นางทรงศิริ นิลจุลกะ กรรมการและเลขานุการ โครงการจิตอาสา สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวด้วยความปลื้มใจว่า “รู้สึกดีใจที่เห็นเยาวชนตระหนักถึงผู้อื่น ซึ่งตรงนี้อาจเป็นจุดที่ผู้ใหญ่หลายคนมองข้าม งานจิตอาสาจะสร้างความทรงจำดีๆ ให้กับน้องๆ โดยไม่ต้องใช้เงินทองอะไร เพียงอาศัยความเสียสละที่จะกล้าฝ่าด่านความกลัวของตัวเองออกมาช่วยเหลือเด็กๆ ที่ป่วยอยู่ในโรงพยาบาลเด็ก เชื่อว่าน้องๆ เหล่านี้จะเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในวันหน้าอย่างแน่นอน”
ส่วนปัญหาที่ผู้ปกครองหลายคนวิตก กลัวบุตรหลานหันมาทำกิจกรรมจนทิ้งการเรียน และอาจติดโรคมาจากโรงพยาบาล ทรงศิริ บอกว่า เรื่องนี้สบายใจได้ หายห่วง “งานอาสาในโรงพยาบาลมีประโยชน์หลายอย่าง ทางโรงพยาบาลจะให้แนวคิดแก่น้องๆ เรื่องการเรียนต่อ เพราะเยาวชนที่มาทำกิจกรรมจิตอาสาส่วนใหญ่เรียนอยู่ระดับมัธยมปลาย แล้วในโรงพยาบาลก็มีหลากหลายอาชีพให้ได้เรียนรู้ มาแล้วน้องๆ จะรู้ว่า คุณหมอทำงานหนักแค่ไหน พยาบาลต้องทำอะไรบ้าง แม้แต่งานของเจ้าหน้าที่เอ็กซเรย์ หรืองานธุรการการเงิน น้องๆ ก็สามารถเรียนรู้ทุกอย่างได้ในสถาบันสุขภาพเด็ก ถือเป็นการฝึกงานโดยไม่รู้ตัว แล้วนำความฝันที่อยากประกอบอาชีพต่างๆ มาปรับเข้ากับความจริงที่ได้พบเห็นจากการทำงาน นอกจากนี้ ทางโรงพยาบาลจะปฐมนิเทศน์ให้ความรู้ด้านการสาธารณสุขเบื้องต้นแก่น้องๆ ทุกคน ถ้าน้องๆ หมั่นล้างมือให้สะอาดก็สามารถดูแลป้องกันตัวเองได้ในระดับหนึ่งแล้ว”
ด้านเยาวชนจิตอาสาที่มาร่วมถอดบทเรียนความสำเร็จวันนี้ ไอซ์-น.ส.ณฐพรรณ นิมิตรพรสุโข ร.ร.สามเสนวิทยาลัย บอกว่า จิตอาสาทำให้เด็กเก็บตัวอย่างเธอ มีมนุษยสัมพันธ์กับคนอื่นมากขึ้น “รู้สึกเข้ากับคนอื่นได้ง่าย เมื่อก่อนถ้ามารวมกลุ่มเจอเพื่อนๆ เยอะแบบนี้จะไม่พูดเลย แต่ตอนนี้กล้าพูดกล้าคุย และกล้าแสดงความคิดเห็นมากขึ้น”
ขวัญ-น.ส.ธนภรณ์ สาลีผล ม. 4 ร.ร.สาธิตมศว. ประสานมิตร เผยความในใจหลังมีโอกาสทำงานจิตอาสาในโรงพยาบาลว่า “ครั้งแรกที่ได้ไปโรงพยาบาลเด็ก เห็นน้องบางคนลุกขึ้นจากเตียงไม่ได้ บางคนพูดไม่ได้ หลายคนอยู่โรงพยาบาลมาตั้งแต่เกิด ตัวเราเองรู้สึกผิดขึ้นมาทันที คิดว่าวันๆ หนึ่งเราไม่ได้ใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่า ไม่ค่อยตั้งใจเรียน ใช้ชีวิตสนุกสนานมีความสุขเที่ยวเล่นไปวันๆ เห็นอย่างนั้นกลับมาขวัญก็ตั้งใจเรียนมากขึ้น แบ่งเวลามาเยี่ยมน้องๆ ในโรงพยาบาลเด็กบ่อยขึ้นด้วย”
เนย-น.ส.ธันย์ชนก เอี่ยมวิจารณ์ ม. 4 ร.ร.สันติราษฎร์วิทยาลัย บอกว่า จิตอาสาทำให้ “สลัม” ในความคิดของเธอเปลี่ยนไป “เมื่อก่อนถ้าพูดถึงสลัมไม่อยากไปเลย ที่บ้านบอกว่าอันตราย น่ากลัว เสี่ยงเกินไปหรือเปล่าถ้าจะเข้าไปทำกิจกรรมในนั้น คงไม่คุ้มค่ากับเวลาและอาจทำให้เสียการเรียน แต่พอได้ลงไปเห็นพื้นที่จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย สลัมก็เป็นชุมชนๆ หนึ่ง บรรยากาศไม่ได้น่ากลัวอะไร คนที่นั่นดีกับเรา กลับมาก็มาเล่าให้ที่บ้านฟังทำให้ทุกคนมีมุมมองใหม่ว่าสลัมไม่ได้อันตรายหรือน่ากลัวอย่างที่คิด ที่สำคัญพอมาทำกิจกรรมตรงนี้กลับรู้สึกว่า เรามีความรับผิดชอบมากขึ้น รู้จักแบ่งเวลาและตั้งใจเรียนมากขึ้นด้วยซ้ำไป”
ส่วน เชอรี่-น.ส.นริศรา บุญทะวงค์ ม.5 ร.ร.กุนนทีรุทธารามวิทยาคม สาวน้อยคนนี้บอกว่า “เมื่อก่อนไม่เคยคิดว่าตัวเองจะทำประโยชน์ให้คนอื่นได้ มีครั้งหนึ่งเราทำตุ๊กตาจากถุงเท้าให้น้องๆ ในโรงพยาบาลเด็ก ของที่เรามองว่าไม่ได้มีค่าหรือมีราคาอะไรเลยในตอนนั้น แต่พอน้องๆ ได้รับ เขาดีใจมาก ทำให้เราภูมิใจในตัวเอง และเห็นคุณค่าของสิ่งที่อยู่รอบตัวมากขึ้น เป็นคุณค่าที่เกิดจากความรักและความตั้งใจซึ่งผู้รับสามารถสัมผัสได้” เช่นเดียวกับ อ้อ-ด.ญ.เวณิการ์ กรมทะนา โรงเรียนศรีอยุธยาในพระอุปถัมภ์ฯ “จิตอาสาทำให้เรายอมรับความคิดเห็นและยอมรับความแตกต่างของคนอื่น จากเมื่อก่อนกลัวน้องๆ เพราะคิดว่าเขาเป็นโรคร้ายแรง แต่พอได้ไปสัมผัสใกล้ชิดก็เข้าใจ และอยากดูแลพวกเขา”
“เมื่อก่อนแม่ติดเหล้า แล้วเราทำให้เขาเลิกเหล้าได้ เลยเป็นแรงบันดาลใจให้อยากช่วยเหลือคนอื่นให้มีชีวิตที่ดีขึ้นด้วย” สมาย-น.ส.พิมลรัตน์ พงศ์เพชรส ม.5 ร.ร.สตรีวัดอัปสรสวรรค์ กล่าวอย่างมั่นใจ
สาวน้อยอีกคน อุ้ย-น.ส.มัลลิกา คล้ายสมบูรณ์ ม.4 ร.ร.สายน้ำผึ้ง เอ่ยขึ้นสั้นๆ ว่า “พอมาทำงานอาสาในโรงพยาบาลรู้สึกว่าจิตใจอ่อนโยนขึ้น ปรับตัวเข้ากับคนอื่นได้ง่ายขึ้น เห็นได้ชัดว่าสนิทกับน้องของตัวเองมากขึ้น จากเมื่อก่อนชอบดุน้อง ตอนนี้มีเหตุผลและไม่ใช้ความเป็นพี่ว่ากล่าวน้องอย่างไม่มีเหตุผลอีกแล้ว”
ด้าน น.ส.กรวิกา ก้อนแก้ว หัวหน้าโครงการพัฒนาศักยภาพแกนนำเยาวชนจิตอาสาในสถานศึกษา กล่าวถึงการนัดรวมพลเยาวชนจิตอาสาของน้องๆ ครั้งนี้ว่า “เวลาน้องๆ จากต่างโรงเรียนมาพบกัน ได้แลกเปลี่ยนพูดคุยกัน เขาจะมีกำลังใจในการทำความดี อย่างน้อยน้องๆ ก็ได้รู้ว่า ตัวเองไม่โดดเดี่ยว แต่ยังมีเพื่อนๆ อีกมากมายที่กำลังทำสิ่งดีๆ ให้ผู้อื่นเช่นเดียวกับเขา ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นให้น้องๆ ทำความดีต่อไป” กรวิกา ย้ำอีกว่า การพบปะกันแบบนี้จะช่วยสร้างความเข้มแข็งและขยายเครือข่ายเยาวชนจิตอาสาในสถานศึกษาให้พัฒนาและสามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างยั่งยืน