‘QBic’ ตู้ธุรกรรมออนไลน์ ไอเดียคนไทย ทางรอด(ใหม่)ร้านทอง

จันทร์ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๐๐๙ ๑๕:๕๓
บ.โมลีคิว (ประเทศไทย) จำกัด จับมือ บ.เอเซนเทค(ประเทศไทย) จำกัด และกลุ่มธุรกิจร่วมทุนคิวบิทพอยท์ พัฒนาและผลิต ‘QBic’ ตู้ธุรกรรมออนไลน์ รับฝากดอกเบี้ยและเพิ่มวงเงินกู้ยืมทองรูปพรรณ ให้บริการลูกค้า 24 ชม.ทางรอด(ใหม่)ร้านทองในยามราคาทองแพงรายได้จากการขายทองลดลง ผู้บริหารโมลีคิว ชี้ ตู้ ‘QBic’ เป็นนวัตกรรมร้านทองรายแรกของไทยภายใต้การสนับสนุนจากโครงการ iTAP (สวทช.) พร้อมเตรียมออกสู่ตลาดต้นปี ’53

เมื่อราคา ‘ทองคำ’ พุ่งขึ้นจนเกือบทะลุ 20,000 บาทและยังคงทะยานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่สู่ดีนัก ส่งผลให้กำลังซื้อทองรูปพรรณหดหาย ทำให้คาดการณ์ว่าร้านค้าทองที่มีอยู่กว่า 6,000 แห่งจะลดลงเหลือเพียง 600 แห่งในอีก 5-6 ปีข้างหน้า เพราะรายได้จากการขายทองที่ลดลง

นวัตกรรมตู้ธุรกรรมออนไลน์ร้านทอง ไอเดียของนายสมสิทธิ์ ดวงเอกอนงค์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โมลีคิว(ประเทศไทย) จำกัด ผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์บริหารจัดการร้านทองในนาม “ลากัส”และอดีตผู้บริหารร้านทองห้องทองเที่ยงธรรม ที่สนใจทำเครื่องมือการทำธุรกรรมร้านทองออนไลน์ที่ให้บริการได้ตลอด 24 ชม. เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าในกรณีที่ไม่สามารถมาจ่ายชำระดอกเบี้ยในเวลาทำการของร้านทองได้ ‘ เชื่อว่า ตู้QBicนี้จะช่วยสร้างโอกาสและรายได้จากดอกเบี้ยที่รับจำนำให้กับร้านทอง หลังรายได้จากการค้าทองรูปพรรณหดหายเพราะราคาทองที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อความอยู่รอดของร้านค้าทองอีกทางหนึ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน ’

นายสมสิทธิ์ มั่นใจว่า “ ตู้ดังกล่าวจะได้รับการตอบรับที่ดี เพราะจะช่วยให้ผู้ประกอบการร้านทองอยู่รอดได้มากกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้ อีกทั้งมีร้านทองบางแห่งหารายได้เสริมจากการเป็นตัวแทนจำหน่ายตั๋วเครื่องบินเพื่อจุนเจือกิจการ จึงเชื่อว่าเมื่อมีการนำตู้ธุรกรรมร้านทองออนไลน์ หรือ ตู้ QBic เข้ามาจะช่วยเพิ่มช่องรายได้เพิ่มขึ้นโดยที่ร้านทองไม่ต้องการลงทุน เพราะเรามีกลุ่มธุรกิจร่วมทุน “คิวบิทพอยท์” เข้ามาร่วมลงทุนผลิตตู้ดังกล่าวออกสู่ตลาดด้วยทุนเบื้องต้น 50 ล้านบาท ติดตั้งฟรี พร้อมให้บริการโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแก่สมาชิกร้านทองที่เข้าร่วม โดยรายได้จะแบ่งปันผลจากการทำธุรกรรมที่เกิดขึ้นตามสัดส่วนให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องตามลำดับ ซึ่งร้านทองจะได้ส่วนแบ่งไม่ต่ำกว่า 3 บาทต่อหนึ่งธุรกรรมถือว่าเป็นรายได้ไม่น้อย ”

ด้านต้นทุนการผลิตตู้ QBic นั้นอยู่ที่ตู้ละ 500,000 บาทถูกกว่าตู้ต่างประเทศที่มีราคาสูงถึง 2,000,000 บาท โดยเบื้องต้นจะนำไปติดตั้งที่หน้าร้านทองห้างทองเที่ยงธรรม สาขาพระโขนงเป็นแห่งแรก ในเดือนมกราคม 2553 พร้อมตั้งเป้าขยายจุดติดตั้งเพิ่มเป็น 30 ตู้ทั่วกรุงเทพฯและปริมณฑล ก่อนเพิ่มเป็น 80 ตู้ ภายในปี 2554

สำหรับนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นนี้ ทางบริษัทฯ ได้นำโจทย์เข้าขอรับการสนับสนุนจากโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย(iTAP) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สนับสนุนทุนกว่าแปดแสนบาท และจัดหาที่ปรึกษาทางเทคนิคจากบริษัท เอเซนเทค(ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำในการให้บริการด้านระบบ RFID ทั้งซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ให้กับบริษัทโมลีคิวเพื่อพัฒนา “ ต้นแบบตู้อัตโนมัติรับชำระดอกเบี้ยและเพิ่มวงเงินกู้ยืมทองรูปพรรณ ” ซึ่งถือเป็นต้นแบบนวัตกรรมตู้ธุรกรรมทางการเงินในธุรกิจร้านทองตู้แรกของไทย ที่มีชื่อว่า ‘ ตู้ Qbic ’ นอกจากจะช่วยให้บริการลูกค้าได้ตลอด 24 ชม.ในรูปแบบออนไลน์ ทั้งการรับชำระเงิน เพิ่มวงเงิน ตรวจนับ และทอนเงินค่าดอกเบี้ยได้สะดวกมากขึ้นแล้ว ยังจะใช้ระยะเวลาสั้นกว่าที่ต้องใช้บริการโดยพนักงาน ทำให้เกิดความสะดวกในการทำธุรกรรมมากยิ่งขึ้น

จากการพัฒนาตู้ดังกล่าว นายสมสิทธิ์ ในฐานะนักธุรกิจรุ่นใหม่ ได้เล็งเห็นถึงการนำระบบ Digital Signage ของบริษัทเอเซนเทคมาต่อยอด เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับตู้ QBic จึงเกิดการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสองบริษัทจนกลายเป็นคู่ค้าทางธุรกิจในการนำตู้ QBic และระบบ Digital Signage ออกสู่ตลาดด้วยกัน จึงเป็นที่มาของการเข้ารับการสนับสนุนจากโครงการ iTAP ใน โครงการ “ การพัฒนาระบบการประชาสัมพันธ์ข้อมูลองค์กรด้วยสื่อดิจิตอล ” อีกหนึ่งโครงการเป็นทุนสนับสนุนกว่า 4 แสนบาท

สำหรับโครงการพัฒนาระบบโฆษณาแบบออนไลน์ หรือที่เรียกว่า ‘Digital Content’ นี้ นายกำพล โชคสุนทสุทธิ์ กรรมการ บริษัท เอเซนเทค(ประเทศไทย) จำกัด ( หนึ่งในผู้ประกอบที่เคยเข้ารับการสนับสนุนจาก iTAP ) กล่าวว่า เป็นระบบที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับงานโฆษณาบนตู้ QBic และประชาสัมพันธ์ข้อมูลองค์กรผ่านระบบเครือข่าย ซึ่งจะช่วยนำเสนอในรูปแบบต่างๆ ผ่านจอภาพแสดงผล (มอร์นิเตอร์) โดยควบคุมสื่อผ่านส่วนกลางด้วยการกำหนดสื่อที่ต้องการแสดง ตามกลุ่มของจอแสดงผล ตามตารางเวลาที่กำหนด รวมถึงรวบรวมจำนวนครั้ง เวลาที่ใช้แสดงผล สามารถแบ่งพื้นที่แสดงสื่อได้หลายส่วนในหนึ่งจอหรือแสดงผลได้พร้อมกัน พร้อมทั้งยังประเมินสถิติข้อมูลผู้เข้าชม ซึ่งจะทำให้องค์กรสามารถสื่อสารข้อมูลได้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ซึ่งการพัฒนาครั้งนี้จะช่วยลดการนำเข้าระบบดังกล่าวจากต่างประเทศ โดยมีจุดเด่นคือ มีความหลากหลายในรูปแบบการโฆษณาไม่ว่าจะเป็นแบบภาพนิ่ง Flash หรือแบบเคลื่อนไหว Movie

“ การได้เข้าร่วมพัฒนาครั้งนี้ ถือเป็น Big Impact ของบริษัทฯ เพราะงานวิจัยชิ้นนี้ถือเป็นสิ่งล้ำค่ามากในเชิงพาณิชย์ และเทคโนโลยีนี้มีความเหนือชั้นกว่าสิงคโปรค์เพราะเรามีพันธมิตรทางธุรกิจที่เข้าร่วมดำเนินการในโครงการมากมาย จึงมั่นใจว่า นวัตกรรมที่สร้างสรรค์และพัฒนาขึ้นโดยฝีมือคนไทยนี้จะเติมเต็มศักยภาพการดำเนินธุรกิจให้กับร้านทอง และโรงรับจำนำในการให้บริการตลอด 24 ชม. 365 วันและข้ามจังหวัดได้ ที่สำคัญยังสามารถรับชำระค่าสาธารณูปโภคได้มากกว่า 52 รายการ อาทิ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าบัตรเครดิต และอื่นๆ ”

กรรมการผู้จัดการบริษัทโมลีคิว กล่าวเสริมว่า ขณะนี้บริษัทฯ อยู่ระหว่างประสานบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เพื่อรับชำระค่าสาธารณูปโภคมากกว่า 52 รายการที่ทางทีโอทีมีอยู่ คาดว่า หลังเซ็นต์สัญญาจะเริ่มนำตู้ QBic ออกสู่ตลาดภายในต้นปี 2553 ตามแผนที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับบริษัท ขนส่ง จำกัด ในการจำหน่ายตั๋วรถ บขส. และบริษัท กลางประกันภัย จำกัด รับจำหน่ายพรบ.ประกันบุคคลที่ 3 รถจักรยานยนต์

“ ส่วนการทำสื่อโฆษณาออนไลน์บนตู้ QBic นับเป็นอีกช่องทางการตลาดที่มีราคาถูกกว่าสื่อโฆษณาทางทีวีสำหรับเอเยนซี่และเจ้าของผลิตภัณฑ์สินค้าที่ต้องการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุด เพราะสถานที่ติดตั้งเน้นตลาดและชุมชน ซึ่งเฟสต่อไปเราจะไม่ปิดกั้นเฉพาะร้านทองเท่านั้น อาจเป็นร้านขายยา , โรงรับจำนำ หรือแม้แต่ 7/11 เพราะเราถือเป็น point of sell หรือเค้าท์เตอร์เซอร์วิส จึงไม่เคยคิดเป็นคู่แข่งทางการค้ากับใครยินดีที่จะร่วมงานกับทุกฝ่าย เพื่อขยายจุดติดตั้งตู้ QBic ให้เข้าถึงประชาชนมากขึ้น เชื่อจะสามารถคืนทุนได้ภายใน 4 - 5 ปี ” กรรมการผู้จัดการ บริษัทโมลีคิว กล่าว

ด้าน รศ.ดร.สมชาย ฉัตรรัตนา รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี(TMC) กล่าวว่า สำหรับความร่วมมือของเอกชนทั้งสองรายนี้ ถือเป็นการทำธุรกิจรูปแบบใหม่ที่แตกต่างจากอดีตส่วนใหญ่ที่มักเก็บข้อมูลธุรกิจไว้เป็นความลับ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มธุรกิจร่วมทุน คือ ‘คิวบิคพอยท์’ ให้ความสนใจเข้าร่วมลงทุนกับธุรกิจนี้ด้วย จนเกิดเป็นธุรกิจรูปแบบใหม่ของภาคเอกชนนับเป็นครั้งแรกของไทย และยังถือเป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นได้จากการสนับสนุนของโครงการ iTAP ที่ไม่ใช่เรื่องของเงินทุน แต่เป็นการไปช่วยกระตุ้นให้เอกชนทั้งสองฝ่ายได้ร่วมงานกัน และบริหารโครงการจนประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรมได้ในที่สุด

“ การร่วมธุรกิจในลักษณะดังกล่าวของลูกค้าiTAPครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการนำรอ่งให้เกิดขึ้นกับลูกค้าiTAP รายอื่นๆ ที่จะนำความเก่ง ความชำนาญ และเทคโนโลยีของแต่ละแห่งมาสร้างธุรกิจร่วมกันเกิดเป็น “ธุรกิจใหม่” ซึ่งจะนำไปสู่ “Big Impact”ของประเทศชาติต่อไป นี่คือ...สิ่งที่ iTAP ต้องการเห็น คือ การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ ” รองผู้อำนวยการศูนย์ TMC กล่าว

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โครงการ iTAP

โทร.02-270-1350-4 ต่อ 114 , 115

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ