1.คนกำเนิดมาจากลิง
แนวคิดวิวัฒนาการของดาร์วิน มีการอธิบายถึงคำสำคัญคำหนึ่ง นั่นคือบรรพบุรุษร่วม โดยในหนังสือ The Origin of Species ที่ตีพิมพ์ขณะที่ดาร์วินยังคงมีชีวิตอยู่นั้น มีภาพประกอบตีพิมพ์อยู่ด้วยเพียงภาพเดียว เรียกกันในภายหลังอย่างง่ายๆ ว่าเป็น ต้นไม้ชีวิต (Tree of Life) ซึ่งอธิบายถึงสายสัมพันธ์ทางวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต (Phylogenetic tree) และปรับปรุงมาจากรูปต้นแบบในบันทึกลับของดาร์วินที่ปัจจุบันรู้จักคุ้นเคยกันในชื่อภาพ I think ภาพดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าสิ่งมีชีวิตสปีชีส์ใหม่หลายๆ สปีชีส์และบรรพบุรุษร่วมของพวกมันเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างไร ตามทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วินนี้ คนกับลิงนั้นจึงน่าจะมีบรรพบุรุษร่วมกัน โดยที่บรรพบุรุษร่วมดังกล่าวมีลักษณะต่างๆ หลายอย่างที่ยังคงพบเห็นได้ในสปีชีส์ลูกหลานของมัน ในช่วงไม่กี่ปีทีผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ค้นพบหลักฐานโครงกระดูกบรรพบุรุษมนุษย์ที่มีอายุเก่าแก่มากขึ้นเรื่อยๆ แต่คงเป็นเรื่องยากยิ่งที่จะพบหรือระบุได้อย่างแน่ชัดว่า โครงกระดูกใดคือบรรพบุรษร่วมระหว่างคนกับลิง
2.ยีราฟคอยาวเพราะต้องยืดคอกินใบไม้ในที่สูงๆ
ในสมัยของดาร์วินนั้น แนวคิดสำคัญที่กล่าวถึงวิวัฒนาการมีอยู่หลายแนวคิด หนึ่งในนั้นคือ แนวคิดของชอง-บาติสต์ เดอ ลามาร์ก (Jean Baptiste de Lamarck) ลามาร์กเชื่อว่าวิวัฒนาการเกิดจากการถ่ายทอดพันธุกรรมของลักษณะที่ได้รับมา (Inheritance of acquired characteristics) เช่น การที่ยีราฟคอยาว เกิดจากการที่ยีราฟต้องยืดคอเพื่อกินต้นไม้สูงๆ ตลอดเวลา ทำให้คอค่อยๆ ยาวเพิ่มขึ้นในช่วงชีวิตของมัน และสามารถถ่ายทอดลักษณะนี้ไปยังลูกหลานได้ ซึ่งต่างจากแนวคิดวิวัฒนาการของดาร์วินที่เชื่อว่า ยีราฟคอยาวเกิดขึ้นจากประชากรยีราฟมีความผันแปรหลากหลาย มีทั้งตัวคอสั้นและตัวคอยาว แต่ในช่วงสภาวะที่ขาดแคลนอาหาร เหลือเพียงแต่ใบไม้ที่อยู่บนต้นไม้สูง ยีราฟคอยาวจึงมีโอกาสอยู่รอดมากกว่า ดังนั้น กลุ่มของยีราฟคอยาวในประชากรยีราฟ จึงสามารถอยู่รอดได้ดีกว่าและผลิตลูกหลานที่มีลักษณะคอยาวได้มากกว่า และนี่ก็คือหัวใจของวิวัฒนาการที่เกิดจากกระบวนการคัดสรรตามธรรมชาติ แต่ดาร์วินเองไม่สามารถอธิบายได้ว่า ความผันแปรดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร ปัจจุบันนี้ เราทราบกันบ้างแล้วว่า ส่วนหนึ่งของความแตกต่างดังกล่าว เกิดขึ้นจากความแตกต่างของพันธุกรรมของพวกมันนั่นเอง
3. วิวัฒนาการเป็นแค่ทฤษฎีหรือความเชื่อที่พิสูจน์ไม่ได้
วิวัฒนาการไม่ได้เป็นทฤษฎี แต่เป็น “ข้อเท็จจริง (Fact)” แต่ “การคัดสรรตามธรรมชาติ (natural selection) ที่ดาร์วินอธิบายไว้เมื่อ 150 ปีก่อน คือ ทฤษฎีที่ใช้อธิบาย “กลไก (mechanism)” ที่ก่อให้เกิดสปีชีส์ใหม่และเป็นกลไกสำคัญเบื้องหลังการเกิดวิวัฒนาการนั่นเอง แต่กระนั้นก็ยังมีผู้เชื่อว่าวิวัฒนาการเป็นเพียงแนวคิดที่พิสูจน์ไม่ได้ เพราะต้องอาศัยระยะเวลานานจึงจะสังเกตเห็นวิวัฒนาการได้ ฉะนั้น ทั้งหมดจึงเป็นเรื่องของการคาดเดาทั้งสิ้น ความเชื่อดังกล่าวไม่ถูกต้องนัก มีโครงการศึกษานกฟินช์ในช่วงต้นทศวรรษ 1970 ที่พบว่าในช่วงเวลาที่แหล่งอาหารลดลง ไม่เพียงนกฟินช์ที่กินเมล็ดผลไม้เปลือกแข็งจะมีจำนวนที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดแล้ว ผลจากการสุ่มวัดความลึกจะงอยปากพบว่า ค่าเฉลี่ยมีการเปลี่ยนแปลงจาก 9.5 มิลลิเมตร เป็น 10 มิลลิเมตร ภายในระยะเวลาเพียง 3 ปี แสดงให้เห็นว่านกฟินช์ที่มีจะงอยปากลึก ซึ่งกินเมล็ดพืชที่ขนาดใหญ่และแข็งได้ดีกว่า อยู่รอดผ่านการคัดสรรตามธรรมชาติได้ดีกว่า นับเป็นตัวอย่างของ microevolution ที่ชัดเจนมากแบบหนึ่ง นอกจากนี้ วิวัฒนาการที่เห็นได้ชัดและเป็นตัวอย่างที่ได้รับการกล่าวถึงเสมออีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ การพัฒนาของเชื้อแบคทีเรียดื้อยาต่างๆ นั่นเอง
4. หนังสือ The Origin of Species กล่าวถึง กำเนิดสิ่งมีชีวิตบนโลกนี้ และพิสูจน์ว่าไม่มีพระเจ้า
หนังสือกำเนิดสปีชีส์ไม่ได้กล่าวถึง “กำเนิดของสิ่งมีชีวิตแรกบนโลก” แต่อย่างใด แต่ได้อธิบายเรื่อง “การเกิดสปีชีส์ใหม่” ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร นอกจากนี้แล้ว หนังสือดังกล่าวไม่ได้พยายามพิสูจน์ว่ามีพระเจ้าหรือไม่ แต่สรุปว่าการเกิดสปีชีส์ใหม่ (และเกิดวิวัฒนาการ) ไม่จำเป็นต้องอาศัยอำนาจเหนือธรรมชาติใดๆ
5. สิ่งมีชีวิตซับซ้อนเกินกว่าจะเกิดขึ้นได้ตามทฤษฎีวิวัฒนาการ
มีผู้เชื่อถือกันว่ามนุษย์แต่ละคนก็เปรียบได้กับนาฬิกาที่ละเอียดอ่อนและซับซ้อนมาก จึงควรต้องมีอำนาจศักดิ์สิทธิ์เป็นผู้สรรค์สร้างขึ้น และเป็นไปไม่ได้ที่ธรรมชาติจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทีละน้อยจนเกิดเป็นมนุษย์ขึ้นได้ แต่หากพิจารณาเงื่อนไขสำคัญของวิวัฒนาการคือ เวลา และหากเราลองย่อเวลาตั้งแต่โลกถือกำเนิดขึ้นเมื่อ 4,500 ล้านปีก่อนจนถึงปัจจุบันให้เป็น 24 ชั่วโมง ยุคสมัยที่เกิดมนุษย์ขึ้นก็ครอบคลุมแค่ 17 วินาทีสุดท้ายก่อนหมดวันเท่านั้น อีกทั้งมนุษย์ก็มีอายุราว 100 ปี จึงอาจเป็นเรื่องยากที่จะจินตนาการว่า เวลาหลายพันล้านปีนั้น ธรรมชาติจะคัดสรรและเปลี่ยนแปลงสิ่งมีชีวิตให้มีความซับซ้อนได้มากเพียงใด
อย่างไรก็ดี สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นวิวัฒนาการเชิงชีวภาพเท่านั้น แต่หากมองวิวัฒนาการในแง่มุมอื่นๆ เช่น วิวัฒนาการเชิงเทคโนโลยี จะเห็นว่าการพัฒนาสิ่งใหม่ๆ เกิดเร็วขึ้นจนน่าทึ่ง ดังเช่น มนุษย์รู้จักการผลิตแบบอุตสาหกรรมเมื่อราว 200 ปีก่อน เริ่มรู้จักผลิตกระแสไฟฟ้าราว 140 ปี มีการคิดค้นการบินด้วยเครื่องจักรเมื่อ 110 ปีก่อน มีคอมพิวเตอร์แบบอิเล็กทรอนิกส์เครื่องแรกราว 70 ปีก่อน มนุษย์สามารถดึงพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ได้ราว 60 ปีก่อน และเริ่มมีอินเทอร์เน็ตใช้เมื่อ 20 ปีก่อนหน้านี้เท่านั้น
ในเมื่อมนุษย์สามารถพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและทันสมัยได้ภายในระยะเวลาอันสั้นเป็นอย่างยิ่งแล้ว จึงเป็นเรื่องไม่น่าประหลาดใจเลยว่า ภายในระยะเวลาอันยาวนานบนโลก ธรรมชาติก็ย่อมมีโอกาสคัดสรรและพัฒนาสิ่งมีชีวิตที่มีความสลับซับซ้อนได้อย่างน่าเหลือเชื่อเช่นเดียวกัน!!!
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
โทรศัพท์ 0-2564-7000 ต่อ 1461,1462 โทรสาร 0-2564-7000 ต่อ 1482 e-mail : [email protected]