๑๐ ธันวา วันธรรมศาสตร์ รักชาติไทย หวนอดีตสู่การเรียนรู้จิตวิญญาญธรรมศาสตร์จากสวนประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

ศุกร์ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๐๐๙ ๐๙:๔๓
๑๐ ธันวา วันธรรมศาสตร์ รักชาติไทย หวนอดีตสู่การเรียนรู้จิตวิญญาญธรรมศาสตร์จากสวนประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

เรื่องโดย อ.วิภา ดาวมณี

อาจารย์สุรพล ปัญญาวชิระ ออกแบบประติมากรรม

นายอเนก เจริญพิริยะเวศ ออกแบบ ภูมิสถาปัตยกรรม

ใกล้ ๑๐ ธันวาคมเข้ามา ชาวธรรมศาสตร์โดยเฉพาะที่รวมตัวกันเป็นสมาคมศิษย์เก่าก็ดูจะคึกคักเป็นพิเศษ มีการจัดกิจกรรมทุกๆปีจนเป็นประเพณี ปีนี้เสื้อธรรมศาสตร์ที่เพิ่งออกมาพาให้ผู้คนแปลกใจ เพราะเป็นสีธงชาติไทย ที่มีขาวแดงน้ำเงินเป็นสีหลัก หากจะตั้งชื่อยุคสมัยให้กับความเป็นไปของธรรมศาสตร์ในบริบทของสังคมไทยปัจจุบัน ก็อาจเรียกได้ว่า ยุคธรรมศาสตร์ชาตินิยมกระมัง ภายใต้อุดมการณ์ชาตินิยมที่กำลังอบอวลด้วยสัญลักษณ์ “ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ”....เราลองมองย้อนกลับไปเมื่อแรกตั้งธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัย ภายหลัง “การอภิวัฒน์ พ.ศ. ๒๔๗๕” คณะราษฎรได้เข้าทำการยึดอำนาจและประกาศหลัก ๖ ประการ เพื่อสิทธิเสมอภาค เสรีภาพ ความเป็นอิสระ ก่อร่างสร้างประชาธิปไตย โดยให้การศึกษากับราษฎรอย่างเต็มที่ สองปีถัดมา เมื่อ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๗ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ก็ได้ก่อตั้งขึ้น โดยมีชื่อว่า “มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง” เพื่อการศึกษาของสามัญชนในแบบตลาดวิชา ทันทีที่เปิดก็มีผู้คนต่างหลั่งไหลเข้ามาศึกษาจากทั่วประเทศ กว่าเจ็ดพันคน มหาวิทยาลัยได้ทำหน้าที่ประดุจ “บ่อน้ำ” ที่คอยดับความกระหายของราษฎรที่แสวงหาความรู้ในทางสังคมการเมือง และเป็นกลไกสำคัญในการสร้างคนรุ่นใหม่รองรับการปกครองรูปแบบใหม่ที่สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ยอดโดมหกเหลี่ยมที่สะท้อนความหมายหลัก ๖ ประการของคณะราษฎร จึงตั้งตระหง่านสูงเด่น เป็นสัญลักษณ์ของธรรมศาสตร์มาจนทุกวันนี้ แม้จะมีผู้หลักผู้ใหญ่บางคนจะกล่าวถึงความสำเร็จในการย้ายธรรมศาสตร์ไปยังรังสิตเมื่อเร็วๆนี้ว่า “ โดมธรรมศาสตร์ จะสำคัญอะไรนักหนา ” อาจจะเพราะมิได้เรียนรู้ หรือสนใจและให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร์ในคราวนั้น แต่อย่างไรก็ตาม ความเป็นมาของการสถาปนามหาวิทยาลัยแห่งนี้ก็คือที่มาของจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ จากวันนั้นนักศึกษาธรรมศาสตร์ก็ยิ่งเข้าไปมีบทบาททางการเมือง และในเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ร่วมกับประชาชนและผู้รักประชาธิปไตยอีกมากมาย

วันนี้หากใครได้เดินผ่านประตูรั้วของธรรมศาสตร์เข้ามาก็จะเห็นว่าด้านหน้าของหอประชุมใหญ่เรียงรายด้วย ประติมากรรมจำนวน ๘ ชิ้นงาน ซึ่งบ่งบอกลำดับเหตุการณ์ที่ธรรมศาสตร์มีความเกี่ยวข้องกับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ๑๑ เหตุการณ์ด้วยกัน จากด้านที่ติดกับคณะนิติศาสตร์ ด้านในสุดของสวนไล่เรียงมา จะเป็นศาลาสีเงินรูปหกเหลี่ยม โปร่ง หลังคาคล้ายหลังคาตึกโดม มีเสาค้ำยัน ๖ ต้นรองรับ แทนความหมายของหลัก ๖ ประการ ซึ่งประกาศโดยคณะราษฎร คือ๑. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลายของประเทศไว้ให้มั่นคง

๒. จะต้องรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดลงให้มาก

๓. ต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะหางานให้ราษฎรทุกคนทำ

จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก

๔. จะต้องให้ราษฎรได้สิทธิเสมอภาคกัน

๕.จะต้องให้ราษฎรมีเสรีภาพ ความเป็นอิสระ เพื่อเสรีภาพ (โดยไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการข้างต้น)

๖. จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่กับราษฎร

ถัดมาใกล้กับกำแพงรั้วด้านพิพิธภัณฑ์ เป็นประติมากรรมนูนสูงสีทอง มีรูปโดมอยู่ตรงกลาง นักศึกษาหญิงชาย ชูตราชั่งแห่งความยุติธรรม อีกด้านหนึ่งเป็นสัญลักษณ์ธรรมจักร คัดข้อความบางตอนของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรืออาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยกล่าวรายงานในวันสถาปนามหาวิทยาลัยมาไว้ โดยถือให้วันที่ ๑๐ ธันวาคมของทุกปีเป็นวันธรรมศาสตร์ ประติมากรรมชิ้นที่สองนี้จึงแทนวันธรรมศาสตร์ที่ชาวธรรมศาสตร์จะมาร่วมกันรำลึก เรียกชื่อชิ้นงานว่า “ การก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง” เหตุการณ์นี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญและเป็นรากฐานในการสร้างปัญญาชน และบัณทิตใหม่ เม็ดเลือดใหม่ของสังคมไทยขึ้นมารองรับระบอบประชาธิปไตบ ถัดเข้ามาตรงกลางเป็นประติมากรรมที่สะท้อนเหตุการณ์เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถูกใช้เป็นกองบัญชาการของขบวนการเสรีไทย และเป็นสถานที่กักกันคนต่างชาติ มีบุคลากรนักศึกษาธรรมศาสตร์และประชาชนชาวไทย ในนามของขบวนการเสรีไทยร่วมกันต่อต้านญี่ปุ่น รวมทั้งแสดงเจตจำนงค์ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลไทยที่ไปสนับสนุนญี่ปุ่นในขณะนั้น ขบวนการนี้ทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการเป็นผู้แพ้ในสงคราม จึงมีภาพปืนใหญ่ และเหล่ายุวชนเสรีไทยที่อาสาสู้ศึกในลักษณะประติมากรรมลอยตัวเป็นสีดำบ่งบอกความมุ่งมั่นและอุดมการณ์ของตน

ส่วนอีกชิ้นงานหนึ่งที่นักศึกษารุ่นปัจจุบันน่าจะกลับมาค้นคว้าศึกษาเปรียบเทียบให้เกิดความรับรู้มากขึ้น ก็คือประติมากรรมสะท้อน “ ขบวนการนักศึกษาธรรมศาสตร์ ระหว่าง พ.ศ.๒๔๙๔ ถึง พ.ศ. ๒๕๐๐ ” หลายคนอาจจะรู้จักเพียง เหตุการณ์หรือขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบแบ่งขั้วแบ่งสีในปัจจุบัน และประวัติศาสตร์การเมืองไทยระยะใกล้ๆ ในยุคพฤษภา ๒๕๓๕ หรือ ยุค ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ แต่ไม่เคยรู้ว่าก่อนหน้า

หลายปีมาแล้ว ขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาไทยได้เริ่มต้นขึ้น โดยมีทั้งกระบวนวิธีคิด วิธีการทำงาน การรวมตัวจัดตั้ง มีอุดมการณ์ และจิตใจที่องอาจกล้าหาญ ควรแก่การศึกษายกย่อง ประติมากรรมชิ้นนี้จึงรวม ๓ เหตุการณ์สำคัญในเวลาใกล้ๆกันเพื่อสะท้อนภาพการเคลื่อนไหวของนักศึกษายุคนั้น เหตุการณ์แรกคือ ภายหลังการทำรัฐประหาร ปี พ.ศ.๒๔๙๐ ธรรมศาสตร์ประสบกับความผันผวนและภัยทางการเมืองเป็นอย่างรุนแรง ต้นปี พ.ศ. ๒๔๙๒ มีเหตุการณ์กบฏวังหลังที่ฝ่ายสูญเสียอำนาจต้องการทวงอำนาจคืน และยังเกิดเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตันในเวลาต่อมา ฝ่ายกองทัพบกจึงเข้ายึดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำให้มหาวิทยาลัยต้องอพยพไปอยู่ที่เนติบัณฑิตยสภาบ้าง ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาบ้าง จนวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๔๙๔ นักศึกษาธรรมศาสตร์ประมาณ ๓๐๐๐ คนได้รวมตัวกันเดินขบวนเรียกร้องมหาวิทยาลัยคืนจากการยึดครองของกองทัพบก ภายใต้คำขวัญ “รวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย” และได้คืนมาในวันที่ ๕ พฤศจิกายนปีเดียวกันเราจึงเรียกวันที่ ๕ นี้ว่าเป็นวันธรรมศาสตร์สามัคคี ซึ่งในปีนี้วันธรรมศาสตร์สามัคคีกลับเงียบเหงา เพราะอาจจะไม่ค่อยหรือไม่อาจจะสามัคคี จึงไม่มีคำขวัญเช่นวันเก่าก่อนเสียแล้ว เหตุการณ์ที่สองในปีถัดมา พ.ศ.๒๔๙๕ นักศึกษาก็ร่วมกันรณรงค์ต่อต้านสงครามในยุคสงครามเย็น คัดค้านการส่งทหารไทยไปรบในเกาหลี เพื่อต่อต้านการขยายอำนาจอิทธิพลของจักรวรรดินิยมอเมริกา รัฐบาลยุคเผด็จการฟัสซิสต์คุกคามกวาดล้างจับกุมและคุมขัง ตั้งข้อหา กบฎสันติภาพ นับจากปีนั้นถึงปีนี้ 50 ปีพอดี ผลจากการรณรงค์ดังกล่าวมีนักศึกษาธรรมศาสตร์ถูกจับกุมรวม ๑๙ คน กลายเป็น

”ขบวนการสันติภาพ” ส่วนเหตุการณ์ที่ ๓ นั้นเกิดจากการเลือกตั้งในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ซึ่งเป็นปีหัวเลี้ยวหัวต่อของการเมืองไทย ที่กำลังเปลี่ยนจากระบอบพิบูลสงคราม นำโดยเผด็จการทหาร จอมพล ป. ไปสู่การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมป์ของเผด็จการจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ภายใต้การก้าวขึ้นมามีอำนาจของสหรัฐอเมริกา พร้อมทั้งฟื้นการมีบทบาทอย่างเข้มแข็งของสถาบันประเพณี ที่เรียกว่ากลุ่มอนุรักษ์นิยม นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ร่วมกับประชาชน และนักศึกษาสถาบันอื่นๆ คัดค้าน เปิดโปง และ ร่วมกันเดินขบวนประท้วงการเลือกตั้งสกปรก

จน “การเดินขบวน” ได้กลายเป็นประเพณีทางการเมือง นับเป็นขั้นสูงสุดของการสำแดงพลังนิสิตนักศึกษาประชาชนขณะนั้น ไม่ถึงกับยึดทำเนียบรัฐบาล หรือยึดสนามบินในนามขบวนการประชาชนเช่นปัจจุบัน

ในช่วงปี ๒๕๐๖ ถึง ๒๕๑๓ การเมืองไทยอยู่ในวังวนของอำนาจเผด็จการทหาร ถนอม-ประภาส-ณรงค์นักศึกษาอยู่ในฐานะอภิสิทธิชนมีความภาคภูมิใจในสถานภาพของตน และใช้ชีวิตอย่างสุขสำราญ นักวิชาการบางท่านเรียกขานยุคนี้ว่า “ยุคสายลมแสงแดด” นักศึกษาธรรมศาสตร์ในยุคนี้แทบไม่มีใครทราบอดีตเลยว่า ใครเป็นผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัยมีความเป็นมาอย่างไร มีประวัติอย่างไร เนื่องจากอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ได้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ลอบปลงพระชนม์ในกรณีสวรรคตของรัชกาลที่๘ และต้องลี้ภัยไปอยู่ในต่างประเทศทั้งยังถูกกล่าวหาว่ามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ในเวลานั้นนักศึกษาส่วนใหญ่จะใช้เวลาไปกับการแข่งขันกีฬา พาเหรด แบ่งสี แบ่งสถาบัน จำกัดการจัดกิจกรรมอยู่เฉพาะในแวดวงกีฬา และบันเทิงภายในรั้วมหาวิทยาลัย ไม่สนใจสังคมการเมือง และไม่ใส่ใจในทุกข์สุขของประชาชน “ยุคสายลมแสงแดด” นี้อาจจะใกล้เคียงกับบรรยากาศในรั้วมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน ทุกๆเย็นเราจะเห็นนักศึกษาทุ่มเมกับการซ้อมเชียร์ลีดเดอร์ ทั้งอาจารย์ และนักศึกษาต่างตั้งหน้าตั้งตาเรียน ตั้งตาสอน และทำงานวิจัย หมกมุ่นกับการทำรายงานและเอกสารเพื่อการประเมินคุณภาพวิชาการ จนไม่มีเวลาหันมาสนใจสังคมที่กำลังมีวิกฤตมากกมาย หลายคนเรียกปีระหว่างรัฐประหารเมื่อ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เป็นการเริ่งกลับสู่ยุคสายลมแสงแดดอีกครั้ง หรือเรียกว่ายุคสายลมแสงแดดครั้งที่ ๒ ของธรรมศาสตร์

จนเมื่อนักศึกษาบางส่วนที่มีความตื่นตัวทางการเมืองจากกระแสต้านสงครามในเวียตนามที่สหรัฐอเมริกาใช้ไทยเป็นฐานทัพ ประกอบกับการเมืองที่เป็นเผด็จการ นักศึกษา ปัญญาชน เริ่มตั้งคำถามถึงสถานะของตนเอง ประชาคมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เริ่มมีความตื่นตัวอีกครั้งหนึ่ง กล่าวคือ มีการสร้างกลุ่ม ชมรม องค์กรนักศึกษา ฯลฯ ในขณะเดียวกันก็เริ่มมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมในวงกว้าง แหวกรั้วมหาวิทยาลัยออกไปสู่สังคมภายนอก ทั้งในเขตเมืองและชนบท ซึ่งมีผลสะท้อนกลับคือ ทำให้นักศึกษากลายเป็นพลัง และกลุ่มกดดันทางสังคม เป็นยุคที่รู้จักกันดีในชื่อ “ยุคฉันจึงมาหาความหมาย” จากอิทธิพลทางความคิดและบทกวีอมตะหลายๆบท และหนึ่งในบทกวีเหล่านั้นมาจากหนังสือเพลงเถื่อนแห่งสถาบัน (ปี พ.ศ. ๒๕๑๑) ของ วิทยากร เชียงกูล นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ ปี ๓ ในห้วงเวลาดังกล่าว ....นักศึกษาหลายต่อหลายคนที่ได้รับแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนเส้นทางชีวิตของตนจากบทร้อยกรองสั้นๆที่ว่า

“ ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง.....ฉันจึงมาหาความหมาย......ฉันหวังเก็บอะไรไปมากมาย.........สุดท้ายให้กระดาษฉันแผ่นเดียว”

ประติมากรรม“ยุคสายลมแสงแดด และยุคแสวงหา” เป็นโลหะฝังลงบนแท่นหิน ตั้งอยู่ตรงกึ่งกลางริมทางเดินหน้าหอใหญ่ สะท้อนสองยุคสมัยที่อยู่ตรงข้าม เสมือนด้านตรงข้ามของเหรียญเดียวกัน

ช่วงปี ๒๕๑๔ - ๑๕ ต้องถือว่าเป็นช่วงรอยต่อของการคิด ไปสู่การเคลื่อนไหว ระบบการศึกษาในมหาวิทยาลัยแก้ปัญหาให้คนจน แก้ปัญหาให้ประเทศไม่ได้ นักศึกษาหลายสถาบันที่ก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยเริ่มตั้งคำถามอย่างที่รุ่นพี่เคยตั้งคำถาม เช่นถามว่า....เราคือใคร เราเกิดมาทำไม ยิ่งไปกว่านั้นเราต้องทำอะไรบ้าง … ก่อนเกิดเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ประมาณ ๒ ปี มีการสร้างกระแสสำนึกในหมู่นักกิจกรรมว่า โครงสร้างของตึกในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เหล็กเส้นข้างในจริงๆ มันคือกระดูกของคนทั้งประเทศ นั่นคือกระดูกของชาวนา น้ำประปาที่เราเปิดก๊อกออกมา นี่ก็คือเหงื่อของกรรมกร

นักศึกษาหรือนักกิจกรรมเหล่านั้นเชื่อกันว่า ด้วยลำพังพ่อแม่ของเรา เราไม่สามารถเรียนถึงขั้นอุดมศึกษา หรือเรียนถึงขั้นปริญญาได้ มหาวิทยาลัยเป็นผลิตผลทางประวัติศาสตร์ เป็นผลึกของอารยธรรมของประเทศของสังคมทั้งหมด มาจากการสะสมความรู้ตลอดไม่รู้กี่ชั่วอายุคน มหาวิทยาลัยมาจากเงินภาษีอากร เวลานั้นพ่อแม่ส่งให้เราเรียน ค่าเรียนที่ธรรมศาสตร์เพียงหน่วยกิตละ ๒๕ บาท มีอาจารย์อยู่เต็มมหาวิทยาลัย นักศึกษาเป็นพันๆ คนที่ได้มีโอกาสเรียน

ความรู้ที่นักศึกษาได้นอกเหนือจากตำรา คือ ความรู้จากการอ่าน จากหนังสือ จากวรรณกรรม จากห้องสมุด จากหนังสือทำมือ จากวารสารต่างๆ มีหนังสือจำนวนมากที่มีผลผลักดันให้นักศึกษาเข้าสู่การเคลื่อนไหว เช่น หนังสือของ “สด กูรมะโรหิต” ซึ่งเป็นผู้นำความคิดลัทธิสหกรณ์ในประเทศไทยคนสำคัญ หนังสือเรื่อง ‘ขบวนเสรีจีน’ เป็นเรื่องของนักศึกษาจีนต่อต้านญี่ปุ่นในสมัยสงคราม เรื่อง ‘ระย้า’ เป็นกลุ่มคนจนลุกขึ้นมาต่อต้านคนรวย รวมไปถึงต่อต้านอำนาจรัฐ และข้าราชการคอรัปชั่น นักคิดในกระแสเสรีนิยม สังคมนิยม และแนวเศรษฐศาสตร์การเมืองรวมตัวกันผลิตหนังสือ วารสารที่ฉีกกรอบเดิมมากขึ้น และมากขึ้น เช่น สังคมศาสตร์ปริทัศน์ วารสารลอมฟาง วารสารโซตัสใหม่ที่คัดค้านระบบอาวุโสในมหาวิทยาลัย คัดค้านการที่รุ่นพี่กดขี่เอารัดเอาเปรียบรุ่นน้อง ฯลฯ

มาถึงยุคเคลื่อนไหวประมาณปี พ.ศ.๒๕๑๕ มีการเดินขบวนต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น ธีรยุทธ บุญมี เป็นผู้นำรณรงค์ให้คนทั้งประเทศใส่ผ้าดิบ เริ่มขบวนการชาตินิยมกลายๆขึ้นมา ยิ่งไปกว่านั้นนิสิตนักศึกษายังเห็นว่า การรวมตัวกันทำอะไรให้กับสังคมนั้นเป็นไปได้ สมาชิกสภาหน้าโดมที่เป็นนักศึกษา-นักกิจกรรมของธรรมศาสตร์ได้มีส่วนอย่างมากในการคัดค้านการประกวดนางสาวไทย นอกเหนือจากการคัดค้านงานฟุตบอลประเพณีที่ฟุ้งเฟ้อ เมื่อนักศึกษาเริ่มเคลื่อนไหว เริ่มรวมตัว ก็เริ่มตกเป็นเป้าคุกคามเสรีภาพจากผู้บริหารประเทศ สะท้อนออกชัดเจนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง รัฐบาลส่ง ดร.ศักดิ์ ผาสุกนิรันดร์ ไปเป็นอธิการบดีเพื่อควบคุมนักศึกษารามคำแหง เพราะตอนนั้นเป็นมหาวิทยาลัยเปิดเพียงแห่งเดียว มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้หมดสภาพความเป็นมหาวิทยาลัยเปิดไปเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่มีการสอบเข้า คนจนเริ่มได้เรียนน้อยลง คนจนส่วนหนึ่งจึงต้องไปเรียนที่รามฯ มีการเคลื่อนไหว มีการรวมกลุ่มนักศึกษา ทำให้กลุ่มอิสระของนักศึกษาทั้งหลายเริ่มมองเห็นภัยของเผด็จการที่เข้ามาแทรกแซงกิจกรรมของนักศึกษาอย่างชัดเจน

มีการชุมนุมใหญ่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อทวงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คืนจากรัฐบาลจอมพล ป. จนมาถึงการเคลื่อนไหวคัดค้านประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่๒๙๙ ในเดือนธันวาคมปี ๒๕๑๕ เป็นครั้งแรกที่นักศึกษาต่อสู้กับอำนาจรัฐโดยตรง คือคัดค้านกฎหมายที่รัฐบาลเผด็จการประกาศใช้เพื่อปิดกั้นเสรีภาพ ของสื่อมวลชน โดยรัฐสามารถตรวจข่าวได้ทุกข่าว ถ้าข่าวใดที่รัฐไม่เห็นด้วยก็จะตีพิมพ์ไม่ได้

กลุ่มอิสระในธรรมศาสตร์ได้แก่ สภาหน้าโดม กลุ่มเศรษฐธรรม กลุ่มผู้หญิง ชมรมนิติศึกษา และสภากาแฟ ทั้งหมดนี้มีการนัดหมายเดินขบวนกัน โดยเริ่มชุมนุมใหญ่จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วเดินเท้าไปที่จุฬาฯ เพื่อไปชวนเพื่อนนิสิตจุฬา มาร่วมชุมนุมต่อต้าน หลายวันถัดมาก็มาชุมนุมกันที่หน้าศาลติดกับสนามหลวงจนข้ามคืน รัฐบาลถนอมจึงยอมยกเลิกประกาศคณะปฏิวัติไปในที่สุด นับเป็นอีกครั้งที่นักศึกษาเริ่มเห็นพลังของตัวเอง และเป็นพลังที่ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวเฉพาะกับเรื่องฟุ่มเฟือยในรั้วมหาวิทยาลัย แต่เป็นพลังที่เคลื่อนไหวเพื่อผลประโยชน์ของสังคม ร่วมกับประชาชน สื่อมวลชน หนังสือพิมพ์ต่างๆ

ประวัติศาสตร์หน้าใหม่จึงนำไปสู่การก่อตัวของ ๑๓ กบฏเรียกร้องเรียกร้องรัฐธรรมนูญในเดือนตุลาคม ๒๕๑๖ เพื่อประชาธิปไตยทางการเมือง

ในยุคก่อนการเคลื่อนไหว ๑๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๖ มีบทกวีเป็นจำนวนมาก ที่ทำให้คนหนุ่มสาวมีพลังในการที่จะคิดอะไรนอกเหนือไปจากกรอบที่เขาเคยคิด พลังของวรรณกรรม อยู่ที่ ‘วรรคทอง’ เช่น บทกวี ของนเรศ นโรปกรณ์ หรือ มนูญ มโนรมย์ที่ว่า......

“เพียงหวังจะเฟื่องฟุ้งฤาจึงมุ่งมาศึกษา

เพียงเพื่อปริญญาเอาตัวรอดเท่านั้นฤา

แท้ควรสหายคิดและตั้งจิตมั่นยึดถือ

รับใช้ประชาคือปลายทางเราที่เล่าเรียน”

อีกชิ้นเป็นของทวีป วรดิลก

“จงเป็นอาทิตย์เมื่ออุทัย เกรียงไกรในพลังสร้างสรรค์

เพื่อความดีงามร่วมกัน แห่งชั้นชาวชนคนงาน

เข้ารวมร่วมพลังบังเกิด แจ่มเจิดพบใสไพศาล

ชีพมืดชืดมาช้านาน หรือจะทานแสงทองส่องฟ้า”

และบทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์ แปลจากกวีอาเมเนียน

“เพื่อลบรอยคราบน้ำตาประชาราษฎร์

สักพันชาติจักสู้ม้วยด้วยหฤหรรษ์

แม้ชีพใหม่มีเหมือนหวังอีกครั้งครัน

จักน้อมพลีชีพนั้นเพื่อมวลชน”

บทกวีเหล่านี้ได้เปิดโลกทัศน์ให้นักศึกษา พลังของตัวอักษรทำให้คนหนุ่มสาวที่เคยหมกมุ่นแต่เรื่องของตัวเองได้รับการปลดปล่อย การเคลื่อนไหวของนิสิต นักศึกษา ประชาชนเพื่อขับไล่เผด็จการ ในลักษณะของการปฏิวัติสังคม วัฒนธรรม ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จากระบบปิดสู่ระบบเปิด มีการปลดปล่อยพลังทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม จากอำมาตยาธิปไตยหรือระบบราชการทหาร ไปสู่การเมือง ระบบเศรษฐกิจเสรีในเกือบทุกด้าน

ประติมากรรมเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ได้สร้างขึ้นเพื่อ จารึกวีรกรรมของวีรชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชนที่ได้ลุกฮือขึ้นต่อต้านอำนาจเผด็จการอำมาตยาธิปไตย พลิกหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยครั้งใหญ่ ขยายครอบคลุมไปทั่วประเทศ โดยเริ่มต้นที่ลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สู่ถนนราชดำเนิน นำมาซึ่งยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน และการปฏิวัติสังคมวัฒนธรรม ประติมากรรม ๑๔ ตุลา เด่นสง่าพิงกำแพงรั้วด้วยลัญลักษณ์เปลวเพลิงที่พวยพุ่ง............

ใกล้ๆกันเป็นประติมากรรมกลางแจ้งลักษณะเหมือนเขื่อนกั้นสายธารที่น้ำเคยใสให้กลับกลายเป็นสีแดงของเลือด ทำด้วยโลหะฝังลงบนหินสีแดง ขนาดยาว ๖ เมตร กว้าง ๓ เมตร หมายถึงสายธารประชาธิปไตยถูกสกัดกั้น ด้านหลังมีรายชื่อผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ภายใต้คำขวัญ “ขบวนการนักศึกษาประชาชนเดือนตุลา..กล้าต่อสู้เพื่อสังคมที่ดีงาม”

ความขัดแย้งทางการเมืองในระหว่างกลุ่มพลังก้าวหน้า ที่มุ่งให้มีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างกับพลังอนุรักษ์นิยมทางการเมือง ลงเอยด้วยการก่ออาชญากรรมรัฐ ในวันที่ ๖ ตุลา ๒๕๑๙ เพียง ๓ ปี ต่อมาจาก ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖

นักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน ชุมนุมโดยสงบที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมกันเรียกร้องให้ขับไล่อดีตจอมพลถนอม กิตติขจรผู้หวนกลับเข้ามาในประเทศไทยออกไป จนเช้ามืดวันที่ ๖ ตุลา การสังหมู่ก็เริ่มต้น จากกลางสนามฟุตบอลของมหาวิทยาลัยลามไปจนทั่วบริเวณ จากริมฝั่งเจ้าพระยา ท่าพระจันทร์ การเข่นฆ่าแผ่เป็นวงกว้าง ผ่ารั้วมหาวิทยาลัยไปถึงต้นมะขามสนามหลวง ฝ่ายการเมืองอนุรักษ์นิยมสร้างสถานการณ์ก่อนหน้าการรัฐประหาร เพื่อสลายกลุ่มองค์กรพลังก้าวหน้าและพรรคการเมืองฝ่ายตรงกันข้าม ผลักดันให้นักศึกษากว่า ๓๐๐๐ คน เดินทางสู่ป่าเขาเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

........ตัวอักษรคำว่า ๖ ตุลา ๒๕๑๙ แกะสลักบนหินแกรนิตสีแดง แสดงความหมายในตัวอย่างชัดเจน สีแดงหมายถึงเลือดที่ตกสะเก็ด ตัวอักษรหยาบๆ ความนูนไม่เท่ากันบ่งบอก ถึงความหยาบกระด้างของการถูกกระทำ ถูกเข่นฆ่า ถูกจับกุม ภาพวีรชนที่ถูกแขวนคอ ถูกนั่งยาง และอีกหลายภาพอันทารุณดูน่าสลด มีภาพปั้นนูนต่ำของ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ซึ่งดำรงตำแหน่งอธิการบดีขณะนั้น และที่ฐานโดยรอบบันทึกความรู้สึกของอาจารย์ป๋วย ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขณะที่ด้านหลังของเขื่อนมีรายชื่อวีรชนผู้เสียชีวิตสลักไว้ ทั้งหมดนี้สะท้อนภาพความพยายามของชนชั้นปกครองที่จะทำลายการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และกดกระแสการสร้างสรรค์สังคมที่ดีงามของคนหนุ่มสาวที่มีผลพวงมาจากยุคประชาธิปไตยเบ่งบานลงไป

หลายปีผ่านไปหลัง ๖ ตุลา ขณะที่วงจรอุบาทว์ของการรัฐประหารยังไม่จางหาย มีรัฐบาลพลเรือนสลับหมุนเวียนกันไป พร้อมกับความพยายามรัฐประหารของฝ่ายสูญเสียอำนาจผลัดเปลี่ยนกันเป็นระยะๆ ชนชั้นที่ได้เปรียบในสังคมจึงยังคงดำรงอยู่ วงศ์วานว่านเครือของเหล่าทรชนและผู้สืบทอดยังคงลอยนวล อำนาจอภิสิทธิชนยิ่งล้นฟ้า และห้อมล้อมด้วยผู้สวามิภักดิ์ทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่ จนมาถึงวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๔ คณะ รสช. ได้ทำการยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นักศึกษาธรรมศาสตร์ ได้ร่วมกับนักศึกษาอีกหลายสถาบัน และผู้รักความเป็นธรรม เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย คัดค้านเผด็จการ รสช. ที่มาจากการรัฐประหาร ยึดอำนาจ ฉีกรัฐธรรมนูญ โดยใช้ธรรมศาสตร์เป็นสถานที่ประชุมตั้งแต่แรก เริ่มที่ลานโพธิ์

มีการอดอาหารประท้วง จัดการอภิปราย ชุมนุมหลากหลายรูปแบบ จนในที่สุดกำลังทหารตำรวจได้ใช้อาวุธสงครามเข้าสลายการชุมนุม การปราบปรามครั้งนี้ได้โหมกระแสการรวมตัวของผู้รักประชาธิปไตยให้ลุกลามออกไป จนกลายเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ และหมดยุคของทหารการเมือง คืนสู่การเป็นทหารอาชีพในเวลาต่อมา

ประติมากรรมสะท้อนเหตุการณ์ รัฐประหาร พ.ศ. ๒๕๓๔ ถึง พฤษภา ๒๕๓๕ นี้ ถือเป็นประติมากรรมชิ้นที่ ๘ ของโครงการสวนประวัติศาสตร์ ตั้งตระหง่านอยู่ชิดกำแพง ใกล้กับประตูทางเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งจะเปิดในช่วงเย็นวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ปีนี้ในโอกาสครบรอบ ๑๕ ปี ของเหตุการณ์พฤษภา ๒๕๓๕ ชื่อของประติมากรรมชิ้นนี้ยังมีข้อถกถียงกันอยู่ เนื่องจากเป็นประติมากรรมที่พยายามถ่ายทอดประวัติศาสตร์ขบวนการนักศึกษากับการต้าน รสช. เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งนักศึกษาธรรมศาสตร์ขณะนั้นได้เข้าไปมีบทบาทร่วมกับนิสิตนักศึกษาสถาบันต่างๆในระยะแรกของการทำรัฐประหาร ก่อนที่เหตุการณ์จะบานปลายไปสู่เหตุการณ์พฤษภา ๓๕ ในปีถัดมา ประติมากรรมชิ้นนี้จึงเต็มไปด้วยสัญญลักษณ์ที่เป็นจุดเด่นของเหตุการณ์ ตลอดจนคำขวัญต่างๆ เช่น ไม่เอานายกคนนอก เย็นนี้พบกันที่ลานโพธิ์ เอาเผด็จการคืนไป เอาประชาธิปไตยคืนมา ฯลฯ

การสร้างงานประติมากรรมทั้ง ๘ ชิ้นงานนี้ผู้ออกแบบ และควบคุมกระบวนการจัดสร้างคือ อาจารย์สุรพล ปัญญาวชิระ ศิลปินจากแนวร่วมศิลปินในยุคประชาธิปไตยเบ่งบานภายหลังการปฏิวัติประชาธิปไตยเมื่อ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ด้วยเงินทุนสนับสนุนของชาวธรรมศาสตร์ และผู้รักประชาธิปไตยอีกจำนวนหนึ่ง และด้วยปณิธานของผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่มุ่งให้ธรรมศาสตร์ยังคงจิตวิญญาณของตนไว้ดังคำขวัญที่ว่า “เหลืองของเราคือธรรมประจำจิต แดงของเราคือโลหิตอุทิศให้ ” ความพยายามถ่ายทอดและสะท้อนยุคสมัย ตลอดจนจิตวิญญาณของปัญญาชนในยุคต่างๆนั้น บอกกับทุกๆคนว่า ครั้งหนึ่งเราเคยมีชื่อว่ามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง .........The University of Moral แม้วันนี้นักคิดนักเขียนที่ผันตัวมาอยู่ในแวดวงวิชาการอย่างวิทยากรเ ชียงกูลจะยอมรับว่าเป็นยุคทมี่มหาวิทยาลัยต่างๆกลับมาขายกระดาษกันอย่างขึ้นหน้าขึ้นตา

สู่วาระ ๗๕ ปีแห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คำถามยังคงล่องลอยอยู่ภายในสวนประติมากรรมธรรมศาสตร์แห่งนี้ รอคอยให้คนหนุ่มสาว และปัญญาชนมาแสวงหาคำตอบ เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์สังคมใหม่ที่ดีกว่า เพื่อโลกใหม่แห่งเสรีภาพ และ เสมอภาคอย่างแท้จริง...... เมื่อมองย้อนกลับไปสังคมไทยอาจจะเริ่มการเรียนรู้ครั้งใหม่เพื่อนำกลับมาเป็นบทเรียนในยุคปัจจุบัน

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ