ทั้งนี้ ประเทศไทยมีการส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในปี 2551 รวม 3.4 แสนตัน แต่ในปี 2552 ระยะเวลาเพียง 10 เดือน ประเทศไทยส่งออกข้าวโพดไปแล้วมากถึง 6 แสนตัน มากกว่าปีก่อนเกือบเท่าตัว และยังมีแนวโน้มว่าตัวเลขการส่งออกรวมทั้งปีจะสูงเกินกว่า 1 ล้านตัน ซึ่งส่งผลต่อเนื่องให้ราคาข้าวโพดภายในประเทศปรับตัวสูงขึ้นจากเดิมที่กิโลกรัมละ 6.00 บาท เป็น 7.80 บาท เป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ซึ่งจะส่งผลให้ราคาเนื้อสัตว์โดยรวมสูงขึ้นด้วย
สำหรับสาเหตุที่ผู้ส่งออกข้าวโพดของไทยเร่งรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อเก็บสต๊อกและส่งออกมากขึ้นนั้น เป็นเพราะราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นมาก เนื่องจากสภาพอากาศที่มีฝนตกหนักและเกิดน้ำค้างแข็งในสหรัฐอเมริกา ทำให้การเก็บเกี่ยวข้าวโพดของสหรัฐฯ ล่าช้าและได้รับความเสียหาย ส่งผลให้ปริมาณข้าวโพดไม่เพียงพอต่อความต้องการ
ดังนั้น จึงต้องขอวอนให้ภาครัฐช่วยสอดส่องดูแลการส่งออกข้าวโพด ด้วยเกรงว่าอาจจะทำให้ประเทศไทยขาดแคลนข้าวโพดอย่างหนัก และไม่สามารถเสาะหาวัตถุดิบข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้านได้มากนัก เนื่องจากกัมพูชาและลาวต่างก็มีตลาดส่งออกข้าวโพดอย่างจีนและเวียดนามอยู่แล้ว ซึ่งทั้งหมดจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์โดยรวม และในที่สุดหากต้องมีการนำเข้าเพิ่มขึ้น ราคาภายในประเทศจะสูงขึ้น และเกิดผลเสียตามมาอีกมาก ทั้งนี้ ปกติประเทศไทยจะมีผลผลิตข้าวโพดปีละ 3.89 ล้านตัน มีความต้องการใช้สูงถึงปีละ 3.96 ล้านตัน