สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK park) สถาบันการ์ตูนไทย มูลนิธิเด็ก โครงการสำรวจ ศึกษาและดำเนินงานแผนงานเสริมสร้างวัฒนธรรมการอ่าน สสย.-สสส. และแผนปฏิบัติการส่งเสริมการอ่านเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ได้จัดสัมมนา “พัฒนาการ์ตูน พัฒนาการะบวนการเรียนรู้สู่วาระการอ่านแห่งชาติ” ขึ้น เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2552 ณ ศูนย์พัฒนาทุนมนุษย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต หลังจากประสบผลสำเร็จจากการจัดค่ายทีเคการ์ตูนนิสต์ : หลักสูตรการ์ตูนสร้างชาติ ไปเมื่อวันที่ 19-29 ตุลาคม ที่ผ่านมา โดยงานนี้เป็นการระดมความคิดเห็นจากครู อาจารย์ นักการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบ และเยาวชนผู้ผ่านการเข้าค่ายทดลองหลักสูตรนับรวมกว่า 40 ชีวิต มารวมตัวกันเป็นครั้งแรกเพื่อหาความเป็นไปได้ที่จะนำการ์ตูนเข้าไปสู่หลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียน และมหาวิทยาลัย รศ.ถิรนันท์ อนวัชศิริวงศ์ อาจารย์สาขาวิชาสื่อสารการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดการสัมมนาด้วยการนำเสนองานค้นคว้าวิจัยที่กำลังตีพิมพ์ชื่อ “การ์ตูน : มหัศจรรย์แห่งการพัฒนาสมองและการอ่าน” เพื่อชี้ให้เห็นคุณค่าของสื่อการ์ตูน
“ความเชื่อที่ว่าอ่านการ์ตูนแล้วจะคิดไม่เป็นไม่เป็นความจริง เพราะงานวิจัยระบุชัดว่าเด็กที่อ่านนิทานและการ์ตูน จะพัฒนาความคิดเชิงเหตุผลได้มากกว่าเด็กที่อ่านหนังสือเรียนเพียงอย่างเดียว”
รศ.ถิรนันท์กล่าวต่อว่า การ์ตูนสามารถยกร่างเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนได้ แต่ควรแยกกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน โดยในระดับประถมศึกษาควรนำการ์ตูนไปใช้เพื่อช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ หรือเป็นเครื่องมือเพื่อให้เด็กสนใจความรู้ในหนังสือเรียน ส่วนระดับมัธยม อาจมีการจัดทำเป็นวิชาเลือกในหมวดวิชาศิลปะ หรืออาจจัดอบรมเป็นคอร์สระยะสั้นให้กับเด็กที่สนใจ และระดับอุดมศึกษาก็จัดทำเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อผลิตนักการ์ตูนอาชีพในคณะที่เปิดสอนด้านศิลปะและการออกแบบ
ด้าน ผศ.ดร. ผดุง พรมมูล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายโครงการพิเศษมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตก็เห็นด้วยว่าการ์ตูนสามารถเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนในระบบได้ โดยเสนอว่าในระดับประถม อาจเป็นวิชาเลือกให้เด็กเลือก และไม่จำเป็นต้องใช้ครูผู้สอนที่เชี่ยวชาญด้านการเขียนการ์ตูน เพราะประเด็นสำคัญของการ์ตูนคือการนำเสนอภาพที่ไม่เหมือนจริงหรือ “ภาพโย้” ดังนั้นหัวใจของการจัดการเรียนการสอนวิชาการ์ตูนจึงควรเปิดโอกาสให้เด็กวาดภาพออกมาอย่างเสรี โดยมองว่าการ์ตูนคือภาษาภาพ ที่เป็นภาษาสากลในการสื่อสาร ดังนั้นเด็กก็แค่เพียงวาดภาพออกมาให้ผู้อื่นรับรู้ว่ากำลังคิดอะไรอยู่ก็เพียงพอแล้ว
ขณะที่ ดร.เฉลิมชัย พันธ์เลิศ นักวิชาการศึกษา สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ก็มองว่าการจะนำหลักสูตรระยะสั้นจากค่ายการ์ตูนทีเคปาร์คมาปรับให้เป็นหลักสูตรการ์ตูนได้อย่างยั่งยืนนั้นอาจเป็นเรื่องที่ใช้เวลาเพราะต้องตอบคำถามให้ได้ว่า คุณค่าของการ์ตูนอยู่ที่ไหน และเนื้อหาสาระของการ์ตูนคืออะไร แต่ในเบื้องต้นที่สามารถลงมือทำได้นั้นคือการถอดองค์ความรู้ที่ได้จากค่ายการ์ตูนออกมาให้เป็นรูปธรรม เพื่อให้โรงเรียนเห็นลักษณะการจัดกิจกรรมที่เป็นต้นแบบ เพื่อนำไปใช้เป็นหลักสูตรในการจัดกิจกรรมให้นักเรียนได้ 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรืออาจนำไปสู่การจัดกิจกรรมของชมรมการ์ตูนในโรงเรียนก็ได้เช่นกัน
ด้านปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล ก็เสนอว่าหากการ์ตูนจะกลายเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนนั้นควรมีพันธกิจที่ชัดเจนสามประการ คือ พันธกิจการสอนให้เด็กจดจำความรู้ได้ เหมือนเช่นการ์ตูนความรู้ พันธกิจการกระตุ้นการเรียนรู้ของเด็ก และพันธกิจในการกระตุ้นความกระหายใครรู้ให้เด็กสนุกสนานพอจะค้นหาความรู้ใหม่ๆ ต่อไป นอกจากนี้ยังเสนอถึงเนื้อหาของการ์ตูนที่ดีด้วยว่าควรมีสามองค์ประกอบด้วยกัน คือ เนื้อหาที่ดี เทคนิคการนำเสนอที่ดี และมีความคิดสร้างสรรค์
หลังเสร็จสิ้นการระดมความคิดเห็นในวันนี้ ทางทีเค ปาร์ค และสถาบันการ์ตูนไทย มูลนิธิเด็ก จะประมวลความคิดเห็นต่างๆ และถอดองค์ความรู้จากค่ายการ์ตูน ทีเค การ์ตูนิสต์เพื่อรวบรวมเป็นข้อมูล “หลักสูตรการ์ตูน” เล่มแรกของไทยที่พร้อมส่งต่อให้สถาบันการศึกษา และองค์กรที่ต้องการนำสื่อการ์ตูนไปใช้จัดกิจกรรม และการเรียนการสอนต่อไป
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02 881 1734 ctt