าหน้าที่ตรวจพืชในช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคมของทุกปีเท่านั้น จึงมั่นใจว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในประเทศ
“ การยกเลิกโควตาและภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรเป็นสิ่งที่ไทยจะต้องปฏิบัติตามพันธกรณีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผลกระทบจากการเปิดตลาดดังกล่าวทำให้มีการนำเข้าเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากราคาถูกกว่าซึ่งภาครัฐก็ได้กำหนดมาตรการรองรับไว้แล้ว แต่เมื่อเปรียบเทียบกับผลประโยชน์ที่จะได้รับจะมีค่อนข้างมาก เพราะมีโอกาสขยายตลาดไปสู่ประเทศในอาเซียนอื่นได้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากไทยมีศักยภาพในการผลิตมากกว่า สามารถนำเข้าวัตถุดิบให้โรงงานแปรรูปในราคาต่ำเป็นการลดต้นทุนการผลิต นอกจากนี้ไทยอาจใช้ความได้เปรียบด้านเทคโนโลยีการผลิตในการเป็นศูนย์กลางการผลิตของอาเซียนด้วย” นางอัญชนากล่าวในตอนท้าย