ผศ.ดร. ทวีศักดิ์ แตะกระโทก คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร นักวิชาการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.)และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า รายงานขององค์การอนามัยโลกระบุว่าในปี 2552 ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนไปแล้วกว่า 1.3 ล้านคน ร้อยละ 90 เกิดในประเทศยากจน องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่าในอีก 10 ข้างหน้า จะมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นถึง 20 ล้านคน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงความสูญเสียที่คนทั้งโลกกำลังเผชิญและจะทวีความรุนแรงมากขึ้นหากยังไม่เร่งหาทางป้องกัน ดังนั้นในการประชุมผู้บริหารระดับสูงขององค์การสหประชาชาติด้านความปลอดภัยทางถนน (UN Ministerial Conference on Road Safety) ณ กรุงมอสโคว ประเทศรัสเซีย โดยมีรัฐมนตรี ตัวแทนผู้บริหารระดับสูงจาก 140 ประเทศ เมื่อช่วงกลางเดือน พฤศจิกายน 2552 ที่ผ่านมา ได้มีการประกาศร่วมกันว่าจะยกระดับความปลอดภัยทางถนนให้เป็นวาระที่สำคัญระดับโลกไม่แพ้ปัญหาโลกร้อน ปัญหาพลังงาน ปัญหาไข้หวัด 2009 และโรคอุบัติใหม่ มีเป้าหมายลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบุติเหตุลงครึ่งหนึ่งใน 10 ปีข้างหน้า
ผศ.ดร.ทวีศักดิ์ กล่าวว่า การประชุมดังกล่าวไทยได้เสนอรายงานสถานการณ์อุบัติเหตุในประเทศว่า การบังคับใช้บังคับใช้กฎหมายด้านการจราจร ของไทยยังไม่ได้ผล เนื่องจากงบประมาณที่ใช้ดำเนินการมีจำกัดเพียง 300 ล้านบาทต่อปี แต่เจ้าหน้าที่มีน้อย ต้องทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ดูแลภารกิจทั้งในด้านการจัดการจราจร และความปลอดภัยทางถนนทั้งประเทศ ขณะที่การเติบโตอย่างรวดเร็วทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพการจราจรและพื้นที่สองข้างทางของถนนอย่างรวดเร็ว ปริมาณรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก ทำให้การขับขี่ยากมากขึ้น ขณะที่ตัวถนนเองพบว่ายังมีหลายแห่ง ไม่ได้มาตรฐาน เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ และจำเป็นจะต้องได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที เพราะการแก้ปัญหาบริเวณจุดเสี่ยงสามารถลดการเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตได้
ผศ. ดร. ทวีศักดิ์ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาจะต้องให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ ด้วยการรณรงค์อย่างจริงจังเพื่อสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย (Safety Culture) จิตสำนึกความปลอดภัย (Safety Conscious) และสังคมแห่งความห่วงใย (Caring Society) ผลักดันให้เข้าไปสู่ระดับโรงเรียน สถาบันการศึกษา และชุมชน เพื่อให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม และที่รัฐบาลจะต้องหาเจ้าภาพที่รับผิดชอบเรื่องนี้และสนับสนุนงบประมาณต่อเนื่องอย่างจริงจังและชัดเจน
ด้านท่านลอร์ดโรเบิร์ตสัน (Lord Robertson) ประธานโครงการรณรงค์เพื่อถนนที่ปลอดภัย (Make Road Safe Campaign) กล่าวว่า ในประเทศที่ยากจนมีการตัดถนนขนาดใหญ่ผ่านเข้าไปในชุมชนทำให้ในแต่ละปีมีคนในชุมชนเสียชีวิตจากการถูกรถชนเป็นจำนวนมาก ลองคิดถึงเด็กอายุ 7 ขวบที่ต้องเดินข้ามถนนหกช่องจราจรทุกวันเพื่อไปโรงเรียนโดยไม่ทราบชะตากรรมของตนเองในแต่ละวัน ดังนั้นทุกประเทศจำเป็นต้องกำหนดทิศทางใหม่ในการพัฒนาถนนที่ปลอดภัย ด้วยการออกแบบถนนที่ดีขึ้น ควบคุมความเร็วที่เหมาะสม และรณรงค์ให้คนหันมาสนใจการป้องกันตนเองด้วยการสวมหมวกนิรภัย คาดเข็มขัดนิรภัยขึ้น ขณะที่เจ้าหน้าที่ก็ต้องบังคับใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
เนาวรัตน์(เล็ก) ชุมยวง
www.thainhf.org
02 511-4963 ต่อ22